รัฐบาลส่งสัญญาฟื้นทวาย 'ITD' ถกบอร์ดเขต ศก.เมียนมา 5 ก.พ.นี้

รัฐบาลส่งสัญญาฟื้นทวาย 'ITD' ถกบอร์ดเขต ศก.เมียนมา 5 ก.พ.นี้

นายกฯ ส่งสัญญาณเดินหน้าทวาย “ปณิธาน” ชี้รอการเมืองนิ่ง ตั้งทีมเศรษฐกิจใหม่ดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ คาดรัฐบาลใหม่เจรจาไม่ยากหลังร่วมมือกันมานาน มั่นใจเมียนมาหวังดันเศรษฐกิจ ชี้ต้องเตรียมแผนอพยพคนลดผลกระทบให้ชัด

โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายที่รัฐบาลเมียนมาให้สิทธิบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2551 และต่อมาพัฒนาเป็นความร่วมมือ 3 ประเทศ คือ ไทย เมียนมาและญี่ปุ่น ต้องสะดุดเมื่อเอกชนไทยถูกแจ้งยกเลิกสัญญาสัมปทาน 7 ฉบับเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2563 และสถานการณ์มีความซับซ้อนขึ้นเมื่อเกิดรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขอให้ทุกฝ่ายนำเสนอข่าวอย่างระมัดระวังที่สุดไม่อยากให้เกิดเป็นผลเสียในผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจและประชาชนของเราซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านร่วมกันก็ขอให้ฟังในส่วนของตรงนี้เป็นเรื่องของอาเซียนด้วยไม่อยากให้เกิดการขยายความขัดแย้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย 

ส่วนการลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกโครงการทวายคนเคยชี้แจงไปแล้วที่มีปัญหาอยู่บ้าง ขณะนี้ก็ได้ให้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าคณะในการเจรจาพูดคุยกันต่อไปในการแก้ปัญหาเหล่านี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือนักลงทุนของเราด้วย

นายสมเจตน์ ทิณพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมียนทวาย อินดัสเทรียล เอสเตท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไอทีดีที่ทำหน้าที่ดำเนินการพัฒนาพื้นที่ทวาย กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า วันที่ 5 ก.พ.2564 บริษัทฯ จะประชุมร่วมกับคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (DSEZ MC) ผ่านระบบซูม ซึ่งนัดกันตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค.2564 ก่อนที่จะมีการรัฐประหาร แต่การประชุมยังคงกำหนดไว้เหมือนเดิม โดยคาดว่าการประชุมครั้งนี้จะมีความเป็นธรรมให้บริษัทฯ

สำหรับวาระที่จะหารือกับครอบคลุมประเด็นที่ DSEZ MC มีการบอกเลิกสัญญาสัมปทานรวม 7 ฉบับ ซึ่งมีการอ้างประเด็นการค้างจ่ายค่าสัมปทานให้เมียนมา แต่บริษัทฯ เห็นว่าส่วนที่ค้างจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมดำเนินการรายปีที่มีวงเงินเพียง 6 ล้านดอลลาร์ รวมถึงการที่บริษัทฯ ไม่งหนังสือสละสิทธิที่ได้รับชดเชยเงินลงทุนในโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายระยะสมบูรณ์ที่ดำเนินการก่อสร้างไปแล้วตั้งแต่ปี 2551

161231953887

นายปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนายกรัฐมนตรี กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า ภายหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองทำให้การเจรจาโครงการทวายต้องเลื่อนออกไปก่อนจากเดิมที่ไทยกำลังจะขอให้เร่งรัดการเจรจราคณะกรรมการ 3 ฝ่าย ในการพัฒนาโครงการทวายที่มีไทย เมียนมา และญี่ปุ่น 

สำหรับการเลื่อนเจรจาดังกล่าวเพราะต้องรอให้สถานการณ์ทางการเมืองในเมียนมานิ่งพอที่ไทยจะขอหารือความร่วมมือในเชิงนโยบาย รวมทั้งอีกเหตุผล คือ เมียนมาจะตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ขึ้นมาบริหารงานแทนรัฐมนตรีที่ปลดออก เพราะ ครม.ชุดเดิมเหลือเพียง 25% ซึ่งตำแหน่งส่วนใหญ่ที่จะแต่งตั้งใหม่อาจเป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับงานด้านเศรษฐกิจ และงานด้านอื่นที่ไม่ได้อยู่ในด้านความมั่นคงและทางทหาร

