'อีอีซี' ในปีวัวทอง ต้องเตรียมรับมือ 'น้ำ' ล่วงหน้า

'อีอีซี' ในปีวัวทอง ต้องเตรียมรับมือ 'น้ำ' ล่วงหน้า

ส่องงานวิจัยการบริหารจัดการน้ำใน 3 จุดสำคัญ ทั้งเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เขื่อนภูมิพล และโครงการชลประทาน (ท่อทองแดง กําแพงเพชร) ที่จะเป็นโปรเจคหนุนการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจไทยในอนาคต

แผนงานวิจัยเข็มมุ่งด้านการบริหารจัดการน้ำครั้งนี้ ได้เลือกประเด็นและพื้นที่ที่มีความสําคัญในการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของประเทศในระยะยาว โดยแบ่งเป็นสามกลุ่มงานวิจัย ประกอบด้วย 1.การบริหารน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 2.การบริหารการปล่อยน้ำของเขื่อนภูมิพล และ 3.การบริหารน้ำในโครงการชลประทาน (ท่อทองแดง กําแพงเพชร) เป็นกรณีตัวอย่างในการนําเทคโนโลยีเข้าช่วยในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อการยกประสิทธิภาพการใช้น้ำ

กลุ่มงานวิจัยแรก การพัฒนาพื้นที่พิเศษอีอีซี เป็นแผนพัฒนาหลักหนึ่งของประเทศที่ต้องการให้ประเทศมีการก้าวกระโดดของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยมีการลงทุนการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ (เอสเคิร์ฟ, นิว เอส-เคิร์ฟ) รวมทั้งการพัฒนาเมืองและสาธารณูปโภคแบบทันสมัย น้ำจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการพัฒนาพื้นที่นี้เนื่องจากในอดีตการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมได้เคยมีผลกระทบจากด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมมาก่อน จนเกิดประเด็นทางสังคมตามมา เช่น ภาวะแล้งในปี 2548, 2563 จึงจําเป็นต้องศึกษาทบทวน และถ้ามีประเด็นจะได้หามาตราการรองรับไว้ล่วงหน้าเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคต

ผลการวิเคราะห์สภาพน้ำในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พบว่า ปี 2564 มีโอกาสเกิดภาวะแล้งเช่นปี 2563 โดยเฉพาะเมื่อมีโครงการพัฒนาเพิ่มขึ้นและสภาพภาวะอากาศสุดโต่งเกิดขึ้น การนำน้ำจากภาคกลางไปช่วยจะเป็นไปได้ยากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเสริมเพิ่มจากแผนแม่บทของพื้นที่อีอีซี ทั้งด้านจัดหา เก็บกัก บริหารน้ำ การจัดการความขัดแย้งและการจัดการน้ำด้านอุปสงค์เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายในอนาคต การขยายผลการจัดการน้ำด้านอุปสงค์ต้องการกติกา กฎระเบียบรองรับ เพื่อให้ขับเคลื่อนทุกภาคส่วนอย่างมีมาตรฐาน 

โดยเริ่มจากโครงการใหม่และโครงการขนาดใหญ่ที่พร้อมจะลงทุน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือสนับสนุนที่จำเป็น มีศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการประหยัดน้ำและการใช้น้ำซ้ำให้ผู้ประกอบการเห็นเป็นตัวอย่าง และใช้อบรมผู้ประกอบการที่สนใจ ซึ่งเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณาต่อไป

คณะวิจัยเห็นว่า ควรกำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบด้านการบริหารจัดการน้ำทุกภาคส่วนในเขตอีอีซีเป็นการเฉพาะ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและมีประสิทธิภาพ เป็นศูนย์รวมที่ครอบคลุมทั้งน้ำต้นทุนและการใช้น้ำทุกภาคส่วน โดยมีหน้าที่เบื้องต้นในการกำหนดกติกาการใช้น้ำ การจัดลำดับความสำคัญการใช้น้ำ การจัดสรรน้ำ การเตรียมแผนรองรับกรณีฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องคำนึงถึงขอบข่ายและความทับซ้อนอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ตาม พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561

นอกจากนี้ยังควรศึกษารูปแบบต่างๆ ด้านการเงินสำหรับโครงการด้านน้ำ เริ่มจากการศึกษาและประเมินสถานะการลงทุนที่มีอยู่ เพื่อนำมาวิเคราะห์ ระบุช่องว่างการลงทุนและการจัดหาเงินทุน เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับการลงทุนในโครงการด้านน้ำเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นพื้นที่ที่มีศักยภาพและสามารถดึงดูดนักลงทุนได้ เช่น พื้นที่อีอีซีและในเขตเมือง ซึ่งพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการลงทุนสูง และเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ

ผลการวิจัยข้างต้นได้นำสู่ข้อเสนอแนะการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะจัดองค์กรเฉพาะขึ้นในอนาคตสำหรับพื้นที่อีอีซี รวมทั้งเผยแพร่และชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริการจัดการกลุ่มลุ่มน้ำตะวันออก สภาผู้แทนราษฎร และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.)

