‘บิ๊กป้อม’ หวังหัวโต๊ะปรองดอง ‘ส.ว.’ ชิงเก้าอี้ฝุ่นตลบ

‘บิ๊กป้อม’ หวังหัวโต๊ะปรองดอง  ‘ส.ว.’ ชิงเก้าอี้ฝุ่นตลบ

กระบวนการสร้างความปรองดองแค่เริ่มต้นก็ดูเหมือนกันเต็มไปด้วยการขัดแข้งขัดขา แล้วอย่างนี้ปลายทางจะเห็นแสงสว่างได้อย่างไร เพราะทั้งรัฐบาลและส.ว.ต่างชิงไหวชิงพริบกันทั้งสิ้น

กระบวนการสร้างความปรองดองกำลังเดินไปแบบกระท่อนกระแท่น โดยปรากฎให้เห็นชัดเจนแล้วสองส่วน เริ่มตั้งแต่กรณีที่ฝ่ายค้านสงวนท่าทีในการส่งตัวแทนเข้ามานั่งในกรรมการสมานฉันท์ ภายหลังมีมติจะไม่เข้าร่วมขบวนการสมานฉันท์ จนทำให้ 'ชวน หลีกภัย' ต้องหาโอกาสหารือกับ 'สมพงษ์ อมรวิวัฒน์' ผู้นำฝ่ายค้าน พยายามโน้มน้าวเพื่อให้ฝ่ายค้านเปลี่ยนใจให้ได้

อีกส่วนเห็นจะเป็นการที่ยังไม่มีเสียงตอบรับจากตัวแทนกลุ่มผู้ชุมนุมที่จะตอบรับเข้าร่วมกระบวนการปรองดองครั้งนี้ ทำให้ประธานสภายอมรับสภาพกลายๆว่าถ้าถึงที่สุดแล้วมีคนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสมานฉันท์ได้แค่ไหนก็ทำแค่นั้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่กำลังน่าจะเป็นที่ปวดหัวของ 'ชวน หลีกภัย' ไม่แพ้กัน คือ ความจริงใจของฝ่ายรัฐบาลในการส่งชื่อบุคคลเข้ามาร่วมคณะกรรมการสมานฉันท์ เพราะล่าสุดมีการปีนเกลียวกันพอสมควร

เดิมทีฝ่ายรัฐบาลมีโควต้าสองคนที่จะเข้ามานั่งในกรรมการปรองดอง โดยตกลงกันเบื้องต้นว่าหนึ่งเก้าอี้จะเป็นของ 'เทอดพงษ์ ไชยนันทน์' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แต่กลับมาถูกหักจากรัฐบาลด้วยการพยายามยัดชื่อ 'สุภรณ์ อัตถาวงศ์' ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี และ 'ธนกร หวังบุญคงชนะ' เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พอมีชื่อออกมามีรายงานจากทีมที่ปรึกษาประธานสภาฯว่าสร้างความไม่พอใจกับประธานสภาฯอย่างเห็นได้ชัด

การปีนเกลียวครั้งนี้ส่วนหนึ่งเกิดมาจากกรณีที่รัฐบาลพยายามโยนเหรียญถามทางว่าถ้าจะเสนอชื่อ 'บิ๊กป้อม' พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ที่รัฐสภาจะตั้งขึ้นนั้นจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ ปรากฏว่าทีมงานประธานสภาต่างส่ายหัวกับความคิดนี้           

แม้ในแง่หนึ่งการได้พล.อ.ประวิตร มานั่งหัวโต๊ะ ซึ่งอาจทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น โดยเฉพาะการตัดสินใจในเชิงนโยบายต่างๆที่ทำได้โดยตรง เช่น การดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มผู้ชุมนุม เป็นต้น แต่มีข้อเสียที่ต้องพิจารณาให้ดี คือ พล.อ.ประวิตร เป็นหนึ่งในคู่ขัดแย้งทางการเมือง

ประกอบกับ แนวคิดของประธานสภาและสถาบันพระปกเกล้าที่มองเห็นร่วมกันนั้นต้องการเน้นหนักในเรื่องการแสวงหาแนวร่วมและสร้างเครือข่ายเพื่อให้เกิดข้อเสนอที่ตกผลึกมากที่สุดแบบ ไม่ใช่มุ่งแต่การใช้อำนาจรัฐเพื่อแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เอง หากพล.อ.ประวิตร มานั่งหัวโต๊ะในสถานการณ์เช่นนี้อาจจะไม่เหมาะ และจะล้มเหลวเหมือนกับกระบวนการสร้างความปรองดองในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ถูกคสช.ล้วงลูกจนข้อเสนอต่างๆไม่อาจถูกผลักดันได้

เกมชักเย่อกันระหว่างสองผู้ยิ่งใหญ่ของรัฐสภาและรัฐบาลคงมีอีกนาน

การเริ่มต้นการสร้างความปรองดองไม่ได้มีปัญหาแค่กรณีข้างต้นเท่านั้น เพราะในวุฒิสภาก็มีการแย่งชิงเก้าอี้ตัวนี้เช่นกัน

กล่าวคือ เดิมทีวุฒิสภาได้โควตาสองคน โดยมีข้อตกลงร่วมกันว่าจะเสนอชื่อส.ว.ฝ่ายพลเรือนเท่านั้น เพราะหากเสนอชื่อส.ว.ฝ่ายทหารเข้าไปเกรงจะถูกครหาว่ากองทัพเข้ามาแทรกแซงการสร้างความปรองดองหรือไม่ ความชัดเจนที่สุดมีเพียงแค่การเสนอชื่อ วัลลภ ตังคณานุรักษ์ส.ว.เข้าไปนั่งเก้าอี้ตัวนี้เท่านั้นก่อน

ส่วนเก้าอี้อีกตัวเป็นการชิงดำของส.ว.ระดับประธานคณะกรรมาธิการอย่างน้อย 4 คน ระหว่าง เสรี สุวรรณภานนท์ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน สังศิต พิริยะรังสรรค์' ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ 'กล้านรงค์ จันทิก' ประธานคณะกรรมาธิการกิจการองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และ 'สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ' ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญการพิทักษ์และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

กระบวนการสร้างความปรองดองแค่เริ่มต้นก็ดูเหมือนกันเต็มไปด้วยการขัดแข้งขัดขา แล้วอย่างนี้ปลายทางจะเห็นแสงสว่างได้อย่างไร