ทั้งนี้ ไทยต้องดูว่าประธานาธิบดีเมียนมาคนใหม่จะมอบหมายให้รองประธานาธิบดีคนใดเป็นผู้รับผิดชอบหลักจึงจะสามารถเข้าไปเจรจาหารือในเรื่องนี้ได้ 

นอกจากนี้ต้องดูในแง่ของนโยบายของรัฐบาลใหม่เมียนมาด้วยว่าในการเข้ามาบริหารงานในช่วงเวลานี้ให้น้ำหนักกับเรื่องใด เพราะเท่าที่ดูการยึดอำนาจเป็นเหตุผลในเรื่องของการจัดการเลือกตั้ง และการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่รัฐบาลทหารบอกว่าพรรคเอ็นแอลดีทำได้ไม่ดีพอ ขณะที่ในเรื่องเศรษฐกิจไม่ใช่ประเด็นหลักในการยึดอำนาจในครั้งนี้ 

“ทวายคงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลจะผลักดันและหารือร่วมกับเมียนมาในเวทีต่างๆ เพราะเรามีความร่วมมือกันมานานในเรื่องนี้ และเรามีกลไกในเรื่องของคณะกรรมการทั้ง 2 ระดับคือ ระดับนโยบายที่มีรองนายกฯ ไทยและรองประธานาธิบดีเมียนมา เป็นประธานร่วม และระดับคณะทำงานที่มีรัฐมนตรีของทั้ง 2 ประเทศเป็นประธานร่วม ต้องดูว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการเมืองในเมียนมาแล้วในเรื่องนี้ใครมีหน้าที่ขึ้นมารับผิดชอบแทนแล้วจึงจะกำหนดแนวทางเจรจากันต่อไป” นายปณิธาน กล่าว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยกำลังดูท่าทีและนโยบายของรัฐบาลเมียนมาว่าจะสนับสนุนโครงการฯทวายหรือไม่ หากมีการสนับสนุนทางไทยก็พร้อมที่จะเดินหน้าหารือและเจรจาเดินหน้าโครงการรวมถึงเรื่องของสถานะโครงการของไอทีดี 

โดยแนวโน้มที่รัฐบาลใหม่ของเมียนมาจะให้การสนับสนุนโครงการทวายมีความเป็นไปได้สูงกว่าในช่วงที่พรรคเอ็นแอลดีเป็นแกนนำรัฐบาลเนื่องจากพื้นที่ทวายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจซึ่งเป็นบ้านเกิดของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพและรัฐบาลคนปัจจุบันของเมียนมาซึ่งในพื้นที่นี้น่าจะได้รับความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจจากนโยบายของรัฐบาลใหม่ 

นอกจากนี้ที่ผ่านมาในช่วงที่การเจรจาโครงการทวายมีความคืบหน้าไปมากและเป็นรูปธรรมในช่วงที่เมียนมาบริหารโดยรัฐบาลทหาร ส่วนการเจรจาในยุครัฐบาลที่ผ่านมาโครงการทวายไม่ได้รับการผลักดันให้มีความคืบหน้าไปมากนัก เพราะพรรคเอ็นแอลดีมีรัฐมนตรีหลายคนที่มาจากสายขององค์กรพัฒนาภาคเอกชน (เอ็นจีโอ) ที่มีจุดยืนเรื่องการคัดค้านโครงการที่เป็นการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นภาคอุตสาหกรรมจึงมองว่าโครงการฯทวายมีโอกาสคืบหน้าได้ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง 

อย่างไรก็ตามนอกจากแผนงานในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานแล้วสิ่งที่ต้องมีการหารือกันทุกฝ่ายที่จะผลักดันโครงการทวาย คือ แผนการพัฒนาชุมชนและอพยพประชาชนที่ได้รับผลกระทบออกจากพื้นที่ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญเพราะต้องไปตอบคำถามประชาชนและชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ว่าหากมีการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่จะมีแผนการรองรับในด้านนี้อย่างไร