‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ’ เพื่อรอเที่ยวให้สะใจ!

‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ’  เพื่อรอเที่ยวให้สะใจ!

แม้สถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่จะทำให้กระแสการเดินทางท่องเที่ยวไทยต้องหยุดชะงักอีกครั้ง ทุกอย่างวนกลับไปลูปเดิม คนไทยต้อง “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” สกัดการแพร่กระจายของเชื้อ ให้ความร่วมมือในการสอบสวนโรค เปิดเผยไทม์ไลน์ที่แท้จริง

โดยทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประเมินว่าในเดือน ม.ค.2564 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศน่าจะอยู่ที่หลักร้อยคนต่อวัน และมีแนวโน้มลดลงเหลือหลักสิบคนต่อวันในเดือน ก.พ.นี้

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มองว่า หากประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ได้อย่างรวดเร็วภายใน 2 เดือนตามความคาดหวังของ ททท.ซึ่งหมายถึงคุมอยู่ภายในเดือน ม.ค. และรอระยะปลอดเชื้ออีก 28 วันในเดือน ก.พ. น่าจะทำให้ในเดือน มี.ค.นี้เป็นต้นไป เห็นคนไทยออกมา “เที่ยวให้สะใจ” กันอีกครั้ง หลังต้องอยู่บ้านเป็นเวลานานเพื่อหยุดเชื้อ!

“ททท.ประเมินว่าระยะแรกหลังหยุดการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ได้สำเร็จ คนไทยจะยังระมัดระวังการเดินทาง กลับไปเดจาวูอีกครั้งด้วยภาพการเลือกเดินทางไปยังจุดหมายระยะใกล้ รัศมี 200-300 กิโลเมตรแบบขับรถไปได้ และไปกับคนใกล้ชิดที่วางใจ เช่น คนในครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อน”

ประกอบกับรัฐบาลได้ประกาศวันหยุดพิเศษและวันหยุดประจำภาคปี 2564 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศ โดยในเดือน มี.ค.จะมีวันหยุดเพิ่มเติมคือ วันที่ 26 มี.ค.เป็นวันหยุดราชการประจำภาคเหนือ งานประเพณีไหว้พระธาตุประจำปี ส่วนเดือน เม.ย.ก็เพิ่มวันที่ 12 เม.ย.เป็นวันหยุดสงกรานต์ ขณะที่เดือน พ.ค.ได้เพิ่มวันหยุดราชการประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเพณีงานบุญบั้งไฟ ตรงกับวันที่ 10 พ.ค.นี้ ก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยหนุนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้มีกระแสการเดินทางในช่วงครึ่งปีแรก

“แม้ 2 เดือนแรกจะยังไม่มีการเดินทางข้ามจังหวัด เนื่องจากประชาชนต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขซึ่งมีการประกาศเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ไม่ต้องการให้เดินทางข้ามจังหวัดเพื่อสกัดการแพร่ระบาด แต่ในบางพื้นที่ก็ยังสามารถเดินทางภายในจังหวัดได้ เข้าทำนอง Homemade Tourism หรือการท่องเที่ยวภายในภูมิลำเนา ซึ่งเป็นแนวทางที่ ททท.มองว่ายังพอกระตุ้นได้ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เพื่อพยุงการจ้างงานภาคท่องเที่ยวเอาไว้”

อีกสิ่งที่ ททท.ให้ความสำคัญคือการเดินหน้าสร้างความมั่นใจ ผ่านโครงการมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย Amazing Thailand Safety & Health Administration : SHA ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สธ.กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาโดย ททท. เพื่อกระตุ้นสถานประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการได้เตรียมความพร้อมและดำเนินการปรับปรุงให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตปกติใหม่ (New Normal) มุ่งยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย

ด้วยการดึงผู้ประกอบการ 10 ประเภทกิจการ อาทิ ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว บริษัทนำเที่ยว ศูนย์การค้า และอื่นๆ ให้เข้าร่วมรับการตรวจประเมินเพื่อรับตราสัญลักษณ์ SHA มากขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ผ่านการรับรองตามมาตรฐาน SHA แล้วกว่า 8,000 รายทั่วประเทศ

