ย้ำ 'ผู้สัมผัสอาหาร-ผู้ปรุง' ใช้ถุงมือถูกวิธีช่วยลดแพร่เชื้อ

ย้ำ 'ผู้สัมผัสอาหาร-ผู้ปรุง' ใช้ถุงมือถูกวิธีช่วยลดแพร่เชื้อ

กรมอนามัยลงพื้นที่คุมเข้มร้านอาหาร ย้ำ "ผู้สัมผัสอาหาร-ผู้ปรุง" ใช้ถุงมือถูกวิธีเพื่อลดการความเสี่ยงโรคโควิด 19

 วันนี้ (7 มกราคม 2564) นายแพทย์ดนัย  ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมสถานประกอบกิจการร้านอาหาร เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร ว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 สุขลักษณะของผู้สัมผัสอาหาร และผู้ปรุงอาหาร การล้างมือและดูแลมือให้สะอาดอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะในกระบวนการปรุงประกอบอาหารที่ผ่าน  การสัมผัสมือโดยตรง ควรมีการสวมถุงมือทุกครั้งหรือใช้อุปกรณ์หยิบจับที่สะอาดเพื่อป้องกันเชื้อโรคที่มากับมือและสวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม เล็บสั้น ล้างมือก่อนปรุงอาหารและหลังเข้าห้องส้วม ที่สำคัญที่สุดต้องใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารหรือสวมถุงมือในการหยิบจับอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่ผู้ปรุงมักจะใช้มือสัมผัส ในระหว่างการปรุง ควรเลือกใช้ถุงมือให้เหมาะสมกับประเภทอาหาร เช่น อาหารพร้อมปรุง อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป และถุงมือต้องมีคุณภาพดี มีความปลอดภัยในการใช้งาน โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

           

นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเลือกใช้ถุงมืออย่างถูกต้องเพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค ในอาหาร ผู้ปรุงและผู้สัมผัสอาหารควรปฏิบัติตามข้อแนะนำ 5 ข้อหลัก ดังนี้ 1. ใช้ถุงมือสำหรับอาหารโดยเฉพาะ (Food Grade)  2. เลือกใช้ถุงมือ 1 คู่กับอาหารประเภทเดียวกันเท่านั้น ไม่ใช้ปะปนกัน เช่น อาหารดิบ อาหารปรุงสุกด้วยความร้อนแล้ว อาหารพร้อมปรุง อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูป เป็นต้น 3. ห้ามใช้ถุงมือที่ทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล เพราะอาจจะปนเปื้อน เป็นแหล่งนำเชื้อโรคและสิ่งสกปรกต่าง ๆ มาสู่อาหารได้ 4. หากต้องไปสัมผัสกับอาหารประเภทอื่น หรือต้องหยิบจับสิ่งของอื่น ๆ เช่น เงิน ควรถอดถุงมือออกก่อนทุกครั้ง และ 5. ควรเปลี่ยนถุงมือทุกวัน ไม่ควรใช้ซ้ำเพราะอาจทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคได้ หากถุงมือเปื้อนมากควรรีบเปลี่ยนทันทีเช่นกัน

“ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการร้านอาหารคุมเข้มมาตรการป้องกันโรคตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อเป็นการลดแพร่กระจายโควิด-19  โดยจัดให้มีระบบคัดกรองด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย รวมถึงจัดให้มีจุดผู้ใช้บริการลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์ม “ไทยชนะ” ทุกครั้งที่ใช้บริการ ผู้ให้บริการและผู้รับบริการต้องสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ให้บริการ รวมทั้งจัดให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือมีจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ และมีการเว้นระยะห่างระหว่างกัน และควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการไม่ให้แออัด รวมถึงจัดให้มีระบบระบายอากาศภายในอาคารที่เหมาะสม ที่สำคัญควรทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสบ่อย ๆ โดยเน้นจุดที่มีการสัมผัสร่วมกัน เช่น ห้องน้ำ ลูกบิดประตู เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรสชาติ หรือเหนื่อยหอบ ให้งดให้บริการหรือใช้บริการ และไปพบแพทย์ทันที” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว