'วัดเอี่ยมวรนุช' ประวัติและตำนาน ในวันที่อาจต้องเปลี่ยนแปลง

'วัดเอี่ยมวรนุช' ประวัติและตำนาน ในวันที่อาจต้องเปลี่ยนแปลง

พลันเกิดกระแสต่อต้าน เหตุ "วัดเอี่ยมวรนุช" กำลังจะถูกเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง สถานีบางขุนพรหม ประวัติและตำนาน ในวันที่อาจต้องเปลี่ยนแปลง

กระแสทุบ "วัดเอี่ยมวรนุช" เพื่อสร้างรถไฟฟ้ายังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม สิ่งสำคัญประการหนึ่ง คือความสำคัญ ประวัติความเป็นมา และความเป็นศูนย์รวมที่พึ่งทางใจของวัดนี้ ต่อผู้คนในย่านบางขุนพรหม-บางลำพู ที่อยู่เคียงคู่ผู้คนในย่านนี้มายาวนาน

  • กระแสต้าน หลังเวนคืนที่ดิน "วัดเอี่ยมวรนุช" วัดเก่าแก่อายุมากกว่า 200 ปี เพื่อสร้างรถไฟฟ้า

เกิดเป็นกระแสต่อต้านจากคนในชุมชน และผู้ที่ติดตามข่าวคราว ภายหลังจาก แฟนเพจเฟซบุ๊ก วัดเอี่ยมวรนุช เผยแพร่รูปและข้อความ ระบุว่า วัดกำลังจะถูกเวนคืนที่ดิน เพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วง สถานีบางขุนพรหม ทั้งที่วัดมีที่ดินอยู่ประมาณ 2 ไร่ 2 งานเท่านั้น แต่กลับถูกเวนคืนขยับพื้นที่เข้ามาเรื่อย ๆ

161491823042

161491825295

161491827284

วัดเอี่ยมวรนุช ได้โพสต์ภาพและข้อความ ว่า วัดโดนเวนคืนที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างเพื่อสร้างรถไฟฟ้า ปัจจุบัน วัดเอี่ยมเนื้อที่เล็กมากเพียง 2 ไร่กว่า แทบไม่มีพื้นที่จัดกิจกรรม ต้องโดนเฉือนออกไป ตั้งแต่กำแพงวัด ซุ้มประตู ศาลา ทั้ง 2 หลังด้านหน้าวัด เจดีย์ขาว อายุเกือบร้อยปี และวิหารหลวงปู่ทวด

รวมถึงผลประโยชน์ของวัด ที่เป็นร้านอาหารข้างๆ และลานหน้าวัด ทำให้เจ้าอาวาสรู้สึกช็อค เพราะตอนที่มาคุยตอนแรก ไม่เป็นเช่นนี้
วัดยังได้โพสต์ข้อความด้วยว่า ” เศร้าสลด..หดหู่…ปิดตำนาน วิหารหลวงปู่ทวดและโบราณสถานของวัดเอี่ยมฯ 237 ปีแลกกับสถานีรถไฟฟ้าบางขุนพรหม เมื่อรถไฟฟ้ามา วัดวาก็ถูกทุบทำลาย “

ทางวัดเปิดเผยด้วยว่า ที่ผ่านมา ทางวัดได้ยื่นหนังสือคัดค้านการเวนคืน ไปยัง รฟม.แล้ว และในวันที่ 5 มี.ค. 2564 จะไปยื่นหนังสือกับสำนักพระพุทธศาสนา เพื่อขอความช่วยเหลือ โดยไม่ใช่เพียงวัด และสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่ บ้านเรือนและร้านค้าชาวบ้านก็ถูกเวนคืนด้วย
ทั้งนี้ ครม.อนุมัติร่างระเบียบการเวนคืนที่ดิน เพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ซึ่ง รฟม.สำรวจเวนคืนที่ดินไปแล้ว กว่า 102 ไร่ รวม 410 แปลง และบ้านอีก 264 หลัง ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้าง ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 6 ปี