กลุ่มงานวิจัยที่สอง ด้านการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการเขื่อนภูมิพล พบว่า ชุดต้นแบบชุดโปรแกรมการจำลองการปล่อยน้ำช่วยให้ตัดสินใจปล่อยน้ำได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการเพิ่มน้ำต้นทุนของเขื่อนตามเป้าหมายของงานวิจัย หลังการเรียนรู้ข้อมูลในอดีต 10 ปีย้อนหลังมาใช้ในการปล่อยน้ำช่วงฤดูฝนในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่แล้ง เทียบกับการปล่อยน้ำตามเกณฑ์ที่มีอยู่ พบว่าสามารถเสนอค่าปริมาณการปล่อยน้ำที่เพิ่มเติมได้เทียบกับวิธีการที่ใช้อยู่ 

นอกจากนี้ยังพัฒนาแบบจำลองและติดตั้งเครื่องวัดระดับน้ำบาดาลอัตโนมัติ เพื่อติดตามสถานการณ์การใช้น้ำบาดาลในพื้นที่เจ้าพระยาตอนบน และศักยภาพที่มีพร้อมกับถ่ายทอดให้กับผู้บริหารกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยต่อไป 

ทั้งนี้ การบริหารน้ำในเขื่อนจะขยายผลให้ครอบคลุม 4 เขื่อนหลักของภาคกลางตอนล่าง และขยายการทำนายฝนจาก 14 วัน เป็นฤดูกาลเพื่อให้บริหารจัดการน้ำล่วงหน้าได้ดีขึ้น โดยจะทำงานร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและกรมชลประทานต่อไป รวมถึงขยายพื้นที่การบริหารน้ำในโครงการชลประทานให้ครอบคลุมทั้งโครงการชลประทานท่อทองแดงในระยะที่ 2 เพื่อเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการนำเทคโนโลยีและการสื่อสารมาใช้ในโครงการชลประทานอื่นต่อไป

กลุ่มงานวิจัยที่สาม “ท่อทองแดงโมเดล” สามารถสรุปแนวปฏิบัติและบทเรียนปรับปรุงการทำงานระหว่างเจ้าหน้าที่ชลประทานกับกลุ่มผู้ใช้น้ำให้พูดภาษาเดียวกันได้บนฐานของข้อมูลและความเข้าใจกันมากขึ้น  

งานวิจัยในปีแรกเป็นการวิจัยพัฒนาต้นแบบ ปีที่สองประยุกต์ใช้ร่วมกับหน่วยงานปฏิบัติ และปีที่สามวิจัยเสริมพร้อมถ่ายทอดผลงานวิจัยให้กับหน่วยงานปฏิบัติต่อไป ทำให้เห็นโอกาสในการบริหารน้ำที่ลดความสูญเสีย เนื่องจากมีการวิเคราะห์ด้วยเทคนิคใหม่และมีระบบจัดการข้อมูลที่ทันกาลมากขึ้น การทดลองในพื้นที่นำร่องทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้งกับนักวิจัย ผู้ปฏิบัติและผู้ใช้น้ำ ทำให้มีความเข้าใจและการมีส่วนร่วมมากขึ้น 

สำหรับเป้าหมายของกลุ่มวิจัยทั้งสามของการบริหารจัดการน้ำที่จะดําเนินการใน 3 ระยะกําหนดไว้ดังนี้

- กลุ่มวางแผนน้ำพื้นที่อีอีซี : ลดอัตราการใช้น้ำคาดการณ์ในพื้นที่ลงร้อยละ 15 ของความต้องการใช้น้ำเปรียบเทียบกับข้อมูลคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่อีอีซี

- กลุ่มบริหารเขื่อน : เพิ่มประสิทธิภาพการปล่อยน้ำต้นทุนจากเขื่อนในเขตพื้นที่ภาคกลางตอนบนใต้พื้นที่เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ขึ้นจากร้อยละ 65 เป็นร้อยละ 85

- กลุ่มบริหารน้ำในเขตชลประทาน : ลดค่าเฉลี่ยการสูญเสียจากการส่งน้ำในระบบส่งน้ำ (ในภาคการเกษตร) ในกลุ่มพื้นที่ภาคกลางตอนบนลดลงจากร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 15 จากอัตราปัจจุบัน