บังกลาเทศเดินหน้าปล่อยเกาะ'โรฮิงญา'

บังกลาเทศเดินหน้าปล่อยเกาะ'โรฮิงญา'

บังกลาเทศส่งผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากว่า 1,400 คนไปอยู่เกาะกลางอ่าวเบงกอล ไม่สนเสียงทักท้วงจากกลุ่มสิทธิมนุษยชน

วันนี้ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาอีกกว่า 1,400 คนถูกทางการบังกลาเทศส่งตัวไปยังเกาะบาซันชาร์ในอ่าวเบงกอล หลังจากเมื่อวานนี้ (29 ม.ค.) ส่งไปแล้ว 1,776 คน ทำให้ยอดรวมตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่อย่างน้อย 6,700 คน เดิมทีผู้อพยพเหล่านี้อาศัยอยู่ในค่ายแนวชายแดนที่ชาวโรฮิงญาราว 1 ล้านชีวิตอาศัยกันอยู่อย่างแออัด

นาวาเอกพิเศษอับดุลลาห์ อัล มามุน ชาวดูรี กล่าวว่า ชาวโรฮิงญาถูกขนส่งจากค่ายมายังท่าเรือจิตตะกอง จากนั้นเรือ 5 ลำจะลำเลียงพวกเขาพร้อมสัมภาระไปยังเกาะ

เกาะแห่งนี้เพิ่งโผล่ขึ้นมาจากน้ำเมื่อ 20 ปีก่อน ต้องใช้เวลาเดินทางจากท่าเรือจิตตะกองหลายชั่วโมง

รัฐบาลบังกลาเทศกล่าวว่า การย้ายถิ่นฐานเป็นไปด้วยความสมัครใจ ค่ายที่ค็อกซ์บาซาร์แออัดมากทำให้เกิดเหตุอาชญากรรม แต่ผู้ลี้ภัยกลุ่มแรกๆ ที่ย้ายมาในเดือน ธ.ค.บอกว่าถูกบังคับ

ส่วนข้อกังวลว่าเกาะนี้น้ำท่วมถึง บังกลาเทศอ้างว่า นอกจากรัฐบาลสร้างบ้านสำหรับประชาชน 100,000 คน โรงพยาบาลและศูนย์หลบภัยไซโคลนไว้หลายแห่งแล้ว ยังสร้างเขื่อนยาว 12 กม.สูง 2 ม.ไว้ด้วย

ทั้งนี้ บังกลาเทศถูกวิจารณ์ว่าย้ายชาวโรฮิงญาไปโดยไม่ปรึกษาสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) และหน่วยงานความช่วยเหลืออื่นๆ ยูเอ็นเอชซีอาร์ระบุว่า หน่วยงานของตนไม่ได้รับอนุญาตให้ประเมินความปลอดภัยและความยั่งยืนของการดำรงชีวิตบนเกาะบาซันชาร์

“เรารอเดินหน้าเจรจากับรัฐบาลเรื่องโครงการบาซันชาร์ รวมทั้งการประเมินของยูเอ็นตามที่เสนอไป” ยูเอ็นเอชซีอาร์ระบุ