ฝุ่น ‘PM 2.5’ สาเหตุการตายใน 5 เมืองใหญ่ของโลก

ฝุ่น ‘PM 2.5’ สาเหตุการตายใน 5 เมืองใหญ่ของโลก

ฝุ่น "PM 2.5" หนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จากข้อมูลของผลการศึกษาของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ IQAir พบว่ามีการเสียชีวิตจากสาเหตุนี้ราว 160,000 ราย ใน 5 เมืองใหญ่ที่มีประชากรมากสุดในโลก ขณะที่ไทยพบมีกว่า 14,000 ราย ใน 6 จังหวัด

ผลการศึกษาของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ IQAir จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากป้ายแสดงผลตัวเลขตามเวลาจริง (live Cost Estimator) ออนไลน์ พบว่าปี 2563 ฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 160,000 ราย ใน 5 เมืองใหญ่ที่มีประชากรมากที่สุดในโลก

ในขณะที่หลายเมืองมีคุณภาพอากาศดีขึ้นบ้าง อันเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์ช่วงการระบาดของโควิด-19 ผลกระทบที่รุนแรงจากมลพิษทางอากาศย้ำถึงความจำเป็นในการขยายระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดอย่างรวดเร็ว สร้างระบบขนส่งมวลชนไฟฟ้าที่ประชาชนเข้าถึงได้ และยุติการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล

อวินัช จันทร์ชาญ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ อินเดีย กล่าวว่า ปี 2563 กรุงเดลี ประเทศอินเดีย มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ประมาณ 54,000 ราย หรือคิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 1 คนต่อประชากร 500 คน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 13,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 อย่างต่อเนื่อง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 3.4 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 101,570 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.2 เทียบกับจีดีพีทั้งหมดของกรุงจาการ์ตา

ในประเทศไทย มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรกว่า 14,000 ราย ใน 6 จังหวัด โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 149,367 ล้านบาท กรุงเทพมหานครมีความเสียหายมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3.5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 104,557 ล้านบาท โดยคิดเป็นร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (city'sGDP) 

ฝุ่นพิษยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรในกรุงเทพฯ เกือบ 10,000 ราย ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีการเสียชีวิตจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูงสุดในประเทศไทย รองลงมาคือเชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรสาคร ขอนแก่น และระยอง ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดความเสียหายที่เกิดขึ้นคือ ระยะเวลา ความหนาแน่นของประชากร และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในจังหวัด 

ในขณะที่ประเทศไทยใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 มาหลายเดือนแล้ว แต่ปัญหามลพิษทางอากาศกลับไม่ได้ลดน้อยลงเลย และกำลังคุกคามสุขภาพของประชาชน และระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เว้นแต่ว่าวิกฤติมลพิษทางอากาศจะได้รับการแก้ไข

ในปี 2563 ความเสียทางเศรษฐกิจโดยประมาณจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ใน 14 เมืองที่ปรากฏอยู่ในป้ายแสดงผลตัวเลขตามเวลาจริง คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 149,367 ล้านบาท และเมืองที่มีค่าความเสียหายจากมลพิษพีเอ็ม 2.5 สูงที่สุดที่บันทึกไว้คือ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 40,000 ราย และคิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจจากฝุ่นพิษประมาณ 43,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1,284,560 ล้านบาท ลอสแองเจลิสทำสถิติสูงสุดด้านค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ต่อคน โดยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,700 ดอลลาร์ต่อคน หรือ 80,658.20 บาทต่อคน

กรีนพีซเรียกร้องให้รัฐบาลในทุกระดับสนับสนุนให้เกิดลงทุนระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และระบบขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อเป็นการป้องกันสุขภาพของประชาชนจากมลพิษทางอากาศที่ร้ายแรง

แฟรงค์ แฮมเมส ผู้บริหาร IQAir กล่าวว่า การหายใจของคนเราไม่ควรเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ความจริงที่ว่า มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 160,000 ราย ใน 5 เมืองใหญ่ น่าจะทำให้เราฉุกคิด โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมาที่หลายเมืองมีคุณภาพอากาศดีขึ้นเนื่องจากมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยลง ภาครัฐ บริษัทต่างๆ และภาคประชาชนต้องร่วมกันลดแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศและทำให้เมืองของเราน่าอยู่ขึ้น