ควบคู่กับกลยุทธ์สร้างการรับรู้และความมั่นใจในฝั่งประชาชน ว่ามาตรฐาน SHA นั้นมีความสำคัญต่อวิถีการใช้ชีวิตแบบนิวนอร์มอลของคนยุคนี้อย่างไร ทำให้คน “ชิน” กับ “SHA” (ชา) ไม่ละเลยความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ภายใต้แนวคิด “Travel with Confidence” เพื่อให้คนกล้าออกเดินทาง เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวตามมา

“นี่คือเหตุผลที่ทำให้ ททท.ต้องดำเนินมาตรการด้านความปลอดภัย เพราะต้องการให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ มีกระแสการเดินทางกลับมาอีกครั้ง ขณะเดียวกันเตรียมขยายประเภทกิจการที่เข้าร่วมรับการประเมินมาตรฐาน SHA ให้ครอบคลุม Customer Journey มากที่สุด เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าตลอดซัพพลายเชนของภาคท่องเที่ยวในประเทศไทย ทุกข้อต่อมีความปลอดภัย เพราะตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่าโรคโควิด-19 จะหยุดระบาดเมื่อไร กินระยะเวลานานเท่าใด แต่สิ่งหนึ่งที่รู้คือเราต้องอยู่กับมันให้ได้”

ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในตัวระบบของมาตรฐาน SHA ทาง สธ.และ ททท.ได้ออกแบบให้มีการตรวจประเมินโดยภาคประชาชน ผ่านแพลตฟอร์ม www.thailandtravellervoice.com หากประชาชนเดินทางไปที่ไหน แล้วพบว่าสถานประกอบการนั้นๆ ไม่มีการปฏิบัติตามมาตรฐาน SHA เช่น ไม่มีการคัดกรอง ไม่มีจุดให้เช็กอินแพลตฟอร์มไทยชนะ สามารถแจ้งผ่านเว็บไซต์ดังกล่าว โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกส่งไปยังกรมอนามัยที่กำกับดูแลมาตรฐาน SHA โดยตรง และส่งตรงให้ผู้ประกอบการเร่งปรับปรุงต่อไป

เพราะหากผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน จะทำให้ลูกค้าตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ทาง สธ.จึงมีนโยบายถอนหรือริบตราสัญลักษณ์ SHA คืน และอาจมีมาตรการลงโทษด้านสังคมเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจที่ต้องดำเนินตามอย่างเข้มข้น ทางผู้ประกอบการเป็นผู้แสดงความตั้งใจว่าจะดำเนินการตามมาตรฐาน แต่เมื่อรับตราสัญลักษณ์ SHA ไปแล้วไม่ปฏิบัติตาม ก็มองได้อีกนัยหนึ่งว่าผู้ประกอบการไม่มีความตั้งใจในการดูแลลูกค้า

“เพราะตราสัญลักษณ์ SHA ไม่ใช่เครื่องหมายทางการค้า ไม่ใช่เครื่องหมายที่ช่วยทำให้ยอดขายดีขึ้น แต่เป็นเครื่องหมายที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นใจด้านสุขอนามัยแก่นักท่องเที่ยวในการเข้ารับบริการ”

นี่คือสิ่งที่ ททท.พยายามผลักดันเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือของมาตรฐาน SHA ภายในประเทศ ก่อนจะสื่อสารเกี่ยวกับมาตรฐานนี้ไปยังตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างเข้มข้นต่อไป เพื่อให้ประเทศไทยเป็น Trusted Destination หรือจุดหมายปลายทางที่สามารถเชื่อถือและวางใจได้

ผนึกกับวินัยในการป้องกันตัวเองจากโรคโควิด-19 ของคนไทย ยกการ์ดสูงฝ่าวิกฤติ รอวันที่สามารถยุติการระบาดได้สำเร็จ และเมื่อวันนั้นมาถึง...นักท่องเที่ยวก็สามารถ “มูฟออน” ออกจากวงจรนี้

ออกไปเที่ยวให้สะใจกันอีกครั้ง!