'ผูกขาดบริการอินเทอร์เน็ต'ข้อกล่าวหาบ.เทคโนฯสหรัฐ

'ผูกขาดบริการอินเทอร์เน็ต'ข้อกล่าวหาบ.เทคโนฯสหรัฐ

บ.เทคโนฯสหรัฐเจอข้อกล่าวหาผูกขาดบริการอินเทอร์เน็ตจากยุโรป โดยเนื้อหาสำคัญของร่างกฎหมายดีเอ็มเอรวมถึงบริษัทเหล่านี้ต้องชำระค่าธรรมเนียมที่อาจสูงถึง 10% ของรายได้หมุนเวียนหากปฏิเสธปฏิบัติตามข้อบังคับทั้งหมดในกฎหมาย

ตอนนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสหรัฐกำลังเจอศึกหนักหลายด้าน ทั้งการถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมผูกขาดการให้บริการทางออนไลน์จากสหภาพยุโรป(อียู)และถูกรัฐบาลสหรัฐสั่งให้ชี้แจงเรื่องการจัดเก็บข้อมูล ส่วนคณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคและการแข่งขันของออสเตรเลีย ก็ฟ้องร้องเฟซบุ๊คและบริษัทในเครืออีก 2 แห่ง ว่ามีเจตนาชี้นำผู้บริโภคไปในทางที่ผิดด้วยการให้ดาวน์โหลดฟังก์ชันเครือข่ายส่วนตัวเสมือนหรือวีพีเอ็น ซึ่งมีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานอย่างละเอียด

คณะกรรมาธิการยุโรป (อีซี) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสภาพยุโรป (อียู) เปิดเผยร่างกฎหมาย 2 ฉบับเพื่อควบคุมบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงกูเกิล และอเมซอน เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะบิดเบือนการแข่งขันทางออนไลน์ หรือละเมิดสิทธิของผู้บริโภคด้วยการผูกขาดการบริการทางอินเทอร์เน็ต

อียูเสนอร่างกฎหมายการบริการดิจิทัล( Digital Services Act)หรือดีเอสเอ และร่างกฎหมายด้านการตลาดดิจิทัล( Digital Market Act)หรือดีเอ็มเอ ซึ่งเป็นการเสนอร่างกฎหมายควบคุมธุรกิจออนไลน์ครั้งแรก นับตั้งแต่อียูผ่านร่างกฎหมายกำกับดูแลอี-คอมเมิร์ซ ในปี 2543

เนื้อหาสำคัญของร่างกฎหมายดีเอ็มเอถือเป็นการยกเครื่องครั้งใหญ่ในรอบ 2 ทศวรรษ รวมถึง การที่บริษัทเหล่านี้ต้องชำระค่าธรรมเนียมที่อาจสูงถึง 10% ของรายได้หมุนเวียนในปีนั้นๆ หากปฏิเสธปฏิบัติตามข้อบังคับทั้งหมดในกฎหมายไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม รวมทั้งต้องระบุตัวตนของผู้ขายสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างชัดเจนเพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบตัวตนและเส้นทางการเงินของกิจการนั้นได้

นอกจากนั้น ผู้ประกอบการต้องมีความโปร่งใสในการใช้ระบบอัลกอริทึม ความรวดเร็วในการจัดการกับเนื้อหาปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชัง แต่ในเวลาเดียวกันยังต้องรักษามาตรฐานของเสรีภาพในการแสดงความเห็น และการเปิดโอกาสพร้อมทั้งรับฟังข้อติชมของผู้ใช้บริการด้วยความเป็นกลางและจริงใจ หากพบว่าไม่สามารถปฏิบัติตามได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม บริษัทแห่งนั้นอาจต้องชำระค่าปรับ ที่อาจสูงถึง 6% ของรายได้หมุนเวียนในปีนั้นๆ

ส่วนร่างกฎหมายดีเอสเอ กำหนดให้แพลตฟอร์มออนไลน์ลบรายการสินค้า การบริการ หรือเนื้อหาที่ผิดกฎหมาย และต้องแสดงความโปร่งใสมากเพียงพอในการทำโฆษณา และสร้างอัลกอริธึมที่ใช้ในการแนะนำคอนเทนต์ให้กับผู้ใช้งาน

