จ่อชง 'สุพัฒนพงษ์' ชี้ขาด สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้หรือไม่

จ่อชง 'สุพัฒนพงษ์' ชี้ขาด สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้หรือไม่

คณะกรรมการ SEA เตรียมเสนอ “สุพัฒนพงษ์” ช่วงไตรมาส1 ปีนี้ ตัดสินใจสร้างหรือไม่โรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ นัดถกร่วมกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 12 ม.ค.นี้ สรุปข้อมูลให้ตกผลึก

นายธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และกรรมการในคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยว่า คณะกรรมการ SEA คาดว่า จะสามารถนำเสนอ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ เพื่อพิจารณาผลการศึกษาโครงการฯ และนำไปสู่การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับความเหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยในอนาคตว่าควรจะดำเนินการอย่างไร

หลังจากทางศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ ได้มีการรวบรวมความเห็นจากการเปิดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่ภาคใต้ 10 พื้นที่แล้ว และคณะกรรมการ SEA มีหน้าที่กำกับการทำงานนิด้า ในการจัดรับฟังความเห็นของประชาชน ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง พร้อมรวบรวมความเห็นจากการเปิดเวทีรับฟังความเห็นเพื่อเสนอกระทรวงพลังงาน นำไปประกอบการตัดสินใจ

“ส่วนตัวเห็นว่า หากพิจารณาตามเทรนด์โลกโรงไฟฟ้า จะมุ่งเน้นไปที่เชื้อเพลิงสะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานสีเขียว (Green Energy) และก๊าซธรรมชาติ แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าทั่วโลกลดลง แต่พลังงานสีเขียวกลับขยายตัวเพิ่มขึ้น”

160992900879

นายพณวรรธน์ พงศ์ประยูร ประธานกลุ่มพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนเทพา กล่าวว่า คณะกรรมการ SEA กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในวันที่ 12 ม.ค.นี้ เพื่อนำความคิดเห็นของทุกฝ่ายมาสรุปให้เกิดความชัดเจน โดยเน้นตอบโจทย์หลัก 4 ด้าน คือ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและ สุขภาพชุมชน อีกทั้งข้อมูลต่างๆ ควรตกผลึกภายใต้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับ ไม่ควรเป็นการกล่าวอ้างข้อมูลตามความรู้สึก

160992902522

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวก่อนหน้านี้ว่า การจัดทำแผนบูรณาการพลังงานระยะยาว หรือ Thail Integrated Energy Blueprint (TEIB) ที่จะจัดรับฟังความคิดเห็นภายในเดือนมี.ค.2564 เบื้องต้น แผนฯดังกล่าว จะไม่มีการเพิ่มสัดส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหิน(โรงใหม่) ขณะเดียวกันจะพิจารณาปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่าทั้งก๊าซฯ และถ่านหิน ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ออกจากระบบเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นระบบ ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับสูง 30-40% ของกำลังผลิตไฟฟ้า จากระดับที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 15-20%