ด้าน นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ใช้เฟซบุ๊ก Sorapong Paitoonphong เข้ามาคอมเมนต์ในเพจของวัด ระบุว่า "ผมได้ตรวจสอบจาก รฟม. แล้วว่า พื้นที่ก่อสร้างจะไม่กระทบวิหารหลวงปู่ทวด ครับ และ กระทรวงคมนาคมจะได้มอบหมายให้ รฟม. ลดผลกระทบให้มากที่สุดครับ"

  • เปิดประวัติ วัดเอี่ยมวรนุช ศูนย์รวมจิตใจผู้คนหลากหลายความเชื่อ

อย่างไรก็ดี กระแสการทุบวัดเอี่ยมวรนุชเพื่อสร้างรถไฟฟ้ายังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป สิ่งสำคัญประการหนึ่งไม่ควรมองข้ามคือ ความสำคัญ ประวัติความเป็นมา และความเป็นศูนย์รวมที่พึ่งทางใจของวัดนี้ ต่อผู้คนในย่านบางขุนพรหม-บางลำพู ที่อยู่เคียงคู่ผู้คนในย่านนี้มายาวนาน


ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ระบุว่า วัดเอี่ยมวรนุชตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2327 เดิมชื่อ วัดท้องคุ้ง ต่อมาปลัดนุชดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดปลัดนุช ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยายเอี่ยมได้สร้างพระอุโบสถ พระองค์จึงมีดำรัสว่าควรมีชื่อผู้สร้างร่วมอยู่ในวัดนี้ด้วย วัดนี้จึงมีชื่อว่า "วัดเอี่ยมวรนุช" นับแต่บัดนั้น วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2490

161491831865

  • อาคารเสนาสนะและปูชนียวัตถุ

ด้านหน้าพระอุโบสถประดิษฐาน หลวงพ่อพระบางประสิทธิโชค หรือ พระอีบาง แต่เดิมนั้นประดิษฐานอยู่ทางภาคอีสานของไทย ภายในพระอุโบสถมีพระประธานประดิษฐานอยู่ มีพระอัครสาวกซ้ายขวา และด้านหน้าประดิษฐาน หลวงพ่อสารพัดช่าง เป็นองค์รองประธาน ด้านขวาของพระอุโบสถมีพระสีวลี วิหารเจ้าแม่กวนอิมเป็นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย เช่น พระโพธิสัตว์กวนอิม ประดิษฐานอยู่ตรงกลางวิหาร ด้านหลังมีพระพุทธรูปหลายองค์ ส่วนด้านซ้ายประดิษฐาน พระศรีอริยเมตไตรย และ พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต อีกมุมหนึ่งของวัดมีพุทธเจดีย์ปรินิพพานหรือเจดีย์ถวายพระเพลิงพระศาสดา ลักษณะเป็นมณฑปเล็ก ๆ สีขาว ภายในประดิษฐานพระเจ้าเข้านิพพาน วัดมีวิหารหลวงปู่ทวด ซึ่งภายในประดิษฐาน หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด นอกจากนี้ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่โดยรอบวัด
161491882941

161491884451

161491886517

ศูนย์รวมจิตใจ หลากหลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์

สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกสร้างเป็นโบราณสถานในวัดเอี่ยมวรนุชมีมากมาย ที่โดดเด่น อาทิ

