คาดการณ์สถานการณ์"ราคาน้ำมันดิบ"ในปี 2564 และสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในปี 2563

คาดการณ์สถานการณ์"ราคาน้ำมันดิบ"ในปี 2564 และสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในปี 2563

“ราคาน้ำมันดิบปี 2564 มีแนวโน้มปรับเพิ่ม หลังความต้องการใช้น้ำมันเติบโตจากการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว”

ภาวะตลาดน้ำมันดิบและคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 2564

ในปี 2564 คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 45 - 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดคาดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลาย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันโลกมีแนวโน้มขยายตัวที่ 5.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน (สำนักงานพลังงานสากล-IEA รายงาน ณ เดือนธันวาคม 2563) ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ร้อยละ 5.2 (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ-IMF รายงาน ณ เดือนตุลาคม2563) โดยเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะฟื้นตัวมาจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา รวมทั้งการผ่อนปรนมาตรการควบคุมพื้นที่เพื่อจำกัดการระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ การพัฒนาวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความคืบหน้าไปในทิศทางที่ดี โดยข้อมูลล่าสุดบริษัท Pfizer-BioNTech และบริษัท Moderna ได้รายงานผลการทดสอบวัคซีนต้านโควิด-19 ว่าให้ประสิทธิภาพการป้องกันไวรัสได้สูงมากกว่าร้อยละ 94 ทั้งนี้ ประเทศสหราชอาณาจักร แคนาดา และสหรัฐฯ ได้เริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนแล้วในเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2563 ส่งผลให้ตลาดเชื่อมั่นมากขึ้นว่าความต้องการใช้น้ำมันจะฟื้นตัวได้จริง หากวัคซีนให้ประสิทธิภาพที่ดีและมีเพียงพอต่อประชากรทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบในปี 2564 ยังถูกกดดันจากอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตรมีแผนปรับลดกำลังการผลิตน้อยลงเพื่อสอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำมันที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยผลการประชุมของกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตรเมื่อวันที่ 3 – 4 ธันวาคม 2563 มีข้อตกลงปรับระดับการลดการผลิตจาก 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม 2563 ไปอยู่ที่ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนมกราคม 2564 และมีแผนการประชุมรายเดือนต่อไปเพื่อพิจารณาลดระดับการปรับลดกำลังการผลิตตามความต้องการใช้น้ำมันที่ฟื้นตัว ขณะที่ อุปทานน้ำมันจากประเทศนอกกลุ่มโอเปค เช่น ประเทศนอร์เวย์และบราซิล มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นราว 0.53 ล้านบาร์เรลต่อวัน เช่นกัน

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบปี 2563

ราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2563 เฉลี่ยที่ระดับ 42.2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลงจากราคาเฉลี่ยในปี 2562 ที่ระดับ 64 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมากต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งการบริโภค การลงทุน รวมถึงการผลิตและการส่งออก ทำให้เศรษฐกิจหลายประเทศทั้งในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาเข้าสู่สภาวะถดถอย โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปี 2563 หดตัวที่ร้อยละ 4.4 (รายงาน ณ เดือนตุลาคม 2563) ซึ่งต่ำกว่าในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ทั่วโลก (The Great Depression) ในปี 2473 ที่เศรษฐกิจโลกหดตัวที่ร้อยละ 4.3 โดยเศรษฐกิจที่อ่อนแอส่งผลกระทบโดยตรงต่อความต้องการใช้น้ำมันโลก ซึ่งสำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 2563 หดตัวที่ระดับ 8.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เติบโตประมาณ 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน (รายงาน ณ เดือนธันวาคม 2563) ประกอบกับ ตลาดยังถูกกดดันจากการปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบจากประเทศลิเบีย หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียกลับมาเปิดดำเนินการแหล่งผลิตน้ำมันดิบและท่าส่งออกน้ำมันอีกครั้งเนื่องจากบรรลุข้อตกลงระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้ขัดแย้ง โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 0.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายน 2563 มาแตะที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2563 นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั้งบนเรือ (Floating) และบนบก (on shore) อยู่ในระดับสูงมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังบนบกทั่วโลก ณ เดือน พฤศจิกายน 2563 สูงกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 300 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากการร่วมมือปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคและประเทศพันธมิตรที่ระดับ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2563 และที่ระดับ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม 2563 ซึ่งถือว่าช่วยรักษาสมดุลตลาดน้ำมันไม่ให้อุปทานโลกล้นตลาดมากนัก