‘ปตท.สผ.’ รับ 2 เด้ง 'น้ำมันพุ่ง-ซื้อแหล่งก๊าซโอมาน'

‘ปตท.สผ.’ รับ 2 เด้ง 'น้ำมันพุ่ง-ซื้อแหล่งก๊าซโอมาน'

ช่วงนี้สปอตไลท์ส่องมาที่ “หุ้นกลุ่มพลังงาน” อีกครั้ง หลังราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกกำลังไต่ระดับปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางความหวังว่า “วัคซีนโควิด” จะกลายเป็นฮีโร่ช่วยยับยั้งโรคระบาดที่ฆ่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปมากกว่า 2.2 ล้านคน

และหนุนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง สอดรับกับมุมมองของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีโลกปีนี้เป็น 5.5% จากเดิมมองไว้ที่ 5.2% แน่นอนว่าเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น ย่อมส่งผลต่อดีมานด์ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

โดยขณะนี้ราคาน้ำมันดิบพุ่งทำจุดสูงสุดในรอบ 1 ปี กลับมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์ก ยืนทะลุ 56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับราคาปิดปี 2562 อยู่ที่ 61.35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ที่ตลาดลอนดอน ใส่เกียร์เดินหน้าเช่นกัน ล่าสุดยืนทะลุระดับ 58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงกว่าราคาปิดเมื่อปี 2562 ที่ 56.64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ดูจากทิศทางเชื่อว่าจุดต่ำสุดของน้ำมันดิบได้ผ่านพ้นไปแล้ว หลังเคยหลุดลงไปต่ำกว่า 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2563 ที่โควิดระบาดหนัก จนทั้งโลกต้องใช้ยาแรง งัดมาตรการล็อกดาวน์คุมเข้ม ทำให้การเดินทางแทบหยุดชะงัก การค้าการลงทุนทรุดหนัก

แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ราคาน้ำมันกลับมาเป็นขาขึ้น ส่งผลให้หุ้นพลังงานรับอานิสงส์ไปเต็มๆ แต่ที่ดูคึกคักออร่าจับกว่าตัวอื่นๆ เห็นจะเป็นหุ้นพลังงานต้นน้ำ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เพราะรายได้อิงอยู่กับราคาน้ำมันดิบ ดังนั้นยิ่งราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น รายได้จะยิ่งโตตามไปด้วย

ขณะที่ฐานะการเงินก็แข็งแกร่ง แม้จะมีวิกฤตโควิด แต่บริษัทยังเดินหน้าลงทุนในโครงการใหม่ๆ ล่าสุดทุ่มเงิน 2,450 ล้านดอลลาร์ เข้าซื้อหุ้น 20% ในแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบก แปลง 61 ที่ประเทศโอมาน จากบริษัท บีพี เอ็กซ์พลอเรชั่น (เอปซิลอน) จำกัด

ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการขยายการลงทุนในโอมานและตะวันออกกลาง โดยแปลง 61 ถือเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติบนบกที่มีปริมาณสำรองขนาดใหญ่ สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ราว 35% ของประเทศ ตั้งอยู่ตอนกลางของประเทศโอมาน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 3,950 ตารางกิโลเมตร มีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ แหล่งคาห์ซซาน (Khazzan) ซึ่งเริ่มผลิตเมื่อปี 2560 และแหล่งกาห์เซียร์ (Ghazeer) เริ่มผลิตในเดือน ต.ค. 2563

มีอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกันประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสทอีกมากกว่า 65,000 บาร์เรลต่อวัน สามารถพัฒนาแหล่งก๊าซโดยรวมได้ถึง 10.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ช่วยเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมและปริมาณการขายให้กับบริษัทได้ทันที

โดยก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแปลง 61 จะถูกป้อนเข้าสู่โครงการโอมาน แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวแห่งเดียวในประเทศโอมานที่บริษัทร่วมทุนอยู่ ถือเป็นการต่อยอดการลงทุนในสายการผลิตธุรกิจก๊าซของบริษัทให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

สะท้อนกลับมาที่ราคาหุ้น บวกรับข่าวดี 4 วันติด รวมแล้วกว่า 5% นับตั้งแต่ประกาศเข้าซื้อหุ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา แม้จะมีเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา แต่บริษัทยืนยันว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตก๊าซธรรมชาติ ทุกโครงการในเมียนมายังเดินเครื่องตามปกติ

ด้านบล.หยวนต้า ระบุ มีมุมมองบวกต่อการลงทุนของบริษัทในครั้งนี้ เพราะเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น ทำให้ยังมีศักยภาพสูง รองรับการผลิตได้อีกนาน และสามารถเพิ่มการผลิตในอนาคตได้ ซึ่งตะวันออกกลางถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของบริษัท สามารถสร้างประโยชน์ให้กับการลงทุนก่อนหน้าได้ และมีโอกาสต่อยอดการลงทุนจากพันธมิตรที่ร่วมถือหุ้น

โดยคาดว่าการลงทุนครั้งนี้จะสร้างกำไรส่วนเพิ่มให้กับบริษัทในปี 2564 จำนวน 4.3 พันล้านบาท หรือ คิดเป็นอัพไซด์ 12% และ ราคาเหมาะสมส่วนเพิ่มราว 3 บาทต่อหุ้น