จาก ‘Clubhouse’ สู่ ‘Social Audio’ เทรนด์สร้างรายได้ใหม่ ที่น่าจับตามอง

จาก ‘Clubhouse’ สู่ ‘Social Audio’ เทรนด์สร้างรายได้ใหม่ ที่น่าจับตามอง

จากกระแส "Clubhouse" สู่ "Social Audio" เทรนด์สร้างรายได้ใหม่ที่น่าจับตามอง มาไขคำตอบกันว่า เทรนด์ใหม่อย่าง Social Audio คืออะไร จะสร้างรายได้อย่างไร และปัจจัยอะไรที่ทำให้สิ่งนี้จะมาแรงในอนาคต

แทบไม่น่าเชื่อว่ากระแสความนิยมของแอพพลิเคชั่น คลับเฮาส์ (Clubhouse) จะยังคงเป็นที่นิยมอย่างต่อเนื่องแบบไม่หยุดยั้ง เพราะก่อนหน้านี้หลายคนสบประมาทว่า ด้วยข้อจำกัดบางอย่างของแอพ อาจทำให้สิ่งนี้ฮิตแบบ One Hit Wonder หรือ เปรี้ยงเดียวแล้วดับ ก็เป็นได้

แต่หลังจากฮิตได้เกือบเดือน ปรากฎว่า วงการเทคโนโลยีโลก กลับได้ให้ความสนใจอย่างมาก จนบัญญัติศัพท์เฉพาะขึ้นใหม่ว่าสิ่งนี้คือ “Social Audio”

มาไขคำตอบกันว่า เทรนด์ใหม่อย่าง Social Audio คืออะไร จะสร้างรายได้ได้อย่างไร และอะไรที่ทำให้มั่นใจได้ว่า นี่เป็นสิ่งที่กำลังจะมาในอนาคตอย่างแน่นอน

 

  • ความโด่งดังของ Clubhouse ที่ทำให้เกิดแพลตฟอร์มใหม่อย่าง “Social Audio”

พูดถึงความสำเร็จล่าสุดของ Clubhouse หลังจากเปิดตัวครบ 1 ปี อย่างเป็นทางการตั้งแต่ มี.ค. 2563 จนถึงตอนนี้ มีผู้ใช้ทั่วโลกล่าสุด ณ สิ้นเดือน ก.พ. 2564 พุ่งทะลุ 10 ล้านรายแล้ว และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง Facebook (เฟซบุ๊ค) ก็ได้กำลังพัฒนาฟีเจอร์ Messenger Room ให้มีประสิทธิภาพน่าสนใจเทียบเท่าคลับเฮาส์ เช่นเดียวกัน Twitter (ทวิตเตอร์) ก็ได้ทดลองเปิดฟีเจอร์ Twitter Spaces ให้คนบางกลุ่มในต่างประเทศได้ใช้ด้วย นับได้ว่าความไม่เพิกเฉยต่อสิ่งนี้ของวงการเทคโนโลยี อาจเป็นสิ่งชี้วัดได้ว่า เทรนด์นี้น่าจะมาแรงและมาอย่างต่อเนื่องแน่นอน

แต่ถ้าหากจะวัดความนิยมจากผู้คน ก็เรียกได้ว่า มีทั้งคนดัง ดารา นักธุรกิจ อินฟลูเอนเซอร์ รวมถึงคนทั่ว ๆ ไป ให้ความสนใจเปิดห้องคุยกันอย่างล้นหลาม ซึ่งมีประเภทหัวข้อที่คุยอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ การเงิน การลงทุน การเมือง การตลาด การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ เพศ วัฒนธรรม ดนตรี เซ็กส์ ไปจนถึง ปัญหาชีวิต ซึ่งสังเกตเห็นได้ว่า ผู้คนกล้าออกมาพูดและร่วมถกเถียงประเด็นสังคมต่างๆ กันมากขึ้นด้วย

