สธ.คาดอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้ายังพบโควิด-19 เพิ่มขึ้น

สธ.คาดอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้ายังพบโควิด-19 เพิ่มขึ้น

สธ.คาดอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้ายังมีการแพร่กระจายโควิด-19 เพิ่มขึ้นในจังหวัดที่พบผู้ป่วยแล้ว กำชับยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรค แนะคนไทยช่วยตัดวงจรระบาดได้ ทำ 4 ข้อสำคัญ

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที 6 ม.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) แถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ว่า ประเทศไทยมีผู้ติดโควิด-19 รักษาอยู่ในรพ.3,585 ราย ในจำนวนนี้อาการหนัก 16 ราย มีการพบผู้ติดเชื้อแล้วใน 56 จังหวัด แต่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลและภาคตะวันออกเป็นหลัก ในจังหวัดอื่นๆพบผู้ติดเชื้อ 1-2 ราย มีผู้ที่สัมผัสเสี่ยงสูงติดต่อไปบ้างแต่คุมได้ และยังไม่แพร่กระจายออกไป สถานการณ์ภาพรวมพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แต่ค่อนข้างชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ยังประมาทไม่ได้ จะต้องมีการเฝ้าระวัง ป้องกันและค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชนอย่างต่อเนื่องต่อไป


นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า การป้องกันโควิด-19 ในแต่ละระยะของการติดเชื้อ จะเริ่มจากมี 1.ผู้ติดเชื้อ ถ้าใส่หน้าหน้ากากอนามัยจะทำให้เชื้อถูกกักไว้ที่หน้ากาก เมื่อเว้นระยะห่างจากบุคคลอื่น 1-2 เมตร โอกาสติดเชื้อต่อก็จะไม่มี รวมถึงลดกิจกรรมและลดการเดินทางด้วย 2.ผู้สัมผัส คือ ผู้ที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อ ป้องกันโดยการฉีดวัคซีน ล้างมือบ่อยๆ ป้องกันการรับเชื้อจากสัมผัสสารคัดหลั่งที่ปนเปื้อนตามจุดสัมผัสต่างๆ สแกนหมอชนะหรือไทยชนะ เพื่อจะติดตามตัวได้ทันท่วงที 3.ผู้อยู่ในระยะฟักตัว จะป้องกันโดยการกักกันโรค ค้นหาและตรวจทางห้องปฏิบัติการจะได้ตรวจเจอเร็ส ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อต่อ 4.ผู้ป่วย กรณีมีอาการ ตรวจแล็ปแลเเข้าสู่ระบบรักษา กรณีไม่มีอาการต้องค้นหาเชิงรุก เพราะกลุ่มนี้เมื่อไม่มีอาการก็จะไม่เข้ามารักษาในรพ. และ 5.ผู้ติดเชื้อหายป่วยไม่แพร่เชื้อต่อและมีภูมิคุ้มกัน หรือเสียชีวิต


"การตัดวงจรการระบาดของโรคเกิดขึ้นได้ในทุกช่วง ถ้าทำได้ครบถ้วนโรคก็ไม่แพร่ ดังนั้น ทุกคนสามารถตัดวงจรการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ตั้งแต่ขั้นตอนแรก ที่เป็นขั้นตอนปฐมภูมิของผู้ติดเชื้อ ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เว้นระยะห่างจากบุคคลอื่น 1-2 เมตร ลดกิจกรรมและลดการเดินทาง ถ้าทำสิ่งเหล่านี้ได้ดี การป้องกันในจุดอื่นๆแทบไม่จำเป็น" นพ.โอภาสกล่าว


นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีที่มีระบุถึงการตรวจพบแรงงานของโรงงานแห่งหนึ่งในจ.สมุทรสาคร ของบริษัท พัทยาฟู้ด ประเทศไทย จำกัด ซึ่งบริษัทออกแถลงการณ์แล้วจึงขอระบุชื่อ โดยมีการตรวจคัดกรองเชิงรุกแรงงาน 3,000 คน พบติดโควิด-19 จำนวน 900 คนนั้น เป็นรายเก่าซึ่ง สธ.ผ่านศบค.ได้รายงานไปแล้วเมื่อ2-3วันก่อน ที่มีการรายงานพบผู้ติดเชื้อในจ.สมุทรสาครกว่า500 รายและกว่า400ราย ทั้งนี้ ภาพรวมผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ในการดูแลจึงจะมีการแยกระหว่างผู้ติดเชื้อและผู้ที่ไม่ติดเชื้อไม่ให้ปะปนกัน โดยโรงงานจะมีการตั้งรพ.สนามเพื่อนำผู้ติดเชื้อไปดูแล หากไม่มีอาการป่วยและครบ 10 วันแล้วก็จะไม่แพร่เชื้อ ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าผู้ติดเชื้อจะต้องอยู่ในระยะแพร่เชื้อแล้วเท่านั้น ถึงจะอนุญาตให้กลับสู่ชุมชน




"ในส่วนของผลิตภันฑ์ที่ผลิตจากที่นี่นั้น โรงงานแห่งนี้มีระบบฆ่าเชื้อในผลิตภัณฑ์ที่ดำเนินการดีอยู่แล้ว โดยใช้ความร้อน ซึ่งก็สามารถฆ่าเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19ได้ ส่วนจุดที่ภพคนติดเชื้อก็จะแยกและทำความสะอาด โดยทั้งหมดอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของกระทรวงสาธารณสุข หากไม่มั่นใจ จะไม่ยอมให้หลุดออกมา" นพ.โอภาสกล่าว


ด้านนพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ปฏิบัติหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แนวโน้มจำนวนผู้ติดโควิด-19ในประเทศไทยยังเพิ่มขึ้น ภายหลังจากพบการติดเชื้อที่ตลาดกลางกุ้งจ.สมุทรสาคร สาเหตุมาจากแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2563 ต่อมาพบการระบาดในคนไทยที่เกี่ยวข้องกับบ่อนการพนันที่จ.ระยอง ชลบุรีจันทบุรี ตราด สระแก้วและล่าสุดคลัสเตอร์ใหม่บ่อนไก่ที่จ.อ่างทอง เกิดขึ้นในช่วง1-5ม.ค.2564 โดยพบผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์นี้แล้ว 76 ราย แยกเป็นอ่างทอง 59 ราย สิงห์บุรี 4 ราย อยุธยา 4 ราย ลพบุรี 4 ราย สุพรรณบุรี 2 ราย นนทบุรี 1 รายและขอนแก่น 2 ราย ชายมากกว่าหญิง 5 เท่า และ1ใน3 มีอาการ นอกจากนี้ ยังพบผู้ติดเชื้อในสถานบันเทิงและร้านอาหารในกรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑล เชื่อมโยงกับการระบาดที่จ.สมุทรสาครและจังหวัดในภาคตะวันออก

"ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในช่วงปีใหม่เป็นต้นมา เป็นการติดเชื้อในคนไทย ซึ่งกระจายไปหลายจังหวัดขณะนี้อยู่ที่ 56 จังหวัด คาดการณ์ว่าระยะ 2 สัปดาห์ข้างหน้ายังมีการแพร่กระจายของเชื้อเพิ่มขึ้นในจังหวัดที่พบผู้ป่วยแล้ว จึงจำเป็นต้องยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคและมาตรการทางสังคมเพื่อสกัดกั้นการแพร่เชื้อ ซึ่งเป้าหมายหลักคือป้องกันการเสียชีวิตจากโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงและทำให้ระบบการแพทย์และสาธารณสุขสามารถดูแลประชาชนได้ต่อเนื่อง"นพ.โสภณกล่าว