สธ.เปิดข้อมูลใน 'สถานที่กักกันโควิด19'

สธ.เปิดข้อมูลใน 'สถานที่กักกันโควิด19'

สธ.เปิดข้อมูลสถานที่กักกันโควิด19 คนเดินทางเข้าพักกว่า 2.56 แสน พบติดเชื้อ 2,262 ราย คิดเป็น 0.88% สัญชาติไทยมากที่สุด ประเทศต้นทางที่พบมาก อเมริกา-อินเดีย ไทยฉีดวัคซีนทะลุกว่า 3 หมื่นราย มีอาการข้างเคียง 8.8 % ภาพรวมยังปลอดภัย

เวลา 15.00 น.วันที่ 10 มี.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในประเทศไทยและผลการดำเนินงานการฉีดวัคซีนโควิด 19ว่า สถานการณ์โรคโควิด19 ในสถานที่กักกันที่ราชการกำหนดตั้งแต่เริ่มดำเนินจนถึงวันที่ 10 มี.ค.2564 จำนวนผู้ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย 256,705 คน จาก 99 ประเทศ โดยพบการติดเชื้อ 2,262 ราย จาก 85 ประเทศ อัตราป่วยคิดเป็น 0.88 %

โดย 20 อันดับสัญชาติที่พบมากที่สุด คือ สัญชาติไทย 1,582 ราย อินเดีย 91 ราย อเมริกา 73 ราย อังกฤษ 58 ราย รัสเซีย 41 ราย ฝรั่งเศส 32 ราย เยอรมนี 26 ราย ปากีสถาน 24 ราย สวิตเซอร์แลนด์ 21 ราย คูเวต 20 ราย ญี่ปุ่น 17 ราย อิตาลี 13 ราย เอธิโอเปีย 12 ราย เนเธอร์แลนด์ 12 ราย สวีเดน 12 ราย ซูดาน 11 ราย แคนาดา 11 ราย บังคลาเทศ 11 ราย ไนจีเรีย 10 ราย อียิปต์ 7 ราย และสัญชาติอื่นๆ 178 ราย

เมื่อแยกการพบผู้ติดเชื้อตามประเภทสถานที่กักกัน พบว่า 1.สถานที่กักกันที่รัฐจัดให้(SQ) เข้าพัก 116,501 คน ติดเชื้อ 1,208 ราย อัตราการติดเชื้อ 1.04 % เป็นคนไทยทั้งหมด ประเทศต้นทางที่พบมาก คือ อเมริกา และอินเดีย

2.สถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ในพื้นที่(LQ) เข้าพัก 40,130คน ติดเชื้อ 189 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.47 % คนไทย 184 รายประเทศต้นทางทางที่พบมาก คือ เมียนมา อินโดนีเซีย ซาอุดิอาระเบีย ต่างชาติ 5 รายประเทศต้นทางทางที่พบมาก คือ เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม
3.สถานที่กักกันทางเลือก(ASQ) เข้าพัก 90,253 คน ติดเชื้อ 732 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.81 % คนไทย 165 รายประเทศต้นทางทางที่พบมาก คือ อังกฤษ ยูเออี บราซิล ฮ่องกง อเมริกา ต่างชาติ 567 รายประเทศต้นทางทางที่พบมาก คือ อินเดีย อเมริกา อังกฤษ
4.สถานที่กักกันทางเลือกในพื้นที่(ALQ) เข้าพัก 750 คน ติดเชื้อ 46 ราย อัตราการติดเชื้อ 6.13 % คนไทย 16 รายประเทศต้นทางทางที่พบมาก คือ มาเลเซีย อเมริกา อังกฤษ สิงคโปร์ ต่างชาติ 30 รายประเทศต้นทางทางที่พบมาก คือ สวิตเซอร์แลนด์ เซอร์เบีย อินเดีย เนเธอร์แลนด์
5.สถานที่กักกันในสถานพยาบาล(AHQ/HQ) เข้าพัก 4,220 คน ติดเชื้อ 65 ราย อัตราการติดเชื้อ1.54 % คนไทย 7รายประเทศต้นทางทางที่พบมาก คือ ซาอุดิอาระเบีย อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ อเมริกาต่างชาติ 58รายประเทศต้นทางทางที่พบมาก คือ เอธิโอเปีย คูเวต โอมาน
และ6.สถานที่กักกันโดยองค์กร(OQ) เข้าพัก 4,851 คน ติดเชื้อ 20 ราย อัตราการติดเชื้อ 0.41 % คนไทย รายประเทศต้นทางทางที่พบมาก คือ สวีเดน ต่างชาติ18 รายประเทศต้นทางทางที่พบมาก คือ เนปาล และอินเดีย อย่างไรก็ตาม การเจอผู้ติดเชื้อในสถานที่กักันนี้ไม่น่าตกใจ เพราะเป็นการเจอผุ้ป่วยในพื้นที่มีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลไม่ได้ไปสัมผัสผู้อื่น เมื่อเจอติดเชื้อก็เข้าสู่การดูแลรักษาตามที่ประเทศไทยกำหนด