ก่อนหน้านี้ “โซเชียลมีเดีย” มีฟังก์ชันให้ใช้ได้แค่ ส่งข้อความ อีโมจิ วิดีโอ แต่ ณ วันนี้มีนวัตกรรมใหม่ที่เข้ามาเป็นรูปแบบหนึ่งในโซเชียลมีเดียด้วย นั่นก็คือ “Social Audio” หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไม “เสียง” ไม่ถูกจัดให้อยู่ในรูปแบบเดียวกับโซเชียลมีเดีย นั่นก็เพราะว่า เสียงมักจะถูกใช้ในรูปแบบสื่อสตรีมมิง โดยในอดีตเสียงมีรูปแบบการใช้งานมาตั้งแต่เป็น หนังสือเสียง (Audiobook) วิทยุ พอดคาสต์ จน ณ วันนี้มี “Social Audio” อย่างคลับเฮาส์ที่ทุกคนใช้กันเกิดขึ้นมาใหม่

จาก ‘Clubhouse’ สู่ ‘Social Audio’ เทรนด์สร้างรายได้ใหม่ ที่น่าจับตามอง

  • Social Audio คืออะไร มีความเฉพาะตัวอย่างไรบ้าง

Social Audio มีรูปแบบการใช้งานด้วยการพูดคุย อธิบาย หรือการถกเถียงผ่านเสียง และในมุมผู้ฟังก็สามารถทำความเข้าใจสิ่งที่ต้องการจะสื่อสารได้ง่ายกว่าข้อความ เพราะข้อความบางทีก็ต้องตีความและแต่ละคนมีสำนวนภาษาที่ไม่เหมือนกัน แต่การพูดในรูปแบบนี้ คนพูดจะใช้ภาษาพูดแบบกันเองในคุย ทำให้เข้าใจสารได้ง่ายกว่า

ตัวอย่างง่าย ๆ เมื่อคุณได้ยินเสียงใครสักคน คุณจะเข้าใจสิ่งที่เขาพูดได้ชัดเจน ตรงประเด็นกว่า การตีความตัวหนังสือ เพราะเราสามารถเข้าใจถึงน้ำหนักความน่าเชื่อถือ ผ่านอารมณ์ น้ำเสียง และโทนเสียงที่ผู้พูดพูดถึงเรื่องนั้นๆ 

ขณะเดียวกันโซเชียลมีเดียอย่างวิดีโอ เวลาคุยกับแบบสด ๆ ด้วยโปรแกรม ซูม (Zoom) สไกป์ (Skype) กูเกิลมีทติ้ง (Google Meeting) หลายคนมักรับสารได้ไม่ครบถ้วน เพราะมีโอกาสที่จะหลุดความสนใจจากสิ่งเร้ารอบตัว ทั้งกังวลว่าหน้าตาตัวเองจะดูไม่ดีบนวิดีโอหรือแบคกราวพื้นหลัง เป็นต้น

แต่การใช้งาน Social Audio มีลักษณะการใช้งานแค่ “ใช้เสียงอย่างเดียว” ไม่ต้องกังวลว่าตัวเองจะดูไม่ดี หรือจะเจออะไรที่ควบคุมไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้ผู้ใช้รู้สึกไม่คับข้องใจเกินไปที่จะใช้งาน กลับกลายเป็นรู้สึกสะดวกใจที่จะใช้ด้วยซ้ำ เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องรูปลักษณ์

 

  • ทำการตลาดบน Social Audio อย่างไรดี

อันที่จริงแล้วการทำการตลาดและการให้บริการลูกค้า บนแพลตฟอร์ม Social Audio ก็ไม่ได้มีความแตกต่างกับจากการวางแผนโซเชียลมีเดียแบบอื่น ๆ ไปสักเท่าไร เพียงแต่ ผู้พูด (Moderator) ต้องมีคุณสมบัติ 3 อย่างดังนี้ 

1. ผู้พูดต้องมีลักษณะการพูดที่ดี มีคุณภาพ: ทั้งในแง่ของการพรีเซนท์ การสื่อสาร การเชื่อมต่อประเด็น

2. ผู้พูดต้องเป็นผู้ฟังที่ดี: ต้องฟังแล้วเข้าใจจริง ๆ รวมถึงมีความรู้สึกร่วม 

ฟังแบบมี Empathy (ฟังจนเข้าใจและสามารถตอบคำถามได้เข้าใจมุมของของผู้ถามได้อย่างแท้จริง) 

และ ฟังแบบมี Sympathy (ฟังแล้วต้องตอบคำถามด้วยคำแนะนำจากมุมมองของผู้พูด) ซึ่งผู้พูดต้องดูว่าหัวข้อนั้น ควรจะฟังแล้วตอบคำถามในลักษณะใด

3. ผู้พูดต้องมีคอนเทนท์: โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอนเทนท์ต้องมีความพิเศษแบบเข้าถึงเบื้องลึก เพราะคนฟังต้องการอะไรที่จูงใจและรู้สึกร่วมกับหัวข้อที่คุย 

นอกจากนี้ การจัดอีเวนท์ออนไลน์ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เพราะทุกวันนี้คนก็ชอบช้อปปิ้ง การสัมมนา หรือการให้ความรู้ต่าง ๆ ทางออนไลน์

จาก ‘Clubhouse’ สู่ ‘Social Audio’ เทรนด์สร้างรายได้ใหม่ ที่น่าจับตามอง

  • สิ่งที่ทำให้มั่นใจว่า Social Audio กำลังมาแน่นอน

1. บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์เร่งพัฒนาฟีเจอร์บนแอพให้น่าสนใจเทียบเท่า Clubhouse 

2. นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเทคโนโลยี อื่น ๆ อีกมากมายที่กำลังรุกตีตลาดโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มนี้ด้วย กว่า 26 ราย เช่น Discord, Fireside, Sonar, Chalk หรือ Cloakroom เป็นต้น

3. ขณะเดียวกัน มีผลสำรวจว่า Clubhouse ที่กำลังเป็นที่นิยมสูงสุดในบรรดา Social Audio ทั้งหมด และมีค่าเฉลี่ยการใช้งานเฉลี่ย 90 นาทีต่อครั้ง ซึ่งถือเป็นการใช้เวลาที่นานพอสมควร

4. มีแนวโน้มว่า อีก 5 ปี ข้างหน้าจะได้เห็น Social Audio ถูกพิจารณาให้เป็นเครื่องมือทางเลือกที่ต้องใช้ในการทำงานอย่างแน่นอน (เหมือนกับการที่บริษัทใช้ซูมในการประชุมทุกวันนี้) เพราะการระบาดของโควิด-19 น่าจะอยู่ไปอีกถึง 7 ปี

 

  • ฟีเจอร์ที่อาจมีขึ้นในอนาคต

1. สามารถอัดเสียงและเผยแพร่ในรูปแบบพอดคาสต์ได้

เพื่อเป็นช่องทางในการติดตามการสร้างสรรค์คอนเทนท์ของบุคคล แต่คงเป็นเฉพาะบุคคลไป เนื่องจากปัจจุบันนี้มีการให้ความสำคัญกับความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มากขึ้น

2. รูปแบบเสียงที่มีคุณภาพแบบพรีเมียม (Premium Audio)

มีฟีเจอร์ตัดเสียงรบกวนภายนอก (Noise Cancellation) หรือระบบเสียงแบบสเตอริโอ 

3. สามารถให้ทิปกับ Moderator ได้

เพื่อเป็นกำลังใจและสนับสนุนตัวคนจัดรายการพูดห้องนั้น ๆ ได้ 

4. คอนเทนท์พิเศษ 

ทำปุ่มคลิกเพื่อเข้าสนทนาแบบพิเศษกับผู้เชี่ยวชาญ 

5. มีพื้นที่ทำการตลาดและโฆษณา

มีการขายสปอนเซอร์ โลโก้สินค้า หรือแบนเนอร์โฆษณาในพื้นที่ห้องสนทนานั้น ๆ เพื่อสร้างรายได้

------------------------------

อ้างอิง: Hebergement Webs, Andreessen Horowitz, Web-Strategist