“มาร์กาเร็ต เวสทาเกอร์” รองประธานบริหารฝ่ายกิจการดิจิทัลของอียู กล่าวว่า “ร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ มีเป้าหมายที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่า เราซึ่งอยู่ในฐานะผู้ใช้งาน ลูกค้า และนักธุรกิจ มีสิทธิเข้าถึงผลิตภัณฑ์และการบริการทางออนไลน์ที่ปลอดภัยเป็นวงกว้าง เช่นเดียวกับที่เราได้รับความปลอดภัยในการใช้บริการระบบออฟไลน์”

ในวันเดียวกัน คณะกรรมาธิการการค้ากลางของสหรัฐ ( เอฟทีซี ) ออกแถลงการณ์ว่าได้ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการถึงบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในประเทศ 9 แห่ง รวมถึงเฟซบุ๊ค กูเกิล ติ๊กต๊อก ทวิตเตอร์ และอเมซอนเพื่อให้ผู้ประกอบการแต่ละแห่งส่งมอบข้อมูลเกี่ยวกับการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลของผู้ใช้งาน การที่ผู้ดูแลระบบแสดงข้อมูล และการนำข้อมูลเหล่านั้นออกมาใช้งาน

ขณะที่ คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคและการแข่งขันของออสเตรเลีย ( เอซีซีซี ) ออกแถลงการณ์เมื่อวันพุธ(16ธ.ค.) ฟ้องบริษัทเฟซบุ๊คและบริษัทในเครืออีก 2 แห่ง คือเฟซบุ๊ค อิสราเอล และโอนาโว อิงค์ ฐานเจตนาชี้นำผู้บริโภคในทางที่ผิดด้วยการให้ดาวน์โหลดฟังก์ชันเครือข่ายส่วนตัวเสมือนหรือวีพีเอ็น ซึ่งมีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานอย่างละเอียด

ข้อมูลที่โอนาโวรวบรวมผ่านวีพีเอ็นของโอนาโว ที่มีการโฆษณาว่าไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย รวมถึงรายละเอียดส่วนบุบคล และประวัติการใช้งานเฟซบุ๊ค มีการส่งต่อเพื่อนำไปใช้สนับสนุนงานวิจัยด้านการตลาดของเฟซบุ๊ค โดยเอซีซีซีตรวจสอบแล้วพบว่า สำนักงานใหญ่ของเฟซบุ๊ค ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐ เฟซบุ๊ค อิสราเอล และโอนาโว ร่วมกันใช้ข้อมูลดังกล่าวระหว่างเดือน ก.พ. ปี2559 ถึง ต.ค. ปี2560

อย่างไรก็ตาม แม้วีพีเอ็น ที่ให้บริการโดยโอนาโวปิดตัวไปแล้วเมื่อปี 2562 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อบริการนี้ เนื่องจากหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของการที่ผู้บริโภคเลือกใช้งานวีพีเอ็น เพราะคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวบนโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เฟซบุ๊คพยายามประชาสัมพันธ์ แต่ในความเป็นจริง บริการวีพีเอ็นของโอนาโวกลายเป็นช่องทางส่งข้อมูลส่วนบุคคลถึงเฟซบุ๊ค และยังมีการนำไปใช้งานเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องชี้แจงนโยบายเกี่ยวกับการโฆษณาบนแพลตฟอร์ม การมีส่วนร่วมของผู้ใช้งาน และมาตรการของผู้ดูแลระบบ ต่อเนื้อหาที่อาจมีผลกระทบด้านลบต่อเด็กและเยาวชนด้วย

บริษัทแต่ละแห่งมีเวลา 45 วัน ในการส่งจดหมายตอบกลับ แต่ยังไม่มีบริษัทใดที่ได้รับจดหมายดังกล่าว ออกมาให้ความเห็นอย่างเป็นทางการ และเอฟทีซียังไม่มีมาตรการชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ให้ความร่วมมือ

แต่รัฐบาลในยุโรปและสหรัฐไม่ได้เคลื่อนไหวในเรื่องนี้แค่สองภูมิภาคและพุ่งเป้าเข้มงวดกวดขันกับบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐเท่านั้น ที่ผ่านมา สำนักงานกำกับดูแลตลาดของจีน (เอสเอเอ็มอาร์) ได้เผยแพร่รายละเอียดของระเบียบกำกับดูแลอุตสาหกรรมอินเทอร์เน็ตเพื่อขอรับความคิดเห็นจากสาธารณะ ซึ่งเมื่อมีการประกาศใช้จริงแล้วจะกลายเป็นกรอบการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้บริษัทขนาดเล็กๆ เข้ามาแข่งขันได้มากขึ้น