ITD เล็งยื่นอนุญาโตตุลาการ ชงรัฐบาลส่งสัญญาณหนุน ‘ทวาย’

ITD เล็งยื่นอนุญาโตตุลาการ ชงรัฐบาลส่งสัญญาณหนุน ‘ทวาย’

“ไอทีดี” เผยหารือบอร์ดบริหารเขตเศรษฐกิจทวาย ปมยกเลิกสัมปทาน 3 ประเด็น ระบุแจงได้หมด ชี้เป้าปัญหาส่งมอบที่ดินล่าช้า เผยต้องรอท่าทีรัฐบาลเมียนมาชุดใหม่ เตรียมรายงานผลให้นายกฯ แนะรัฐบาลไทยส่งสัญญาณเดินหน้าให้ชัด เผยทางออกอนุญาโตตุลาการ-ฟ้องศาล

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เริ่มพัฒนาตั้งแต่ปี 2551 ต้องสะดุดลงเมื่อคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (DSEZ MC) แจ้งยกเลิกสัญญาสัมปทาน 7 ฉบับ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2563

นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริษัท เมียนทวาย อินดัสเทรียล เอสเตท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ITD ทำหน้าที่พัฒนาโครงการทวาย เปิดเผย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2564 บริษัทฯ ได้ประชุมร่วมกับ DSEZ MC ผ่านระบบ VDO Conference เป็นครั้งแรกหลังจากได้รับหนังสือแจ้งยกเลิกสัญญาสัมปทาน โดยการประชุมครั้งนี้มีการหารือเกี่ยวกับประเด็นการยกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการทวายของไอทีดีจำนวน 7 ฉบับ และได้สอบถาม DSEZ MC ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 

1.ประเด็นเงื่อนไขที่เดิมกำหนดไว้ในสัญญาว่าในการลงทุนในโครงการฯทวายระยะเริ่มต้น (Initial Phase) ในพื้นที่ 27 ตารางกิโลเมตร หากไม่ใช่ผู้ลงทุนรายเดิม ซึ่งในที่นี้คืออิตาเลียนไทย ผู้ลงทุนใหม่จะต้องมีการจ่ายเงินค่าลงทุนตามที่บริษัทที่ผู้สอบบัญชี คือ บริษัทเอินส์ทแอนด์ยัง (EY) ได้ทำการประเมินทรัพย์สินและการลงทุน (Due diligence)ในโครงการไว้โดยมีมูลค่า 8,000 ล้านบาท 

โดยในส่วนนี้ DSEZ MC มีการกำหนดเงื่อนไขใหม่ว่าให้นักลงทุนรายใหม่ไม่ต้องชำระเงินในส่วนนี้ได้ ซึ่งในเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทางไอทีดีไม่สามารถยอมรับได้เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการลงทุนในส่วนต่างๆที่เกี่ยวกับสาธารณูปโภคในโครงการนี้ไปแล้วเป็นจำนวนมาก  

2.ประเด็นการหารือกันถึงเรื่องความล่าช้าของโครงการทวาย ซึ่งทาง DSEZ MC ระบุว่าโครงการในส่วนที่ให้สัมปทานกับไอทีดีมีความล่าช้า ซึ่งบริษัทฯ ได้ชี้แจงว่าความล่าช้านั้นมาจากการที่ไอทีดีในฐานะบริษัทผู้ได้รับสัมปทานไม่ได้รับการจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดิน 

ทั้งนี้ เมื่อไม่มีเอกสารเรื่องส่งมอบที่ดินจึงกระทบกับการลงทุนในส่วนอื่น เพราะไม่สามารถดำเนินการในเรื่องต่างๆได้ทั้งการออกแบบโครงการ หรือการขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อลงทุนนั้นก็ยังไม่สามารถทำได้ด้วย ซึ่งความล่าช้าจากโครงการทวายในส่วนนี้ก็มาจาก DSEZ MC ที่ดำเนินการเรื่องการส่งมอบที่ดินล่าช้า และภาพรวมโครงการที่ล่าช้าในช่วงที่ผ่านมาจึงไม่อาจกล่าวได้ว่ามาจากบริษัทฯ

