เมื่อการ 'เคาะหม้อ' เป็นสัญลักษณ์ 'ต้านรัฐประหาร' ในเมียนมา

เมื่อการ 'เคาะหม้อ' เป็นสัญลักษณ์ 'ต้านรัฐประหาร' ในเมียนมา

การ "เคาะหม้อ" กลายเป็นสัญลักษณ์ "ต้านรัฐประหาร" ของชาวเมียนมา ประชาชนต่างประท้วงด้วยการอยู่บ้านและเคาะถัง กะละมัง หม้อ ส่งเสียงดังนานหลายนาที ด้านสังคมโซเชียลเมียนมาดัน #StayAtHomeMovement

จากกรณีชาวเมียนมาใน "นครย่างกุ้ง" และอีกหลายเมือง ประท้วงเชิงสัญลักษณ์ เพื่อ "ต้านรัฐประหาร" จากเหตุการณ์ที่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยประชาชนพร้อมใจกันอยู่บ้านและส่งเสียงด้วยการ "เคาะหม้อ" ถัง กะละมัง กระทะ และอุปกรณ์ต่างๆ ในบ้านให้ดังพร้อมกันเป็นเวลานานหลายนาที

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ในเมียนมา รวมถึงชาวเมียนมาในต่างแดน ทวีตข้อความเรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการ พร้อมติดแฮชแท็กยืนยันการเคลื่อนไหวในขบวนการอารยะขัดขืนแม้จะอยู่บ้าน ได้แก่ #StayAtHomeMovement และ #Civil_Disobedience

161233396618

จากเหตุการณ์นี้ ทำให้เห็นว่าอุปกรณ์เครื่องครัวอย่าง "หม้อ" ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงทางการเมือง มาหลายต่อครั้งแล้ว และพบว่ามีเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นมาแล้วในหลายๆ ประเทศ 


โดยหากย้อนกลับไปในช่วงเดือนตุลาคม ปี 2019 ยังพบว่าการ "เคาะหม้อ" เคยถูกใช้ประท้วงเชิงสัญลักษณ์ "ต้านรัฐบาล" ในประเทศชิลี จากประเด็น ประกาศขึ้นค่าโดยสารรถไฟใต้ดินในช่วงเวลาเร่งด่วนสูงสุดถึงประมาณ 1.17 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 35 บาท ส่งผลให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความไม่พอใจ จนมีการออกมาชุมนุมประท้วงตามท้องถนนและจุดต่างๆ ในตัวเมือง

“เมื่อคุณได้ยินเสียงผู้คนตีหม้อเคาะกระทะรับส่งกันไปในชิลี นั่นทำให้เข้าใจได้ว่ามันเป็นสัญญาณของเสียงประชาชนต่ออำนาจรัฐ”

ชาวชิลีเรียกการประท้วงแบบนี้ว่า Cacerolazo (กาเซโรลาโซ) หรือ Cacerolada (กาเซโรลาดา) ซึ่งใช้ในความหมายว่าเป็นการประท้วง (protest)

161233330846

คำว่า Cacerolazo เป็นภาษาสเปน  มาจากคำว่า Cacerola (กาเซโรลา) แปลว่า หม้อสต๊อก/สตูว์  ส่วน Cacerolazo/Caceloraso แปลว่า "การตีหม้อ" หมายถึงรูปแบบการประท้วงที่ใช้ "หม้อ" กระทะ หรือเครื่องครัวอื่นๆ มาตีให้เกิดเสียงดัง

รูปแบบการประท้วงแบบตีหม้อนี้พบแพร่หลายในอเมริกาใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ชิลี อาร์เจนตินา เวเนซุเอลา อุรุกวัย เอกวาดอร์ คิวบา เปรู บราซิล เปอร์โตริโกและยังพบได้ในตุรกี และควิเบกด้วย

การประท้วง Cacerolazo ในชิลีเรื่อยมา จนกระทั่งมาถึงช่วงเหตุการณ์ประท้วงในปี 2019 ที่ผู้คนออกมาประท้วงแสดงความไม่พอใจประเด็นขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าเมโทรในกรุงซานติอาโก จนบานปลายรุนแรงและยกระดับกลายเป็นการขับไล่ประธานาธิบดีเซบาสเตียน พิเนรา ซึ่งพบว่าในชิลีมีการใช้ "หม้อ" เป็นสัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหว ท้าทาย หรือโค่นล้มระบอบระเบียบดั้งเดิม

ดังนั้นจึงอาจพูดได้ว่า "หม้อ" ถูกนำมาใช้เป็นวัตถุแห่ง "อารยขัดขืน" เพื่อต้องการทำให้เนื้อหาของการประท้วงได้มีโอกาสเดินทางไปถึงความรับรู้ของบรรดาชนชั้นสูงในสังคม