'โมเดิร์นเทรด' ขอมีส่วนร่วมโครงการรัฐบาล หวังกระตุ้นยอดขาย

'โมเดิร์นเทรด' ขอมีส่วนร่วมโครงการรัฐบาล หวังกระตุ้นยอดขาย

หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นโมเดิร์นเทรด ยังไม่ฟื้น หลังโควิด-19 ฉุดกำลังซื้อผู้บริโภค ขอรัฐเร่งยุติการระบาด พร้อมออกแพคเกจช่วยผู้ประกอบการ ทั้งมาตรการด้านภาษี ซอฟโลน ดึงโมเดริ์นเทรดร่วมโครงการรัฐบาล หวังวัคซีนดึงค้าปลีกฟื้นได้ปลายปี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วประเทศ จำนวน 112 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23 ธ.ค.63 -18 ม.ค.64 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการในไตรมาส 4 ปี 63 อยู่ที่ระดับ 47.3 ซึ่งต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่า การค้าปลีกยังไม่กลับมาเป็นปกติ เป็นการประคองตัวเท่าเดิม หรืออาจซึมตัวลงได้เป็นการมองด้วยความไม่มั่นใจ มีความกังวลในเชิงลบมากกว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ได้กลับมาอย่างโดนเด่น

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการค้าปลีกต้องการให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาและควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ให้เร็วที่สุด เร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยลดค่าใช้จ่ายภาคค้าปลีกและการบริการเร่งด่วน เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟ นำค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 มาลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า พิจารณางดเว้นการเก็บภาษีป้าย ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดินประจำปี2563 – 2565 ขยายระยะเวลาการนำผลขาดทุนสุทธิยกมาจากเดิมไม่เกิน 5 รอบ เป็น 8 รอบ เร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายในประเทศ และสนับสนุนให้ธุรกิจค้าปลีกมีส่วนร่วมในโครงการของรัฐบาล กระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ช้อป ดี มีคืน เพิ่มวงเงินเป็น 50,000 บาทในไตรมาส 1 ปี 64 เพื่อรักษาสถานะภาพการจ้างงานภาคค้าปลีกและบริการ ป้องกันคนตกงาน เสนอให้ภาครัฐสนับสนุนค่าจ้าง 50%ให้กับโซนที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 อนุมัติการจ้างงานรายชั่วโมงเพื่อสนับสนุนการจ้างงานเพิ่ม

“คาดว่า ธุรกิจค้าปลีกจะดีขึ้นในครึ่งปีหลัง สอดคล้องการการประเมินของไอเอ็มเอฟที่ประเมินว่า เศรษฐกิจปีนี้จะเริ่มตัวได้ในครึ่งหลังจะดีขึ้น จากการที่มีวัคซีนและเปิดน่านฟ้าได้เพื่อรับท่องเที่ยวได้ และในปี 65 การค้าปลีกจะกลับมาเป็นปกติ”

161235246994

นายสุรงค์ บูลกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การค้าปลีกในช่วงไตรมาส 4 ปี 63 กำลังจะฟื้นตัวแต่ก็ต้องมาเจอกับการแพร่ระบาดโควิด -19 รอบสอง ถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายทำลายความฝันของผู้ประกอบการ ซึ่งในปีนี้คงต้องรอความหวังจากวัคซีน การควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพก็จะทำให้ค้าปลีกฟื้นขึ้นได้ แม้นักท่องเที่ยวยังมาได้ไม่เต็มที่ เพราะการค้าปลีกมีการปรับตัวมาแล้ว 1 ปี เริ่มเห็นแนวทางที่เหมาะสม หวังว่าวัคซีนจะกระตุ้นกำลังซื้อผู้บริโภคได้

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการค้าปลีกสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ออกมาช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้ผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นโครงการช้อปดีมีคืน คนละครึ่ง เพราะเข้าถึงคนรากหญ้าได้ แต่อยากให้ขยายเวลา วงเงิน การใช้สิทธิได้ง่ายขึ้น ในส่วนของการช่วยเหลือผู้ประกอบการนั้น ทางกลุ่มค้าปลีกอยากให้รัฐบาลเห็นชอบให้มีการจ้างงานเป็นรายชั่วโมงได้ ซึ่งหากทำได้ก็จะทำให้มีการจ้างานเพิ่มขึ้น 5,000 อัตรา นอกจากนี้ขอให้มีการแยกแรงงานภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการออกจากกัน เพราะแรงงานภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานจากความต้องการของสินค้า

ขณะที่ภาคบริการต้องการแรงงานจากความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งการจับจ่ายใช้สอยเป็นเวลาที่เป็นข้อจำกัดสำคัญ ถ้าออกแบบแรงงานตามความต้องการของผู้บริโภคก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการการมากขึ้น และจะหนุนนโยบายการจ้างงานของรัฐได้ เช่น การจ้างนักศึกษาจบใหม่ เป็นต้น  สนับสนุนพื้นที่แพลตฟอร์มในแอปพลิเคชั่นให้เอสเอ็มอี โอทอป นำสินค้ามาจำหน่ายได้ภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ และสามารถเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยคัดกรองผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการรับซอฟท์โลนจากภาครัฐ โดยใช้ข้อมูลที่เอสเอ็มอีรายนั้นทำการซื้อขายผ่านแอปพลิเคชั่นกับโมเดริ์นเทรด รวมทั้งสนับสนุนช่องทางการจำหน่ายสินค้าทางการเกษตรให้กับเกษตรกร

161235258349

นางสาวชลิดา จันทร์สิริพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า การช่วยคัดกรองผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในการรับซอฟท์โลนจากภาครัฐ โดยใช้ข้อมูลที่เอสเอ็มอีรายนั้นทำการซื้อขายผ่านแอปพลิเคชั่นกับโมเดริ์นเทรดนั้นจะช่วยลดภาระหนี้เสียให้กับธนาคารได้ จึงขอให้ภาครัฐเร่งพิจารณาในส่วนนี้ รวมทั้งเร่งอนุมัติการจ้างานแบบรายชั่วโมงเนื่องจากมีแรงงานล้นตลาดโดยเฉพาะแรงานจากภาคท่องเที่ยว โดยย้ำว่าการจ้างงานรายชั่วโมงลูกจ้างยังได้สิทธิต่าง ๆจากประกันสังคมซึ่งภาครัฐต้องออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆให้เหมาะสมกับสถานการณ์

นอกจากนี้ ต้องการส่งเสริมแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟโลนให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นผู้เช่า โดยให้กลุ่มค้าปลีกมีส่วนร่วมคัดกรองผู้ประกอบการ โดยสมาคมการค้าปลีกและธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมมือในการใช้ข้อมูลของผู้ประกอบการรายย่อยที่มาเช่าพื้นที่ในห้างค้าปลีกจะช่วยคัดกรองข้อมูลผู้ที่เหมาะสมจะได้รับเงินกู้ซอฟโลน รวมทั้งการให้กลุ่มค้าปลีกมีส่วนร่วมในโครงการของรัฐบาลได้ และการระบายสินค้าเกษตรไปในห้างโมเดิร์นเทรดได้