3.เป็นการหารือกันเรื่องเงื่อนไขของการชำระเงินค่าธรรมเนียม ซึ่งไอทีดีจะต้องจ่ายให้กับ DSEZ MC รวมประมาณ 17 ล้านดอลลาร์ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ จ่ายไปแล้วประมาณ 10 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 300 ล้านบาท

โดยในส่วนนี้ที่บริษัทฯ หยุดจ่ายไปก็เนื่องจากเห็นว่าการดำเนินการเรื่องการส่งมอบที่ดินมีความล่าช้าไปจากแผนมากจึงหยุดจ่ายเงินจำนวนดังกล่าว โดยเอกสารกรรมสิทธิที่ดินมีความสำคัญในการพัฒนาโครงการทวาย เพราะเป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้จากสถาบันการเงินเพื่อนำมาพัฒนาโครงการ

นายสมเจตน์ กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ได้บริษัทฯ สอบถามถึงสถานะของคณะกรรมการใน DSEZ MC ว่ายังมีอำนาจในทางกฎหมายหรือไม่ เพราะได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาทำให้คนใน ครม.เมียนมามีการเปลี่ยนแปลงหลายตำแหน่ง

รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีของเมียนมาที่จะดูแลโครงการทวายนี้ด้วย ซึ่งเมื่อถามถึงตรงนี้พบว่า DSEZ MC ทั้งหมดใช้เวลานานในการหารือกันด้วยภาษาเมียนมา ก่อนที่จะมีกรรมการคนหนึ่งตอบด้วยภาษาอังกฤษว่า กรรมการยังมีอำนาจอยู่ แต่การตอบนั้นก็พบว่าไม่มั่นใจมากนัก และยังบอกว่าเรื่องนี้ก็ต้องดูนโยบายรัฐบาลเมียนมาที่เข้ามาใหม่ด้วยว่าจะมีแนวนโยบายในการพัฒนาโครงการนี้อย่างไร  

นายสมเจตน์ กล่าวว่า จากท่าทีของ DSEZ MC ล่าสุดนี้ก็เป็นโอกาสที่รัฐบาลไทยจะช่วยประสานต่อไปยังรัฐบาลเมียนมาในเรื่องนี้ เพราะความสำคัญในระดับนโยบายที่ประเทศไทยต้องการผลักดันให้ได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย และช่วยแก้ปัญหาเพราะเอกชนที่ออกไปลงทุนในโครงการที่เป็นยุทธศาสตร์แบบนี้ ซึ่งรัฐบาลต้องดูแลให้ไม่ได้รับความเสียหาย

ทั้งนี้บริษัทฯ จะได้ทำรายงานการหารือกับ DSEZ MC ในครั้งนี้ เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รวมถึงนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเพื่อรับทราบโดยเร็ว เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลไทย และทิศทางที่จะเดินหน้าโครงการทวายต่อไปในอนาคต

“ทางออกของเรื่องนี้มีอยู่ 3 ทางคือ ไปที่อนุญาโตตุลาการ ไปที่ศาล หรือกลับมาที่สัญญา ยังไงเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องทางแพ่ง หากมีทางออกในการหารือกันได้ก็กลับมาที่สัญญาที่มีอยู่ระหว่าง 2 ฝ่าย ซึ่งตอนนี้มองว่ารัฐบาลของเรามีความได้เปรียบในหลายด้านในการเจรจาแต่ต้องส่งสัญญาณให้ชัดไปยังรัฐบาลเมียนมาในการเดินหน้าโครงการนี้ต่อ” นายสมเจตน์ กล่าว 

สำหรับการที่นาสุพัฒนพงษ์ ระบุว่าจะใช้ทุกเวทีในการในการเจรจากับทางการเมียนมาเพื่อผลักดันโครงการนี้ถือเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อให้เมียนมารับทราบถึงความต้องการของฝ่ายไทยที่ต้องการผลักดันโครงการนี้เกิดขึ้นเพราะถือเป็นโครงการที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งจะเป็นการใช้ศัพยภาพเชิงภูมิศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่