“สบาย”สยายปีกลงทุนปีนี้800ล้านบ.

“สบาย”สยายปีกลงทุนปีนี้800ล้านบ.

“สบาย” ทุ่มงบลงทุนปีนี้ 800 ล้านบาท ขยาย 4 ธุรกิจ-ซื้อกิจการเทคโนโลยีสตาร์อัพการเงิน หวังรองรับธุรกรรมครบวงจร พร้อมเปิดธุรกิจใหม่ "สบายเอ็กเชนจ์” คาดเริ่มมี.ค.นี้ หนุนรายได้ปี 64 โตไม่ต่ำกว่า 25% แม้โควิด-19 ระลอกใหม่ เป็นปัจจัยท้าทายแต่มองเป็นโอกาส

นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SABUY เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมงบลงทุนปีนี้ไว้ 150 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเข้าซื้อกิจการเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านการเงินที่เป็นบริษัทสตาร์ทอัพ เพื่อให้เกิดการสร้างประโยชน์ร่วมกัน (synergy) ในอีโคซิสเต็มท์และสร้างความสะดวกให้พาร์ทเนอร์เข้ามาเชื่อมต่อง่ายขึ้น จะมาช่วยรองรับธุรกรรมทางการเงินที่ครบวงจรรองรับการเติบโตในอนาคตอย่างต่อเนื่อง

และล่าสุด หลังจากบริษัทได้ร่วมทุนกับบริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด จัดตั้งบริษัทร่วมทุนใหม่ ภายใต้ชื่อ “บริษัท สบาย เอ็กเชนจ์ จำกัด” เพื่อพัฒนาธุรกิจร่วมกันในการจัดทำระบบ Loyalty Program สำหรับการให้บริการแก่กลุ่มลูกค้า คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการกับลูกค้าทั้ง B2B และ B2C ได้ภายในเดือนมี.ค.นี้

จากปัจจุบัน บัซซี่บีส์ มีจำนวนลูกค้า 85 ล้านบัญชี, ร้านค้า จำนวน 300 ราย ส่วน สบาย มีฐานลูกค้า 10 ล้านบัญชี มีจำนวนพอยต์ในระบบ 11,000 พอยต์ มียอดการแลกพอยต์ 2 ล้านรีดีม

ตั้งเป้าหมายจำนวนพอยต์ในระบบอาจเพิ่มถึง 5 เท่า ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า บริษัทคาดว่าการลงทุนดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ในการเติบโตของกลุ่มบริษัท ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพื่อสร้างระบบ Ecosystem และเสนอผลิตภัณฑ์แก่กลุ่มลูกค้า

นอกจากนี้ บริษัทยังเดินหน้าขยายตลาดใน 4 ธุรกิจหลักอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมงบลงทุนไว้อีก 650 ล้านบาท สำหรับการขยายตู้เติมเงินเพิ่มอีกจำนวน 7,000 ตู้ , ตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เพิ่มอีกจำนวน 6,000 ตู้ และระบบศูนย์อาหารเพิ่มอีก 20,000-30,000 จุด

จากปัจจุบันธุรกิจตู้เติมเงินอัตโนมัติภายใต้เครื่องหมายการค้า “เติมสบายพลัส” ปัจจุบันให้บริการมากกว่า 54,000 ตู้ทั่วประเทศ ,ธุรกิจตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติภายใต้แบรนด์“เวนดิ้งพลัส”, “6.11 Corner” และ “6.11 select” มากกว่า 6,000 ตู้ , ธุรกิจติดตั้งและวางระบบศูนย์อาหารซึ่งมีศูนย์อาหารที่อยู่ภายใต้การดูแลมากกว่า 200 แห่ง และ ธุรกิจให้บริการการชำระเงิน “สบาย มันนี่” ปัจจุบันทาง SABUY ได้มุ่งเน้นธุรกิจค้าปลีก (E-Commerce) รูปแบบใหม่ และการเปิดบริการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน Ecosystem ลูกค้าทุกกลุ่ม ครอบคลุมตั้งแต่ลูกค้าระดับกลาง และลูกค้ารายได้น้อยทั่วประเทศ ซึ่งมีกระแสตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี โดยภายในเดือนก.พ.นี้ บริษัทเตรียมเปิดบริการใหม่ผ่านตู้เติมเงิน จะช่วยสร้างการเติบโตเหนือคู่แข่ง

“บริษัทมั่นใจว่ารายได้ปีนี้จะเติบโตตามเป้าหมายวางไว้ที่ เติบโตไม่ต่ำกว่า 25% โดยมีสัดส่วนรายได้ 60% มาจากธุรกิจตู้เติมเงิน ที่เหลืออีก 40% มาจากธุรกิจอื่นๆ แต่แนวโน้มสัดส่วนรายได้ในอนาคตคาดว่าธุรกิจตู้เติมเงินจะลดลงมาเหลือ 35% จากการที่ธุรกิจอื่นเติบโตมากขึ้น”