รามาธิบดี ร่วมกับ ม.กรุงเทพ พัฒนาแอปฯ ทางการแพทย์

รามาธิบดี ร่วมกับ ม.กรุงเทพ พัฒนาแอปฯ ทางการแพทย์

รามาธิบดี ร่วมกับ ม.กรุงเทพ ลงนาม MoU พัฒนาสื่อการทดลองเสมือนจริงและแอปพลิเคชันทางการแพทย์ สำหรับการใช้งานในบุคลากรทางการแพทย์ และสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วย ต่อยอดเชิงพาณิชย์ในอนาคต

วันนี้ (1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) ด้านวิชาการร่วมกัน ในการพัฒนาสื่อการทดลองเสมือนจริงและแอปพลิเคชันทางการแพทย์ สำหรับการใช้งานในบุคลากรทางการแพทย์ และสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วย ต่อยอดเชิงพาณิชย์ในอนาคต โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ดร. ถิรพล วงศ์สอาดสกุล คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นผู้ลงนามในครั้งนี้ 

ศ. นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีพันธกิจในการให้บริการรักษาพยาบาล พันธกิจในฐานะโรงเรียนแพทย์ และพันธกิจในด้านการทำวิจัยทางการแพทย์ ซึ่งในกระบวนการทำงานในทุกพันธกิจของ     คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มุ่งเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาให้เกิดระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ

ทั้งนี้ การพัฒนาศักยภาพงานในด้านวิชาการ งานบริการวิชาการ และงานที่ทำให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถต่อยอดผลสำเร็จให้เกิดแก่บุคลากรที่จะนำไปสู่ผู้ป่วยในทุกระดับการรักษา ถือเป็นสิ่งสำคัญที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นอย่างมากและต่อเนื่อง อีกทั้งยังมุ่งมั่นพัฒนาสื่อในการทดลองเสมือนจริงทางการแพทย์ผ่านรูปแบบแอปพลิเคชันที่ทำให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว และมีความพร้อมในการให้บริการอยู่อย่างเสมอ

161216879154

ดร.ถิรพล วงศ์สอาดสกุล คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งในการร่วมเป็น  ส่วนหนึ่งที่สำคัญในการร่วมกันดำเนินโครงการศึกษาวิจัย คิดค้น การวางแผนปฏิบัติการเพื่อการพัฒนาสื่อการทดลองเสมือนจริงทางการแพทย์ผ่านรูปแบบแอปพลิเคชัน

ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยต่อยอดความสำเร็จที่สำคัญในการให้บริการรักษาพยาบาล และแรงสนับสนุนนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่สำคัญระหว่างกันในวงการการศึกษา ที่จะพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกันให้เกิดขึ้น ทั้งจากศาสตร์ทางการแพทย์ และศาสตร์ทางเทคโนโลยีสารสนเทศ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาและร่วมสร้างผลงานนวัตกรรมร่วมกันเป็นอย่างดี