'บีโอไอ' ชูสิทธิประโยชน์ลดภาษีนิติบุคคลเพิ่ม 1 เท่า จูงใจเอกชนจดทะเบียนในตลาดหุ้น

'บีโอไอ' ชูสิทธิประโยชน์ลดภาษีนิติบุคคลเพิ่ม 1 เท่า จูงใจเอกชนจดทะเบียนในตลาดหุ้น

"บีโอไอ"ชูสิทธิประโยชน์ลดภาษีนิติบุคคลเพิ่ม 1 เท่า จูงใจเอกชนจดทะเบียนในตลาดหุ้น รับทราบเป้าส่งเสริมลงทุนปี 63 แตะ 4.8 แสนล้าน ลดจากปี 62 30% แต่หากไมนับรายการรถไฟความเร็วสูงจะเหลือเพียง -7% "ดวงใจ" ไม่ตั้งเป้าปี 64 จากความไม่แน่นอนโควิด-19 ยังสูง

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ)ที่มีมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรมว.กลาโหม เป็นประธานวันนี้ (10 ก.พ.) ว่าที่ประชุมมีมติอนุมัติมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หรือ ตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการไทย รวมถึงเสริมสร้างความเข้มแข็งของตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมอีก 100%  ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน)

โดยโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอไปแล้ว แม้จะมีรายได้จากการดำเนินการแล้วก็ตาม สามารถขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการนี้ได้ แต่จะต้องมีสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลืออยู่ทั้งระยะเวลาและวงเงินที่ได้รับยกเว้น มาตรการนี้ไม่รวมถึงบริษัทที่จดทะเบียนในตลาด SET หรือ mai อยู่แล้ว ก่อนวันที่มาตรการนี้มีผลใช้บังคับ โดยสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2565 ได้ด้วย 

นอกจากนี้บอร์ดบีโอไอยังรับทราบภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนในปี 2563 พบว่ามีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน จำนวน 1,717 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 481,150 ล้านบาท โดยในแง่ของมูลค่าส่งเสริมการลงทุนลดลง 30% จากปี 2562 ซึ่งมีมูลค่าการส่งเสริมการลงทุนรวม 6.9 แสนล้านบาท ซึ่งในจำนวนนั้นมีการขอส่งเสริมการลงทุนในส่วนของรถไฟความเร็วสูงวงเงินประมาณ 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อหักลบจากมูลค่าส่งเสริมการลงทุนในปี 2562 และนำมาเปรียบเทียบกับปี 2563 จะพบว่ามูลค่าการส่งเสริมการลงทุนในปี 2562 ลดลงเพียง 7% ขณะที่คำขอส่งเสริมการลงทุนในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 13% 

สำหรับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม จำนวน 907 โครงการ มูลค่าลงทุน 213,162 ล้านบาท โดยประเทศญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริมมากที่สุดทั้งจำนวนโครงการ และมูลค่าลงทุน จำนวน 211 โครงการ มูลค่าลงทุน 75,946 ล้านบาท ตามด้วยประเทศจีน มูลค่าลงทุน 31,465 ล้านบาท และสหรัฐฯ มูลค่าลงทุน 24,555 ล้านบาท โดยจุดแข็งของไทยเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มเอเชียคือ การมีจุดแข็งด้านอุตสาหกรรมสนับสนุน วัตถุดิบและชิ้นส่วน ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจ Business Conditions of Japanese Companies in Asia and Oceania ของ JETRO ปี 2562 ที่พบว่า บริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทย ใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศไทยในระดับสูงกว่าบริษัทญี่ปุ่นที่ลงทุนในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม

161294228221

ส่วนการส่งเสริมการลงทุนในปี 2564 บีโอไอยังไม่ได้มีการกำหนดเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนสำหรับปีนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิดยังไม่มีความแน่นอนสูงทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดและเรื่องการกระจายวัคซีน อย่างไรก็ตามบีโอไอจะส่งเสริมกิจการที่ไทยมีศักยภาพ มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต พร้อมกับยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ และขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างของภาคการผลิตและบริการ เช่น อุตสาหกรรมในกลุ่มชีวภาพ (BCG) รวมถึงอุตสาหกรรมการแพทย์ เทคโนโลยีขั้นสูง ดิจิทัล และบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตและบริการในอนาคต