สินเชื่อรายเล็ก “NCAP” ราคาพุ่งแรงรอลุ้นรุกตลาดใหม่

 สินเชื่อรายเล็ก “NCAP”   ราคาพุ่งแรงรอลุ้นรุกตลาดใหม่

ธุรกิจหนี้กำลังกลับมาฟื้นตัวตามคาดคาดหวังเศรษฐกิจจะดีหลังมีวัคซีนแจกจ่ายในประเทศ ซึ่งทำให้หุ้นในกลุ่มไฟแนนซ์ราคาปรับตัวขึ้นกันเป็นว่าเล่น ซึ่งหุ้นเล็กแต่ราคาร้อนแรงต่อเนื่อง บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCAP ยังมีอะไรที่น่าสนใจนอกจากราคา

บริษัทดังกล่าวถือว่าเป็นหุ้นไอพีโอป้ายแดงที่พึ่งเข้าตลาดหุ้นไทยเมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2563 ที่ราคาหุ้นละ 2.20 บาท โดยระยะเวลา 4 เดือนราคาหุ้นกลับไม่ธรรมดา เพราะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำนิวไฮรายเดือน จนราคาวานนี้ (9 มี.ค.) มาปิดที่ 10.80บาท ทำราคาสูงสุดระหว่างที่ 11.90 บาท เท่ากับเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นจากราคาไอพีโอ 436 %

การเข้าตลาดหุ้นในช่วงดังกล่าวไม่ได้มีกระแสร้อนแรงเพราะเป็นการเสนอขายหุ้นในสัดส่วนที่น้อย 300 ล้านหุ้น ที่ราคาพาร์ 0.5 บาท ซึ่งผู้ถือหุ้นรายใหญ่ยังคงสัดส่วนถือครองหุ้นจำนวนมาก ทั้งบริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน)หรือ COM7 จาก 40.00% เหลือ26.70%เท่ากับบริษัท ซินเน็ค (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SYNE จาก40.00%เหลือ 26.70%

ประเด็นโครงสร้างผู้ถือหุ้นถือว่าจุดที่สร้างกระแสให้กับหุ้นไม่น้อย เนื่องจากทาง COM7 มีการทยอยซื้อหุ้นในตลาดเพิ่มจนขึ้นมามีสัดส่วนถือหุ้น 33 % และยังต้องการซื้อเพิ่มอีก ส่วน SYNEX ยังคงสัดส่วนเดิม

รวมทั้งพอร์ตสินเชื่อที่ดำเนินธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อจักรยานยนต์มีทั้งกลุ่มรถจักรยานยนต์ใหม่ ซึ่งครอบคลุมขนาดรถเล็กไปจนใหญ่ หรือ บิ๊กไบค์ และ มือสอง จากการนำรถจักรยานยนต์ประมูลขายทอดตลาดเพื่อนำรถที่ประมูลได้ไปจำหน่ายต่อ ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ 99 % เป็นรายย่อยและมีสาขาประมาณ 24 สาขา มีจุดแข็งที่พื้นที่ภาคใต้ที่เน้นกลุ่มลูค้าเกษตรกร ชาวสวนยางพารา และการท่องเที่ยวเป็นหลัก

เม็ดเงินส่วนใหญ่นำมาการขยายสาขาไปยังต่างจังหวัด และการเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจกับร้านค้าและตัวแทนจำหน่าย ซึ่งธุรกิจดังกล่าวถือว่ามีคู่แข่งในตลาดและนอกตลาดค่อนข้างมาก เช่น บริษัท ฐิติกร จำกัด (มหาชน) หรือ TK ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และธุรกิจให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ หรือรายใหญ่ในสินเชื่อเงินสด บริษัทเมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เตรียมขยายพอร์ตมายังตลาดดังกล่าวในปีนี้ด้วยการตั้งเป้า 10,000 ล้านบาทต่อเดือน

ดังนั้นธุรกิจดังกล่าวและ NCAP ถือว่าอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันที่สูง แต่การเข้าสู่ตลาดหุ้นทำให้เพิ่มเงินทุนในมือและยังลดต้นทุนการเงินได้ส่วนหนึ่งเพื่อนำมาปล่อนสินเชื่อ จากปี 2563 จากตัวเลขกำไร 201 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59 % จากรายได้ค่าธรรมเนียม และค่าบริการเติบโต มีรายได้ค่าติดตามทวงถามหนี้และรายได้อื่น ที่มีหนี้สูญที่รับคืนจากการติดตามทวงถามหนี้ได้ เพิ่มขึ้น และมีเอ็นพีแอลในระดับที่ต่ำ 1.69 %

รวมทั้งยังสามารถหลุดจากคดีจากการยกฟ้องของศาลแรงงานกลาง หลังอดีตพนักงานฟ้องร้องค่าชดเชย ค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 500 ล้านบาท

ดังนั้นทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นทันทีแม้ NCAP จะยังอยู่ในช่วงมาตรการ Cash Balance ในช่วงวันที่ 8 ก.พ. – 19 มี.ค. ก็ตาม ซึ่งในปี 2564 เริ่มมีการจับตามองว่าธุรกิจให้สินเชื่อจะมีการไขว้ผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่ต้องการให้ NCAP เข้ามาปล่อนสินเชื่อให้กับสินค้าไอทีที่ดำเนินการอยู่ทั้ง 2 บริษัท จนทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมารอปัจจัยดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทยังไม่มีการออกมายืนยันถึงประเด็นดังกล่าวทำให้มีโอกาสสูงที่อาจจะไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ รวมไปถึงราคาหุ้นที่ยังไม่มีโบรกไหนออกมาประเมินหลังราคาหุ้นมาไกลกว่าราคาเป้าหมายก่อนเข้าตลาดหุ้นมองไว้ 2.70 บาท