ทีมวัคซีนไทยตั้งโต๊ะแถลงแจงปม'วัคซีนโควิด-19'

ทีมวัคซีนไทยตั้งโต๊ะแถลงแจงปม'วัคซีนโควิด-19'

ทีมวัคซีนไทยตั้งโต๊ะแถลงเผยเตรียมการวัคซีนตั้งแต่ เม.ย.63 ไทย 1ใน 25 ประเทศของโลกฐานผลิตวัคซีนแอสตราฯ ไม่ร่วมโคแวกซ์เหตุซ้ำซ้อนวัคซีนที่มีอยู่แล้ว ลั่นข่าวเท็จกรณีบ.อินเดียเสนอขายวัคซีนให้ไทย เตรียมใช้กลไกสปสช.ชดเชยกรณีเกิดผลข้างเคียงจากวัคซีน

สธ.ยันเริ่มจัดหาวัคซีนเม.ย.63
   หลังจากมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็นการจัดหาวัคซีนในสภาฯ ทีมจัดหาวัคซีนของประเทศไทยได้มีการตั้งโต๊ะแถลงที่รัฐสภา โดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. กล่าวว่า ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดได้ดีทั้งระลอกแรกและระลอก
ต่อไปก็จะเป็นใช้วัคซีน โดยไทยได้เตรียมการเพื่อให้คนไทยได้รับวัคซีนอย่างรวดเร็วและครอบคลุมถึง 63 ล้านโดส จากเดิมที่การแพทย์เราเคยฉีดวัคซีนได้ปีละ 10 ล้านโดส แต่ปีนี้เป็นงานหนักที่เราจะเร่งฉีดให้ครบ 63 ล้านโดสในปี 2564 ซึ่งได้เตรียมแผนการฉีดไว้แล้ว


นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มอบหมายให้ทางสถาบันวัคซีนฯ เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามข้อมูลและวางแผนจัดหาวัคซีนตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. 2563 ใน 3 ช่องทาง คือ 1.การสนับสนุนการวิจัยในประเทศ 2.การแสวงหาความร่วมมือเพื่อวิจัยพัฒนากับต่างประเทศ และ 3.การติดตามการวิจัย การพัฒนาการผลิตเพื่อจัดหาวัคซีนโดยตรงการบริษัท โดยทั้ง 3 ช่องทางเริ่มพร้อมกันตั้งแต่ เม.ย.ทั้งนี้ เมื่อเริ่มมีการศึกษาวิจัยในมนุษย์ฯ ก็เริ่มติดตามข้อมูล เพื่อให้รู้เท่าทันว่าวัคซีนชนิดใดมีความก้าวหน้าขนาดไหน ก็พบว่า วัคซีนชนิด mRNA และ Viral vector มีความก้าวหน้าทัดเทียมกันในวิจัย เริ่มทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 1-2 ในเวลาใกล้เคียงกัน ซึ่งคาดว่า 2 ชนิดนี้จะสำเร็จใกล้เคียงกัน ดังนั้น เราจึงเริ่มแสวงหาความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากต่างประเทศ


ไทยได้ศักยภาพผลิตระดับโลก
นพ.นคร กล่าวอีกว่า ส่วนการเจรจากับต่างประเทศ เช่น จีน เราก็เจรจาสอบถามข้อมูล หรือหน่วยงานของอังกฤษ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เบลเยี่ยม หน่วยงานที่พัฒนาวิจัยวัคซีนเราก็ได้เจราจาขอข้อมูล แต่สิ่งที่เราตั้งเป้าไว้ คือ การที่เราจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่เราตั้งใจไว้มาก เพราะจะตอบโจทย์ในการระบาดเวลานี้และเพื่อรับมือการระบาดในอนาคตที่อาจจะมาอีก ช่วง ก.ค.-ส.ค. 2563 มีข้อมูลว่า บริษัทแอสตราฯกับมหาวิทยาลัยออกฟอซ์ด พัฒนาการผลิตวัคซีนเทคโนโลยีชนิด Viral vector ได้หาพันธมิตร เขาได้เลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ มีความเหมาะสมในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิต จึงเป็นที่มาในการสนับสนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพเล็กน้อยให้รองรับเทคโนโลยีการผลิตให้เร็วที่สุด


“นี่จึงเป็นการการเจรจาจองซื้อวัคซีนที่ไม่ธรรมดา หากเราจองกับบริษัทอื่น คือการซื้ออย่างเดียว แต่กับแอสตราเซเนกา ไทยจะได้รับศักยภาพผลิตวัคซีนระดับโลกไว้ในประเทศ ซึ่งจะอยู่กับรัฐหรือเอกชน ไม่สำคัญ แต่สำคัญที่อยู่ในประเทศไทย และสำคัญที่สุดคือเราจะได้พัฒนาศักยภาพของเราโดยเทคโลโนยีระดับโลก”นพ.นครกล่าว

161357179849


 ไม่ต้องจองก่อนถึงถ่ายทอด
นพ.นคร กล่าวด้วยว่า เอกสารจดหมายจากบริษัทแอสตราฯเมื่อวันที่ 15 ก.พ.2564 ระบุว่า
เขามีความเชื่อมั่นอย่างยิ่งในศักยภาพของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ และได้คัดเลือกไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 เพราะมีความสามารถในการรองรับถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตได้ในเดือน ต.ค. เป็นหลักฐานสำคัญว่า แอสตราฯ เป็นผู้ประเมินคัดเลือก แล้วเขาจะมาแจ้งเราว่า หากจะให้ดีประเทศไทยควรจองผลิตวัคซีนกับเขา เพราะเป็นการผลิตในประเทศ และบอกอีก แม้ว่าเรายังไม่ได้อนุมัติการจองแต่การถ่ายทอดเทคโนโลยีเริ่มใน ต.ค.นี้ จึงไม่อยู่ในเงื่อนไขว่า ต้องจองก่อนถึงจะถ่ายทอดให้ และไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขว่าต้องจองเท่านั้นเท่านี้ แต่อยู่ในเงื่อนไขว่า เราจะร่วมกันเป็นหน่วยงานผลิตวัคซีน ให้กับภูมิภาคอาเซียน เราจึงบรรลุข้อตกลงสำเร็จ