  • “หลวงพ่อพระบางประสิทธิโชค” หรือ “พระอีบาง” เดิมนั้นประดิษฐานอยู่ทางภาคอีสานของไทย แต่ก็มีความเชื่อกันว่าหากพระอีบางประดิษฐานอยู่ที่ไหน ที่นั่นจะแห้งแล้ง จึงมีการอัญเชิญพระอีบางมาประดิษฐานไว้ที่กรุงเทพฯ ประกอบกับในช่วงนั้นกรุงเทพฯ เองมีปัญหาฝนตกหนักน้ำท่วมขัง ก็เชื่อกันว่าพระอีบางจะมาช่วยแก้ปัญหานี้
  • "เจดีย์ถวายพระเพลิงพระศาสดา"
  • “พระสีวลี”ประดิษฐานอยู่ทางขวาของพระอุโบสถ (หันหน้าออกจากพระอุโบสถ) โดยคนที่มากราบสักการะพระสีวลีมีความเชื่อกันว่า จะได้รับโชคลาภ เนื่องจากพระสีวลีนั้นเป็นพระอรหันต์ที่ได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ให้เป็นเอตทัคคะผู้เลิศในทางผู้มีลาภมากนั่นเอง
    วิหารหลวงปู่ทวด ซึ่งภายในประดิษฐาน“หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด” อันเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป วิหารหลวงปู่ทวดนี้เปิดทุกวัน ใครผ่านไปผ่านมาก็สามารถแวะเข้ามากราบไหว้เพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวเองได้
  • “พระโพธิสัตว์กวนอิม” ประดิษฐานอยู่ตรงกลางวิหาร ด้านหลังมีพระพุทธรูปหลายองค์
  • “พระศรีอริยเมตไตรย”, “พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต”
  • "หลวงปู่ทวดเหยียบน้ำทะเลจืด" ประดิษฐานภายในวิหารหลวงปู่ทวด
  • “พุทธเจดีย์ปรินิพพาน” หรือเจดีย์ถวายพระเพลิงพระศาสดา ลักษณะเป็นมณฑปเล็กๆ สีขาว ภายในประดิษฐานพระเจ้าเข้านิพพาน ซึ่งเจดีย์ลักษณะนี้ ไม่มีให้เห็นสักเท่าไรนักที่วัดอื่นๆ
  • “พระพรหม” เทพเจ้าสูงสุดตามคติในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู, “พระพิฆเนศ” เทพเจ้าแห่งความรู้ ผู้มีปัญญาเป็นเลิศ
  • “หลวงปู่ชีวกโกมารภัจจ์” บรมครูแห่งการแพทย์แผนโบราณ

161491889079

161491890325

161491891580

161491894132

161491896250

161491897927

‘ศรีสุวรรณ’ ยัน วัดเอี่ยมฯ มี พ.ร.บ.โบราณสถานฯ คุ้มครอง

ล่าสุด 5 มีนาคม 2564 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เผยว่า วัดเอียมวรนุชถือว่าเป็นโบราณสถาน มี พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ 2504 และที่แก้ไขเพิ่มเติม 2535 คุ้มครองอยู่ตาม ม.7 ทวิ ที่ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร ภายในเขตของโบราณสถาน ซึ่งอธิบดีได้ประกาศขึ้นทะเบียนฯ ซึ่ง รฟม. มีทางเดียวคือ ต้องกลับไปทบทวนหาสถานที่ใหม่ในการสร้างสถานีรถไฟฟ้า

การที่รัฐเวนคืนที่ดินบริเวณดังกล่าวมาเพื่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ดังกล่าว เป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.บ.เวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ 2562 เนื่องจากกฎหมายดังกล่าว อนุญาตให้รัฐใช้อำนาจเวนคืนแต่เฉพาะที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่มิใช่ของรัฐเท่านั้น หากแต่วัดเอี่ยมวรนุช เป็นที่ธรณีสงฆ์ เป็นศาสนสถาน ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบ พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2562 จึงถือว่าเป็นที่ดินของรัฐโดยปริยาย

