'อีไอซี' ลดเป้าส่งออกปีหน้า เหตุ 'โควิด-บาทแข็ง'

'อีไอซี' ลดเป้าส่งออกปีหน้า เหตุ 'โควิด-บาทแข็ง'

“อีไอซี” ลดประมาณการส่งออกไทยปี 2564 จากโต 5.3% เหลือ 4.7% เหตุโควิดระบาดระลอกใหม่ และ สหรัฐขึ้นบัญชีเงินบาท ทำให้แบงก์ชาติแทรกแซงยากขึ้น

ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) นำโดย ดร. กําพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านเศรษฐกิจ และตลาดการเงิน อีไอซี พนันดร อรุณีนิรมาน ตำแหน่ง นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส อีไอซี และ พิมพ์ชนก โฮว นักวิเคราะห์ อีไอซี วิเคราะห์การส่งออกไทยในเดือนพ.ย.2563 แลทิศทางการส่งออกไทยในปี 2564


ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของอีไอซี มองว่า มูลค่าส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2020 หดตัวชะลอลงที่ -3.6%YOY ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนที่มีการปิดซ่อมโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ และผลจากสงครามการค้าที่รุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าแบบหักผลทางฤดูกาล (%mom_sa) พบว่าการส่งออกในเดือนล่าสุดหดตัวเล็กน้อยที่ -0.3% mom_sa สะท้อนว่าการฟื้นตัวยังค่อนข้างทรงตัวในช่วงหลัง

ในระยะข้างหน้า การฟื้นตัวของการส่งออกจะพบกับอุปสรรคในระยะสั้นจากผลกระทบการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 ในต่างประเทศ ซึ่งจะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่การระบาดรอบใหม่ในไทยอาจกระทบต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยในระยะสั้น
นอกจากนี้ การส่งออกไทยยังประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งมีแนวโน้มกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกไทยในช่วงปลายปี 2020 ต่อเนื่องไปยังไตรมาสแรกของปี 2021 รวมถึงค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากกว่าคู่ค้าและคู่แข่ง ก็จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดัน
ขณะที่ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2020 การส่งออกในภาพรวมหดตัวที่ -6.9%YOY และเมื่อหักทองคำและการส่งกลับอาวุธไปสหรัฐฯ การส่งออกจะหดตัวสูงขึ้นเป็น -9.5%YOY การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน การป้องกันสุขภาพ สินค้าเกษตร รถยนต์และเครื่องจักรกลขยายตัว ในขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันหดตัว


การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบพลิกกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 9 เดือนที่ 10.3%YOY โดยตลาดสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ออสเตรเลีย (42.1%YOY) ญี่ปุ่น (100.8%YOY) และสหรัฐฯ (68.3%YOY)


การส่งออกสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวที่ 6.9%YOY หลังจากหดตัว -3.3%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าเกษตรสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว (16.7%YOY) ยางพารา (32.5%YOY) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (14.0%YOY) และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง (6.5%YOY)


การส่งออกเครื่องจักรกลและส่วนประกอบขยายตัวที่ 1.6%YOY หลังจากหดตัวติดต่อกัน 6 เดือน โดยตลาดสำคัญที่ขยายตัว อาทิ สหรัฐฯ จีน และเวียดนาม


สินค้าส่งออกที่เกี่ยวข้องกับการอยู่อาศัยและทำงานที่บ้าน และการป้องกันสุขภาพมีการขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (17.0%YOY) เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ (22.2%YOY) เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน (10.8%YOY) โทรศัพท์และอุปกรณ์ (35.5%YOY) และผลิตภัณฑ์ยาง (13.3%YOY) โดยถุงมือยางขยายตัวเร่งขึ้นที่ 191.9%YOY


อย่างไรก็ดี การส่งออกเครื่องอิเล็กทรอนิกส์พลิกกลับมาหดตัวที่ -1.4%YOY โดยเครื่องอิเล็กทรอนิกส์สำคัญที่หดตัว อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (-7.4%YOY) อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด (-6.1%YOY) และแผงวงจรไฟฟ้า (-8.2%YOY)


การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรหดตัวที่ -12.2%YOY หลังจากหดตัว -14.1%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (-3.3%YOY) เครื่องดื่ม (-8.7%YOY) และน้ำตาลทราย (-74.1%YOY)


การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันยังมีการหดตัวต่อเนื่อง จากราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา โดยมูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปหดตัวที่ -19.6%YOY ในขณะที่การส่งออกเคมีภัณฑ์และพลาสติกหดตัวที่ -3.7%YOY


ด้านการส่งออกรายตลาด พบว่าการส่งออกไปสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลียขยายตัว ขณะที่การส่งออกไปตลาดสำคัญอื่นหดตัว
การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ที่ 15.4%YOY หลังจากขยายตัว 17.0%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (12.8%YOY) ผลิตภัณฑ์ยาง (33.3%YOY) และรถยนต์และส่วนประกอบ (68.3%YOY)


การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นพลิกกลับมาขยายตัวที่ 5.4%YOY หลังจากหดตัวติดต่อกัน 6 เดือน โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ (100.8%YOY) เคมีภัณฑ์ (72.3%YOY) และโทรศัพท์และอุปกรณ์ (34.4%YOY)

การส่งออกไปออสเตรเลียขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 24.3% หลังจากขยายตัว 6.9%YOY ในเดือนก่อนหน้า สินค้าหลักที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ (42.1%YOY) อัญมณีและเครื่องประดับ (114.6%YOY) และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ (53.0%YOY)

160873000444

อย่างไรก็ดี การส่งออกไปจีนหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ -8.9%YOY หลังจากหดตัว -6.1%YOY ในเดือนตุลาคม โดยสินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เม็ดพลาสติก (-8.8%YOY) คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (-16.2%YOY) และผลิตภัณฑ์ยาง (-28.5%YOY) เป็นต้น
การส่งออกไปตลาดอาเซียน 5 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ที่ -15.0%YOY หลังจากหดตัว -27.2%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าหลักที่หดตัว อาทิ รถยนต์และส่วนประกอบ (-24.9%YOY) น้ำมันสำเร็จรูป (-35.5%YOY) และเคมีภัณฑ์ (-18.5%YOY)
การส่งออกไปตลาด CLMV หดตัวชะลอลงที่ -13.0%YOY หลังจากหดตัว -17.0%YOY ในเดือนก่อนหน้า สินค้าสำคัญที่หดตัว ประกอบด้วย อัญมณีและเครื่องประดับ (-78.2%YOY) น้ำมันสำเร็จรูป (-11.9%YOY) และเครื่องดื่ม (-14.3%YOY)


ขณะที่การส่งออกไปสหภาพยุโรป 15 หดตัวในอัตราเร่งขึ้นที่ -8.5%YOY หลังจากหดตัว -0.4%YOY ในเดือนตุลาคม สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (-3.3%YOY) อัญมณีและเครื่องประดับ (-34.1%YOY) และแผงวงจรไฟฟ้า (-15.7%YOY)
การส่งออกไปตลาดอินเดียพลิกกลับมาหดตัวที่ -1.3%YOY หลังจากขยายตัวสูงถึง 13.7%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าที่หดตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ (-29.9%YOY) และเคมีภัณฑ์ (-25.7%YOY)


ด้านมูลค่านำเข้าในเดือนพฤศจิกายนหดตัวชะลอลงเป็น -1.0%YOY หลังจากหดตัว -14.3%YOY ในเดือนก่อนหน้า โดยการนำเข้าสินค้าในเกือบทุกหมวดหดตัวในอัตราชะลอลง ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง (-9.8%YOY) สินค้าทุน (-2.5%YOY) สินค้าอุปโภคบริโภค (-7.7%YOY) และยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง (-8.3%YOY) ในส่วนของการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปกลับมาขยายตัวที่ 5.9%YOY แต่การขยายตัวเกิดจากการนำเข้าทองคำที่ขยายตัวสูงที่ 66.1%YOY โดยหากหักทองคำ การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปหดตัวอยู่ที่ -2.0%YOY สำหรับมูลค่า