 60 ประเทศ/บริษัทอยากเป็นฮับผลิต
“ ในจดหมายที่แอสตราฯ ระบุอีกว่ามีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นฮับ(Hub) ผลิตวัคซีนกว่า 60 ประเทศ/บริษัท โดยแอสตราฯ คัดเลือกเพียง 25 แห่ง ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 25 เนื่องจากแอสตราฯ ได้ประเมินผู้ผลิตทั่วโลก แต่เลือกเพียง 25 แห่ง และย้ำว่าเป็นมาตรฐานการผลิตที่ดี เรียกว่า Good Manufacturing Practice: GMP และมาตรฐานผลิตวัคซีนที่ได้คุณภาพ จึงขอให้มั่นใจในศักยภาพคนไทย ไม่แพ้ใครในโลก ซึ่งเราไม่จำเป็นต้องมีวัคซีนหลายชนิดแต่ขอให้มีมากเพียงพอ ครอบคลุมประชากร จัดบริการฉีดให้ได้คุณภาพ”นพ.นครกล่าว


 วัคซีนจากโคแวกซ์ซ้ำกับผลิตในไทย
นพ.นคร กล่าวว่า ส่วนการจองซื้อวัคซีนจากทุกแห่ง เช่น โคแวกซ์ (COVAX) แอสตราฯ ลักษณะเป็นเหมือนกันคือ จ่ายเงินไปบางส่วนเป็นค่าจองวัคซีน แต่มีความต่างคือ เงินค่าจองกับแอสตราฯ จะเป็นส่วนหนึ่งของราคาวัคซีน แต่หากเป็นของโคแวกซ์ เงินที่จ่ายไป หรือ Up-front payment ในรายละเอียด คือ ค่าบริหารจัดการไม่ใช่ค่าวัคซีน ส่วนราคาจะถูกกำหนดภายหลังที่รู้ว่ามาจากบริษัทใดและเป็นราคาจริงที่ผู้ผลิตกำหนดอีกที ดังนั้น จึงเป็นความต่างกัน ซึ่งการอภิปรายในสภาฯ หากข้อมูลไม่ครบถ้วนก็จะเกิดความเข้าใจผิด แต่ประเทศไทยก็ยังมีการเดินหน้าเจรจาต่อเนื่องหากมีข้อเสนอที่เหมาะกับไทย

“การที่ผู้อภิปรายดึงข้อมูลจากเว็บไซต์ต่างๆ หากดูรายละเอียดจริงๆ จะทราบว่าวัคซีนที่จะส่งมอบผ่านโคแวกซ์ คือวัคซีนจากแอสตราฯ และมีส่วนน้อยจากบริษัทไฟเซอร์ เพราะเพิ่งเข้าร่วมโคแวกซ์ในเดือน ม.ค.2564 โดยก่อนหน้านี้วัคซีนที่มีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จในช่วงไตรมาสที่ 1-2 ในปี 2564 ก็มีเฉพาะวัคซีนจากแอสตราฯ ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมโคแวกซ์ เพื่อให้วัคซีนจากแอสตราฯ ซ้ำกับการผลิตในประเทศไทยอยู่แล้ว”นพ.นครกล่าว


บ.อินเดียเสนอขายวัคซีนใหัไทย2ล้านโดสข่าวเท็จ
นพ.นคร กล่าวอีกว่า ข้ออภิปรายที่ว่า บริษัทวัคซีนของอินเดียมาเสนอให้เราซื้อ ทำไมเราไม่ซื้อ เป็นข่าวจากโซเซียล เป็นข่าวเท็จ เพราะความจริง คือเราทำความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการวิจัยวัคซีนกับอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละบริษัท แต่พอผู้ที่โพสต์ข่าวไม่ได้ตรวจสอบ ฟังต่อๆ กัน ก็กลายเป็นเราปฏิเสธการเสนอซื้อวัคซีนจากแอสตราฯ ในประเทศอินเดีย ขอยืนยันว่าเป็นข่าวเท็จ ไม่มีการเสนอการขายวัคซีนแอสตราฯ จากอินเดียให้กับไทย แต่เป็นการเสนอความร่วมมือวิจัยกับอีกบริษัทหนึ่งด้วย เราก็ได้รับไว้ ทำข้อตกลงบันทึกความเข้าใจร่วมกันแล้ว

ใช้ม.41เยียวยาผลข้างเคียง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร) กล่าวว่า สธ. ได้เตรียมระบบการติดตามหลังฉีดวัคซีน โดยหลังฉีดทันที จะต้องนั่งดูอาการ เป็นเวลา 30 นาที ต่อจากนั้นเมื่อกลับบ้าน ก็จะติดตามต่ออีก 1 เดือน เพื่อสังเกตอาการผิดปกติ ส่วนการชดเชยความเจ็บป่วยหลังฉีดที่รุนแรง เช่น เข้าโรงพยาบาล เสียชีวิต ซึ่งวัคซีนจากแอสตราฯ ยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องวัคซีน แต่ระบบได้เตรียมการชดเชยเยียวยากรณีได้รับผลกระทบที่พิสูจน์ได้ว่าเกิดจากวัคซีน โดยใช้กลไกมาตรา 41 ของพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)