เล็งให้นายจ้างร่วมจ่าย จัดหาวัคซีนโควิด-19กลุ่มแรงงานต่างด้าว

เล็งให้นายจ้างร่วมจ่าย จัดหาวัคซีนโควิด-19กลุ่มแรงงานต่างด้าว

สธ.เล็งให้นายจ้างร่วมจ่าย จัดหาวัคซีนโควิด-19ให้กลุ่มแรงงานต่างด้าว เน้นความสมัครใจ

เมื่อวันที่ 29 ม.ค.เวลา 17.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ว่า ตามที่ที่มีการวางแผนฉีดวัคซีนให้ทุกคนที่อยู่บนผืนแผ่นดินไทย ตามความสมัครใจ นั้น วันนี้ที่ประชุมเห็นว่าในส่วนของคนไทยจะได้รับวัคซีนฟรี แต่ในกรณีของแรงงานต่างด้าวจะต้องเป็นลักษณะของการร่วมจ่าย โดยมีนายจ้างร่วมจ่าย กรณีนี้ก็เป็นไปตามความสมัครใจเช่นกัน

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า สำหรับวัคซีนจากแอสตราเซเนก้าจำนวน 50,000 โดส ที่จะเข้ามาในเดือน ก.พ.นั้น 2 กลุ่มแรกที่จะได้รับก่อน คือ บุคลากรการแพทย์ที่ทำงานหน้าด่าน และบุคลากรอื่นๆ ที่ทำงานหน้าด่าน เพื่อให้ระบบสุขภาพเดินหน้าต่อไปได้ โดยจะให้ในพื้นที่สีแดง คือสมุทรสาคร กรุงเทพ นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี และอาจจะกระจายในรพ.ที่มีผู้ป่วยเช่น แม่สอด จ.ตาก โดยทั้ง 50,000 โดสจะให้เป็นเข็มแรกทั้งหมด ซึ่งบุคลากรทั้ง 2 กลุ่มนี้มีมากกว่า 50,000 คนอยู่แล้ว แต่ได้รับมอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สำรวจความสมัครใจและรายงานตัวเลขสรุปกลับมายังกระทรวงสาธารณสุขภาพในวันที่ 4 ก.พ. นี้ รวมทั้งทำการซักซ้อมแผนการฉีดด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่าเนื่องจากตอนนี้ทางอียูมีการจำกัดเรื่องการส่งออกวัคซีนถ้าไทยได้รับ 50,000 โดสเข้ามา แล้วให้เป็นเข็มแรกทั้งหมด หากล็อตถัดไปเกิดเข้ามาไม่ได้ตามเป้าหมายจะกระทบกับการได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 หรือไม่ นพ.โสภณ กล่าวว่า ที่ประชุมก็มีการคุยกันเรื่องนี้ เห็นว่าการที่เราให้ 50,000 โดสเป็นเข็มแรกทั้งหมด โดยหากเข้ามาในสัปดาห์แรกก็ต้องผ่านการตรวจสอบของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กว่าจะได้ฉีดน่าจะราวๆ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ก.พ. และจากข้อมูลทางการแพทย์ วัคซีนของแอสตร้าเซเนกา สามารถฉีดเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรกประมาณ 12 สัปดาห์ หรือประมาณ พ.ค. , มิ.ย. ดังนั้นถ้าสมมติว่าวัคซีนของแอสตร้าฯ ที่เหลือติดปัญหาเข้ามาไม่ได้ เราก็จะมีวัคซีนของแอสตร้าฯ ล็อตที่ผลิตเองในไทยรองรับ

"สิ่งที่เราวางอยู่ตอนนี้คือมาตรการเตรียมความพร้อม เมื่อวัคซีนเข้ามาก็เดินหน้าได้เลย ถ้ายังไม่เข้ามาการเตรียมไว้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย ดีกว่าไม่ได้เตรียมอะไรเอาไว้เลย และถ้าวัคซีนของไซโนแวคเข้ามาก็สามารถนำมาบริหารจัดการผ่านมาตรการที่เราเตรียมไว้ด้วยเช่นกัน"นพ.โสภณกล่าว