ทีมวิเคราะห์ระบุว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายนที่หดตัวชะลอลงส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยฐานต่ำ โดยหากพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าแบบหักผลทางฤดูกาล (%mom_sa) พบว่าการส่งออกในเดือนล่าสุดหดตัวเล็กน้อย ที่ -0.3%mom_sa สะท้อนว่าการส่งออกฟื้นตัวชะลอลงในช่วงหลัง แต่เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าการหดตัวกลับลดลงเนื่องจากปัจจัยฐานต่ำในเดือนพฤศจิกายน 2019 ที่มีการปิดซ่อมโรงกลั่นน้ำมันขนาดใหญ่ ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน รวมถึงได้รับผลจากสงครามการค้าที่รุนแรงเพิ่มขึ้น (trade war escalation) ในช่วงปลายปีที่แล้ว


สำหรับแนวโน้มการส่งออกปี 2564 การฟื้นตัวของการส่งออกจะพบกับอุปสรรคในระยะสั้นจากผลกระทบการระบาดรอบใหม่ของ COVID-19 ทั้งในต่างประเทศและไทย โดยในระยะหลัง หลายประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จึงทำให้ต้องกลับมาใช้มาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดอีกครั้ง จึงอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า น นอกจากนี้ การกลับมาระบาดในประเทศไทย โดยเฉพาะในเขตพื้นที่สมุทรสาคร อาจส่งผลต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทย เนื่องจากอาจประสบปัญหาด้านแรงงาน (เมียนมา) ขาดแคลน และความเชื่อมั่นที่อาจลดลงของประเทศคู่ค้าต่ออาหารทะเลส่งออกของไทยที่อาจปนเปื้อน COVID-19

นอกจากนี้ การส่งออกไทยยังประสบปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งมีแนวโน้มกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคส่งออกไทยในช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องไปยังไตรมาสแรกของปี 2564 โดยในปัจจุบันตู้คอนเทนเนอร์ได้ค้างอยู่ที่กลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก เนื่องจากการปิดเมืองในช่วงก่อนหน้า และการส่งออกที่น้อยลงของกลุ่มประเทศในยุโรปและสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนในกลุ่มประเทศเอเชียซึ่งเป็นผู้ส่งออกหลัก ซึ่งการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวทำให้อัตราค่าระวางเรือปรับเพิ่มสูงขึ้นมากรวมถึงใช้เวลานานขึ้น
ในการจัดหาตู้เพื่อการส่งออก จึงมีแนวโน้มทำให้การฟื้นตัวของการส่งออกช้าลงกว่าที่เคยคาดไว้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 อีไอซีจึงคาดว่าการส่งออกในปี 2021 จะฟื้นตัวอย่างช้า ๆ โดยจะขยายตัวที่ 4.7% ซึ่งลดลงจากคาดการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 5.3%

ในส่วนของค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าเร็วกว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่ง ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันการส่งออกของไทยในปี 2564 โดยคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่า ประกอบกับการที่เงินจะไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ รวมถึงไทยจะทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าเพิ่มขึ้น ประกอบกับการที่ไทยถูกสหรัฐฯ จัดเป็น monitoring list อาจทำให้ตลาดกังวลว่า ธปท.จะเข้าดูแลค่าเงินบาทได้น้อยลง จึงอาจเป็นปัจจัยเพิ่มแรงกดดันการแข็งค่าของเงินบาทเร็วกว่าประเทศคู่ค้าและคู่แข่งได้


การแข็งค่าของเงินบาทจะส่งผลโดยตรงต่อกำไรของผู้ส่งออก โดยเฉพาะผู้ส่งออกที่มีการใช้วัตถุดิบในประเทศ (local content) มาก (เช่น ผู้ส่งออกสินค้าเกษตร เป็นต้น) เนื่องจากไม่ได้รับประโยชน์จากการแข็งค่าของเงินบาทผ่านต้นทุนที่ลดลงของวัตถุดิบนำเข้า