ทำไมจึงไม่ควรซื้อ Rapid Test มาตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง

ทำไมจึงไม่ควรซื้อ Rapid Test มาตรวจโควิด-19 ด้วยตนเอง

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ซึ่งรุนแรงมากกว่ารอบแรกที่ผ่านมา สร้างความกังวลใจของประชาชนจนหลายคนมองหาวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะ Rapid Test เพื่อลดความกังวล อย่างไรก็ตาม อย. ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงเพราะอาจนำไปสู่การแปลผลที่ผิดพลาดได้

ปัจจุบัน วิธีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยใช้มีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ 1. การตรวจสารพันธุกรรมของไวรัสด้วยวิธี Real-time RT PCR ซึ่งเป็นวิธีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และประเทศไทยพร้อมใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้มีข้อดี คือ มีความไว มีความจำเพาะสูง สามารถทราบผลภายใน 3-5 ชั่วโมง และสามารถตรวจจับเชื้อไวรัสในปริมาณน้อยๆ ได้ในรูปแบบของสารพันธุกรรม ดังนั้น ไม่ว่าจะเชื้อเป็น หรือเชื้อตาย ตรวจจับได้หมดจากสารคัดหลั่งทางเดินหายใจส่วนบน ส่วนล่าง ของผู้สงสัยติดโควิด-19 ดังนั้น จึงเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการตรวจวินิจฉัยโรคเพื่อการรักษาที่รวดเร็ว ตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค และใช้ติดตามผลการรักษาได้

โดยเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากการป้ายเยื่อบุในคอ หรือ ป้ายเนื้อเยื่อหลังโพรงจมูก เพราะเชื้อไวรัสอยู่ในเซลล์จึงต้องขูดออกมา และหากเชื้อลงไปในปอด ก็จะต้องนำเสมหะที่อยู่ในปอดออกมาตรวจ การตรวจวิธีนี้ต้องระวังการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำในห้องแล็บที่ได้รับมาตรฐาน

2. การตรวจภูมิคุ้มกัน (IgM/IgG) ด้วยชุดทดสอบแบบรวดเร็ว Rapid Test เก็บตัวอย่างด้วยการเจาะเลือด สามารถทราบผลใน 15 นาที การตรวจวิธีนี้จะทำได้หลังมีอาการป่วย 5 - 7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10 - 14 วัน ดังนั้น การใช้ Rapid Test ตรวจภูมิคุ้มกัน (IgM/IgG) ในช่วงแรกของการรับเชื้อ หรือช่วงแรกที่มีอาการ ผลการตรวจจะขึ้นลบ ซึ่งไม่ได้แสดงว่าผู้ป่วยไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังไม่เกิดขึ้น ทั้งนี้ โดยปกติธรรมชาติของร่างกายเมื่อได้รับเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งภูมิคุ้มกันจะเกิดหลังจากมีอาการประมาณ 5 - 7 วัน โดยการตรวจดังกล่าว อย.อนุญาตใช้เฉพาะสถานพยาบาล ต้องทำโดยบุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุขเท่านั้น

นอกจากนี้ โรงพยาบาลต่างๆ ยังเพิ่มบริการตรวจโควิด-19 แบบ Drive Thru Test เพื่อความสะดวก ปลอดภัย ไม่ต้องลงจากรถ อาทิ รพ. สินแพทย์ รามอินทรา , รพ.สินแพทย์ เทพารักษ์ , รพ. พญาไท 3 , รพ. สมิติเวช สุขุมวิท , รพ. พริ้นซ์สุวรรณภูมิ , รพ.เอกชัย สมุทรสาคร , รพ.นครธน , รพ.บางโพ , รพ.สุขุมวิท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่กำลังขยายวงกว้างในขณะนี้ ได้สร้างความกังวลต่อคนทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น การตรวจค้นหาและคัดกรองผู้ติดเชื้อได้ดำเนินการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีประชาชนบางส่วนเกิดความวิตกกังวลว่าตนเองจะได้รับเชื้อหรือไม่ จึงหันไปสั่งซื้อชุดตรวจไวรัสโควิด-19 ที่จำหน่ายในสื่อออนไลน์มาใช้เอง

นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอเตือนว่า อย่าหาซื้อชุดตรวจโควิด Rapid Test ที่ลักลอบขายผ่านออนไลน์ มาตรวจเอง เพราะเสี่ยงต่อการแปลผลที่ผิดพลาด เนื่องจากชุดตรวจโควิด แบบ Rapid Test เป็นการตรวจหาภูมิต้านทาน ไม่ได้เป็นการตรวจหาเชื้อ ดังนั้น จึงต้องได้รับเชื้อในระยะเวลาหนึ่งถึงจะตรวจพบภูมิต้านทาน หากเพิ่งได้รับเชื้อจะตรวจไม่พบในทันที จึงเป็นข้อจำกัดของชุดตรวจชนิดนี้ ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการตรวจและแปลผลโดยผู้เชี่ยวชาญหรือนักเทคนิคการแพทย์เท่านั้น

160995544486

“ไม่แนะนำให้ใช้โดยทั่วไป และบางครั้งตรวจแล้วคิดว่าตัวเองปลอดภัยก็อาจทำตัวตามปกติ เอาเชื้อไปติดคนอื่นต่อได้ อาจส่งผลทำให้การระบาดของโรครุนแรงยิ่งขึ้นจากการแปรผลที่ผิดพลาด รวมถึงมีโอกาสที่เกิดผลลวงได้ ชุดตรวจ Rapid Test โควิด-19 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องขายเฉพาะแก่สถานพยาบาล หรือผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น และจะต้องจัดทำรายงานการขาย ให้ อย. ทราบ”

“สำหรับประชาชนที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง หรือ สัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือมีอาการไข้สูงเกินกว่า 37.5 องศา อ่อนเพลีย มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ ท้องเสีย สูญเสียการได้กลิ่นและรับรสชั่วคราว หอบเหนื่อย ขอให้ไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล ภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อดำเนินการตรวจวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องต่อไป” รองเลขาธิการฯ อย. กล่าว

ข้อมูลจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า ปัจจุบัน ห้องปฏิบัติการและเครือข่ายตรวจ SARS-CoV-2 ที่ผ่านการรับรองการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการจาก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ มีจำนวนทั้งสิ้น 247 แห่ง แบ่งเป็น “กรุงเทพและปริมณฑล 91 แห่ง” (ภาครัฐ 38 แห่ง, ภาคเอกชน 53 แห่ง) และ “ต่างจังหวัด 156 แห่ง” (ภาครัฐ 126 แห่ง, ภาคเอกชน 30 แห่ง)

จำนวนการตรวจโควิด-19 ทั้งภาครัฐและเอกชน (ข้อมูลจาก 176 แห่ง) ตั้งแต่เริ่มมีการเปิดให้บริการ – 1 ม.ค. 64 รวมการตรวจสะสมทั้งสิ้น 1,657,402 ตัวอย่าง สำหรับน้ำยาคงคลัง (ตัวอย่าง) ณ วันที่ 1 ม.ค. 64 ได้แก่ RNA extraction จำนวน 379,465 ตัวอย่าง และ RT-PCR จำนวน 501,385 ตัวอย่าง

ทั้งนี้ ประชาชนที่เข้าเกณฑ์ต้องตรวจเชื้อโควิด-19 ฟรี ได้แก่ ผู้ที่มีความเสี่ยง ซึ่งเดินทางมาจากเขตติดโรค พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง ประกอบอาชีพที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เดินทางมาจากเขตติดโรค / พื้นที่ที่มีการระบาดต่อเนื่อง มีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยสงสัย/ผู้ป่วยยืนยัน หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน โดยมีอาการทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ น้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส สามารถไปตรวจได้ที่ โรงพยาบาล ตามสิทธิที่เลือกรักษา เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิบัตรทอง ฯลฯ โดยโรงพยาบาลจะทำการเก็บตัวอย่างจากคอ โพรงจมูก และส่งตัวอย่างไปตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือเครือข่ายห้องแล็บที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รับรอง

สำหรับประชาชนทั่วไป ที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง หรือ มีความกังวลต้องการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเอง สามารถเข้ารับบริการได้ทั้ง รพ.ของรัฐและเอกชน โดยค่าตรวจหาเชื้อโควิด-19 รพ.รัฐ ราคาอยู่ที่ประมาณ 1,500 – 8,000 บาท รพ.เอกชน ราคาอยู่ที่ประมาณ 2,500 – 8,000 บาท

สามารถค้นหารายชื่อห้องปฏิบัติการเครือข่ายที่ผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการ เครือข่ายตรวจ SARS-CoV-2 จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทางออนไลน์ ในเว็บไซต์ https://service.dmsc.moph.go.th/labscovid19/

160995544562