อีกทั้งการใช้อำนาจรัฐดังกล่าว ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27(1) ที่กำหนดหน้าที่ของรัฐต้องอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีอันดีของชาติเท่านั้น ซึ่งวัดเอียมวรนุชมีประวัติที่มาของวัดอย่างยาวนาน เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวพุทธทั้งประเทศ โดยเฉพาะมีรูปปั้นบูชาของหลวงปู่ทวด ที่คนไทยทั้งประเทศเคารพบูชา การที่ รฟม.จะเข้ามารื้อถอน ทำลายพื้นที่บางส่วนไปทำสถานีรถไฟฟ้า จึงถือได้ว่าเป็นการลบหรู่ความเชื่อทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรม โดยไม่ตรึกตรองและฟังความรอบด้าน ย่อมนำมาซึ่งหายนะที่ไม่อาจเรียกคืนมาได้

ดังนั้น หาก รฟม.ยังกล้าที่จะเดินหน้าใช้พื้นที่วัดเอี่ยมวรนุชมาสร้างสถานีขึ้น-ลงรถไฟฟ้า โดยทำลายแหล่งโบราณสถานของชาติดังกล่าวแล้วไซร้ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจะร่วมกับพี่น้องชาวพุทธทั่วประเทศ นำความขึ้นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนการใช้อำนาจของ รฟม. ดังกล่าวต่อไปทันที

  • ล่าสุด รฟม.ยืนยัน ไม่เวนคืนวิหารและเจดีย์วัดเอี่ยมวรนุช

จากกระแสต่อต้านจากหลายฝ่าย ล่าสุด รฟม.ยืนยันไม่เวนคืนวิหารและเจดีย์เก่าวัดเอี่ยมวรนุชเพื่อก่อสร้างรถไฟฟ้าสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)

โดยล่าสุด วันที่ 5 มี.ค.64 กองประชาสัมพันธ์ สำนักสื่อสารองค์กร การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ชี้แจงถึงกรณีที่สื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ได้มีการเผยแพร่ข่าวกรณีการเวนคืนที่ดินในวัดเอี่ยมวรนุช เพื่อก่อสร้างสถานีบางขุนพรหม ซึ่งเป็นสถานีใต้ดินของโครงการรถไฟฟ้าสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ว่า ในขั้นตอนการสำรวจดังกล่าวเป็นเพียงการดำเนินการสำรวจแนวเขตทาง (Right of way) ในเบื้องต้นเท่านั้น โดยในการก่อสร้างสถานีดังกล่าวจะมีตำแหน่งทางขึ้น-ลง 4 ตำแหน่ง ดังนี้

(1) ตำแหน่งทางขึ้น-ลง หมายเลข 1 ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดเอี่ยมวรนุช ใกล้สี่แยกวิสุทธิกษัตริย์

(2) ตำแหน่งทางขึ้น-ลง หมายเลข 2 ตั้งอยู่บริเวณปั๊ม ปตท.ตรงข้ามวัดสามพระยา

(3) ตำแหน่งทางขึ้น-ลง หมายเลข 3 ตั้งอยู่บริเวณโรงพิมพ์ศรีหงส์

(4) ตำแหน่งทางขึ้น-ลง หมายเลข 4 ตั้งอยู่บริเวณธนาคารแห่งประเทศไทย ถนนวิสุทธิกษัตริย์
จากการตรวจสอบ รฟม.ขอยืนยันว่าจะไม่มีการเวนคืนส่วนที่เป็นวิหารและเจดีย์เก่าของวัดเอี่ยมวรนุชตามที่ปรากฏในข่าว ทั้งนี้ รฟม.ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้เกี่ยวข้องของวัดเอี่ยมวรนุชแล้ว และในต้นสัปดาห์หน้า รฟม. พร้อมด้วยบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ จะเข้าชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดต่อทางวัดต่อไป


…..


ชะตากรรมของวัดเอี่ยมวรนุช จึงนับว่าน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ว่าโครงการรถไฟฟ้านี้จะยังคงเดินหน้าต่ออย่างไร ท่ามกลางกระแสสังคมชาวกรุงเฝ้าติดตาม!!