ปราจีนฯโล่ง1,400 คนไม่พบเชื้อ
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีความคืบหน้าการสอบสวนโรค กรณีคู่สามีภรรยา ขายอาหารในโรงงานแห่งหนึ่งใน จ.ปราจีนบูรีที่ติดโควิด19 และตรวจพบลูกจ้างติดเชื้อต่ออีก 3 คน และมีการค้นหาเชิงรุกในโรงงาน จำนวน 1,428 คน เมื่อวันที่ 8 มี.ค. ผลคือไม่พบเชื้อทั้งหมด และกรณีที่จ.ตาก มีการคัดกรองแรงงานต่างด้าวที่มาขึ้นทะเบียนรายใหม่จำนวน 3,763 ราย พบติดเชื้อ 6 ราย ไม่พบเชื้อ 3,427 ราย และอยู่ระหว่างรอผล 724 ราย แสดงให้เห็นว่าการทำงานในพื้นที่ยังคงเข้มข้นต่อเนื่อง ในการเฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้อ
 ฉีดวัคซีนในไทยยังปลอดภัย
นพ.เฉวตสรร กล่าวดด้วยว่า ส่วนการดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด19 ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- 9มี.ค.2564 จำนวนผู้ได้รับวัคซีนสะสม 33,621 ราย แยกเป็น บุคลากรทางการแพทย์/สาธารณสุข รวมอสม. 85 % เจ้าหน้าที่อื่นๆที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 13 % บุคคลที่มีโรคประจำตัว 1 % และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 1 % ผลการเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนโควิด19หรืออาการข้างเคียง จำนวน 2,984 ราย คิดเป็น 8.8 % ส่วนใหญ่เป็นอาการที่หายได้เอง ไม่ต้องนอนรักษาในรพ. ซึ่งหากเทียบกับการศึกษาวัคซีนในคนระยะที่ 2ในต่างประเทศ อาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีรายงานจะสูงถึง 30 % เพราะฉะนั้น การฉีดวัคซีนในประเทศไทยขณะนี้ ยังมีความปลอดภัยดี
 ฮูยังเน้นสวมหน้ากากหลังรับวัคซีน 
ต่อข้อถามกรณีที่ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา หรือซีดีซีระบุว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วไม่ต้องสวมหน้ากาก นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า ระดับนโยบายแต่ละประเทศจะมีหลักฐานสนับสนุนและแนวทางงปฏิบัติแตกต่างกัน ซึ่งการที่ระบุว่าคนที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วไม่ต้องสวมหน้ากากนั้น ยังมีข้อด้อยคือไม่รู้ว่าใครที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วหรือไม่ ดังนั้น ในประเทศส่วนใหญ่ยังควงระมัดระวังเรื่องนี้ อีกทั้ง องค์การอนามัยโลกหรือฮูเน้นย้ำว่าแม้ได้วัคซีนแล้วต้องใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือต่อเนื่องต่อไป เพราะการฉีดวัคซีนจะต้องกว้างขวางจนได้เปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้น ที่สำคัญธรรมชาติโรคนี้มีโอกาสแพร่ได้ตั้งแต่ไม่มีอาการ และผลของวัคซีนส่วนใหญ่จะเป็นการป้องกันการเสียชีวิตและป้องกันการป่วยหนัก
 ติดตามหลังฉีดวัคซีน 1 ปี
“ส่วนการป้องกันการติดเชื้อนั้นต้องดูหลังฉีดแล้วอีกระยะหนึ่ง รวมถึง เมื่อฉีดแล้วป้องกันการแพร่เชื้อให้บุคคลอื่นได้เท่าไหร่ ซึ่งต้องติดตามหลังฉีดวัคซีนกว้างขวางแล้วอย่างน้อย 1 ปี ดังนั้น ประเทศไทยใช้วิถีปฏิบัติที่ระมัดระวังเหมือนประเทศต่างๆส่วนใหญ่ ที่เห็นว่าวัคซีนเป็นมาตรการเสริม ประชาชนยังการ์ดตกไม่ได้”นพ.เฉวตสรรกล่าว