'เยียวยาผู้สูงอายุ' ส่องเงื่อนไข กู้ปลอดดอก 3 ปี สูงสุด 1 แสนบาท

'เยียวยาผู้สูงอายุ' ส่องเงื่อนไข กู้ปลอดดอก 3 ปี สูงสุด 1 แสนบาท

เปิดรายละเอียด "เงินกู้ปลอดดอก" สำหรับ "ผู้สูงอายุ" มาเดี่ยว มากลุ่มก็กู้ได้ เพื่อทำทุนประกอบอาชีพ สูงสุด 3 หมื่นสำหรับบุคคล และ สูงสุด 1 แสนบาทสำหรับการกู้เป็นกลุ่ม

ในวิกฤติเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ "โควิด-19" ที่กระทบกับคนจำนวนมาก ไม่เฉพาะวัยแรงงานเท่านั้น แต่สำหรับ "ผู้สูงอายุ" ก็ยังกระทบด้วย

แต่ยังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนมาก ที่ไม่ทราบถึงสิทธิที่สามารถขอรับได้จาก "กองทุนผู้สูงอายุ" ในการกู้เงินปลอดดอกเบี้ย เพื่อนำเงินไปทำทุนประกอบอาชีพได้ 

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จะพาไปทำความรู้จักกองทุนดังกล่าว พร้อมเงื่อนไข คุณสมบัติ และวงเงินที่สามารถกู้ได้ ดังนี้ 

  • รู้จัก "กองทุนผู้สูงอายุ"

ก่อนอื่น เราขออธิบายอย่างย่อเกี่ยวกับ จุดเริ่มต้นของ "กองทุนผู้สูงอายุ" กันก่อน โดยกองทุนฯ นี้ ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 มาตรา 13 กำหนดให้มีการจัดตั้ง “กองทุนผู้สูงอายุ” ขึ้นในสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ และ ปัจจุบันสังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายเกี่ยวกับการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุน ผู้สูงอายุ ให้มีศักยภาพ ความมั่นคง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมขององค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสนับสนุนผู้สูงอายุให้มีความเข้มแข็ง

  • ภารกิจของ กองทุนผู้สูงอายุ

เมื่อดูกันที่กิจกรรมกองทุนผู้สูงอายุที่ผ่านมา ก็เป็นไปเพื่อการคุ้มครอง การส่งเสริม และการสนับสนุนผู้สูงอายุ ดังนี้

1. สนับสนุนเงินอุดหนุนโครงการเพื่อส่งเสริมกิจกรรมผู้สูงอายุในลักษณะกลุ่ม ชมรม ศูนย์บริการ 
ศูนย์อเนกประสงค์ในชุมชน
2. สนับสนุนเงินอุดหนุนโครงการสำหรับองค์กรผู้สูงอายุ องค์กรที่ทำงานด้านผู้สูงอายุในชุมชน
3. การให้ทุนประกอบอาชีพ ประเภทกู้ยืมรายบุคคล และรายกลุ่มสำหรับผู้สูงอายุ
4. เรื่องอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติกำหนดเพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับประโยชน์สูงสุดตาม
พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546

  • ให้กู้เงินปลอดดอก หนุน "ผู้สูงอายุ" มีอาชีพ

หนึ่งในพันธกิจ ที่หลายๆ คนอาจไม่ทราบ ก็คือ ผู้สูงอายุ หรือ บุคคลที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป สามารถยื่นขอกู้เงินปลอดดอกเบี้ย 3 ปี เพื่อนำเงินไปทำทุนประกอบอาชีพได้ด้วย โดยสามารถกู้ได้ ทั้งเป็นรายบุคคล จนถึงกู้ในนาม "กลุ่ม" และ "โครงการ" รายละเอียดดังนี้ 

1. การให้การสนับสนุนโครงการ กรอบวงเงินที่ให้การสนับสนุน แบ่งตามขนาดของโครงการ แบ่งเป็น
       1) โครงการขนาดเล็ก ในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท
       2) โครงการขนาดกลาง วงเงินเกิน 50,000 – 300,000 บาท
       3) โครงการขนาดใหญ่ วงเงินเกิน 300,000 บาท ขึ้นไป

2. การให้บริการกู้ยืมเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
       1) การกู้ยืมรายบุคคล รายละไม่เกิน 30,000 บาท
       2) การกู้ยืมรายกลุ่ม กลุ่มละไม่น้อยกว่า 5 คน กลุ่มละไม่เกิน 100,000 บาท

โดยการกู้ยืมเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม ต้องชำระเงินคืนเป็นรายงวดทุกเดือน ระยะเวลา 3 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ย

  • คุณสมบัติ - เงื่อนไข การกู้ 

เกี่ยวกับเงื่อนไข และ คุณสมบัติผู้กู้ รวมถึงผู้ค้ำประกันนั้น ทาง กองทุน ได้ตั้งเกณจะคัดเลือกผู้ที่มีความจำเป็นและมีความสามารถในการประกอบอาชีพ

คุณสมบัติของผู้กู้ยืมและผู้ค้ำประกัน มีดังนี้ 

- ผู้กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ
1. มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
2. มีความจำเป็นขอรับการสนับสนุนเงินกู้ยืมประกอบอาชีพ
3. มีความสามารถในการประกอบอาชีพ
4. มีสภาพร่างกายแข็งแรงประกอบอาชีพได้
5. มีปัจจัยในการสนับสนุนการประกอบอาชีพ
6. มีสถานที่ประกอบอาชีพอยู่จังหวัดเดียวกันกับที่ยื่นขอกู้ยืม
7. ไม่เป็นผู้ค้างชำระเงินกองทุนผู้สูงอายุ

- ผู้ค้ำประกันกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ
1. มีอายุไม่เกิน 59 ปีบริบูรณ์
2. เป็นผู้มีรายได้หรือเงินเดือนประจำ
3. มีภูมิลำเนาตามทะเบียนราษฎร์อยู่จังหวัดเดียวกับผู้กู้ยืม
4. ไม่อยู่ระหว่างเป็นผู้กู้ยืม
5. ไม่อยู่ระหว่างเป็นผู้ค้ำประกันให้กับบุคคลอื่นที่ขอกู้ยืม

161051382338

โดยขั้นตอนการกู้มีทั้งสิ้น 7 ขั้นตอน ประกอบด้วย 

1. ยื่นคำร้องขอกู้ยืม
2. เยี่ยมบ้าน/หาข้อเท็จจริง
3. วิเคราะห์หลักเกณฑ์ 
4. เสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ 
5. เสนอคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุ 
6. แจ้งผลพิจารณา 
7. ทำสัญญา / เบิกจ่ายเงิน 

ผู้สนใจสอบถามและขอกู้ยืมได้ที่ กองทุนผู้สูงอายุ โทร. 0 2354 6100 หรือ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ

ที่มา : กองทุนผู้สูงอายุ