ม.ค.สัปดาห์ที่ 2 ยอดรวมติด'โควิด-19'ลดลงกว่าครึ่ง

ม.ค.สัปดาห์ที่ 2 ยอดรวมติด'โควิด-19'ลดลงกว่าครึ่ง

ศบค.ประเมินผลหลัง 17 ม.ค.ก่อนพิจารณาผ่อนคลายมาตรการหลัง31ม.ค. ขณะที่สัปดาห์ที่ 2 เดือนม.ค.  ยอดติดโควิด-19ลดลงกว่าครึ่ง ระลอกใหม่ติดเชื้อกระจุกตัวภาคกลาง-กทม. ภาคใต้น้อยสุด เฝ้าระวังเข้มชายแดนติดมาเลเซียหลังยอดทะลุวันละ2-3พันราย   

    เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล ในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) กล่าวว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 271 ราย ติดเชื้อในประเทศ 259 ราย ติดเชื้อจากต่างประเทศ 12 ราย  ผู้ติดเชื้อสะสม 11,262  ราย หายป่วย 7,660 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 2 ราย เสียชีวิตสะสม 69 ราย โดยผู้ที่เสียชีวิตรายที่ เป็นชายสัญชาติอังกฤษ อายุ 71 ปี มีโรคเบาหวาน ไทรอยด์ และมะเร็งปอด โดยวันที่ 5 ธ.ค.ดินทางมาจากลอนดอน ประเทศอังกฤษ  มาถึงไทยวันที่ 7 ธ.ค. และเข้าสถานที่กักกัน ASQ จากนั้นวันที่ 11 ธ.ค.มีอาการไข้ ไอเสมหะ เก็บตัวอย่างส่งตรวจ และเข้ารักษารพ.เอกชน วินิจฉัยเป็นปอดอักเสบต่อมาอาการแย่ลง และเสียชีวิตวันที่ 13 ม.ค.2564

          ส่วนผู้เสียชีวิตรายที่ 69 ชายไทยอายุ 53 ปี มีอาชีพรับจ้าง มีโรคประจำตัวเป็นเบาหวาน โดยวันที่ 26-30 ธ.ค.เดินทางไปหลายจังหวัด ทั้งจันทบุรี ชลบุรี เพชรบุรี โดย เดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว 3 ม.ค. เริ่มมีไข้  ปวดศีรษะ ไอ มีเสมหะ วันที่ 5 ม.ค. เข้ารับการรักษาที่รพ.ในนนทบุรี ผลตรวจเชื้อพบโควิด-19 และรับการวินิจฉัยว่า เป็นปอดอักเสบ อาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว และเสียชีวิตในวันที่ 10 ม.ค.2564


     สำหรับการติดเชื้อในประเทศ 259 ราย แยกเป็น จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 78 ราย และค้นหาเชิงรุกในชมุชน  181 ราย  เฉพาะระลอกใหม่ ติดเชื้อสะสม 7,025 ราย  แยกเป็นพื้นที่กรุงเทพฯและนนทบุรี 854 ราย ภาคเหนือ 130 ราย ภาคกลาง 5,961 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 46 ราย และภาคใต้ 34 ราย หายป่วยแล้ว 3,720 ยังรักษาอยู่ 3,296 ราย

    ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นรายสัปดาห์ พบว่า สัปดาห์ที่ 1 ของเดือนม.ค. ยอดติดเชื้อรายสัปดาห์อยู่ที่ 2,674 ราย แต่ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน อยู่ที่ 1,209 ราย จะเห็นว่ายอดในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนไม่ถึงครึ่งของสัปดาห์ที่ 1 วางใจได้ระดับหนึ่ง แต่ยังวางใจมากไม่ได้  และเมื่อดูกราฟตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมจะไม่พุ่งขึ้นหรือไม่ชันเหมือนเดิม แต่ยังนิ่งนอนใจไม่ได้

      “จะเห็นว่าในการระบาดระลอกใหม่ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้มีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อย เป็นความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องในพื้นที่ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน  อย่างไรก็ตาม ขอให้ร่วมกันเป็นหูเป็นตาและเฝ้าระวังการลักลอบเข้าประเทศไทยจากช่องทางธรรมชาติอย่างเข้มข้นต่อไป เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศมาเลเซียที่ติดต่อกับชายแดนใต้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 2-3 พันรายอยู่ในขณะนี้”นพ.ทวีศิลป์กล่าว 

       นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า การดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน หมอชนะ ถือว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประชาชนดาวน์โหลดกันเยอะมาก โดยข้อมูลล่าสุดวันที่ 13 ม.ค.64 มีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน หมอชนะ สูงถึง 7.18 ล้าน และวันนี้(14 ม.ค.)มีคนลงทะเบียนสูงถึง 5.05 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเมื่อวันที่ 13 ม.ค.ถึง 218,483 คน ถือเป็นเรื่องน่ายินดีมาก อย่างไรก็ตาม จากการลงแอปฯดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ม.ค. กรมควบคุมโรคพบคนติดเชื้อขึ้นมาและส่งข้อมูลให้ สํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)  หรือ สพร. ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลเรื่องแอปฯ และไปดูพื้นที่ของคนที่ติดเชื้อติดตามว่ามีไปสถานที่ไหน และมีคนเกี่ยวข้องเท่าไหร่ โดยตามได้ 135 คนที่อยู่ในระบบ และรีบส่ง SMS ไปยังกลุ่มคนเหล่านี้ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ชลบุรี  ซึ่งภาพรวมตั้งแต่วันที่ 9-13 ม.ค.2564  มีการส่งข้อความแจ้งเตือนผู้ที่ใช้งานหมอชนะไปแล้ว 641 ราย

       ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งเมือ่ไหร่ เพื่อก้าวเข้าสู่มาตรการผ่อนคลาย นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นับจากวันที่ 4 ม.ค.2564 ที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศให้ 28 จังหวัดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด นับไปอีก 14 วัน ก็วันที่ 17 ม.ค.2564 ดังนั้น จะมีการประเมินผลหลังวันที่ 17 ม.ค.2564ว่ามาตรการที่กำหนดลงไปนั้นเกิดผลมากน้อยอย่างไร  ถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศลดลงเรื่อยๆ และทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือมาตรการป้องกันอย่างเต็มที่ แสดงว่ามาตรการที่ดำเนินการนั้นได้ผล หลังวันที่ 31 ม.ค.2564 ก็ไม่จำเป็นต้องใช่ยาแรง หรือเพิ่มมาตรการใดให้เข้มเพิ่มเติมขึ้นไป