ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ธุรกิจเช่าซื้อปี 2564 แม้คาดตลาดฟื้น แต่ยังต้องติดตามคุณภาพหนี้ต่อ

ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ชี้ธุรกิจเช่าซื้อปี 2564 แม้คาดตลาดฟื้น แต่ยังต้องติดตามคุณภาพหนี้ต่อ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ธุรกิจเช่าซื้อรถเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยกระทบต่ออำนาจซื้อและทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อชะลอตัวลงค่อนข้างชัดเจนสอดคล้องกับการหดตัวของยอดขายรถยนต์ใหม่ในประเทศ


โดยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2563 ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อ (สินเชื่อ HP) ในระบบธนาคารพาณิชย์ สิ้นไตรมาส 3/2563 มีอัตราการเติบโตที่ชะลอลงมาที่ 3.5% เทียบกับ 7.7%  สิ้นปี 2562 ตามการปรับลดลงของสินเชื่ออนุมัติใหม่ และการลดลงของยอดขายรถใหม่รวมที่ -30% YoY มาที่ 5.3 แสนคัน ประกอบกับผู้ให้บริการสินเชื่อของบริษัทรถยนต์ (Captive Finance) เข้ามาทำตลาดด้วยตนเองเพิ่มขึ้นเพื่อผลักดันยอดขายรถ

ทั้งนี้ การที่ยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อยังไม่ถดถอยถึงขั้นหดตัวตามยอดรถใหม่ เนื่องจากยังมีพอร์ตสินเชื่อเดิมค้างอยู่กว่า 90% ของพอร์ตทั้งหมด ขณะที่สินเชื่อใหม่คาดว่าอยู่ที่ระดับไม่เกิน 10%   อีกทั้งมีปัจจัยพิเศษของมาตรการชะลอการชำระหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ถูกกระทบจากโควิด-19 ซึ่งมีผลต่อการตรึงยอดสินเชื่อเดิมไว้ชั่วระยะเวลา 3-6 เดือน โดยมีสินเชื่อเช่าซื้อรถที่เข้ามาตรการระยะที่ 1 สูงถึง 54%  ไตรมาส 2/2563  ก่อนจะทยอยลดลงมาที่ 31%  ไตรมาส 3/2563 ซึ่งทำให้ยอดสินเชื่อคงค้างถูกตรึงไว้แทนที่จะทยอยปรับลดลง  เฉลี่ย 5-9 พันล้านบาทต่อเดือนในไตรมาสที่ 2/2563 และอีก 3-6 พันล้านบาทต่อเดือนในไตรมาสที่ 3/2563 หากมีการชำระหนี้ตามปกติ

 

สินเชื่อเช่าซื้อรถโค้งสุดท้ายปี 2563:  ปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการตกชั้นหนี้หลังจบมาตรการชะลอหนี้  

การที่ภาคเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศและการฟื้นฟูความเชื่อมั่นต่อการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศ ทำให้อุปสงค์ในการซื้อรถใหม่และการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถรายใหม่ในช่วงที่เหลือของปีนี้ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง  3 ไตรมาสแรกของปี ดังนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดคงค้างสินเชื่อ HP ในระบบธนาคารพาณิชย์เมื่อจบปี 2563 น่าจะเติบโตสูงขึ้นมาที่ 3.7%YoY หรือ 1.194 ล้านล้านบาท จากไตรมาส 3/2563 ที่ 3.5%YoY หรือ 1.178 ล้านล้านบาท อย่างไรก็ตาม อัตราการเติบโตของยอดคงค้างสินเชื่อ HP ดังกล่าวของธนาคารพาณิชย์ ชะลอลงเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 ที่ขยายตัว 7.7% ซึ่งนอกจากจะแปรผันตามยอดขายรถยนต์แล้ว ยังมีปัจจัยเพิ่มเติมจากการที่ค่ายรถใช้ Captive Finance เป็นเครื่องมือกระตุ้นยอดขายแบรนด์ตนเองมากขึ้น ทำให้อัตราการปล่อยสินเชื่อใหม่ต่อยอดรถในระบบธนาคารมีทิศทางอ่อนตัวลงด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นติดตามยังคงเป็นเรื่องคุณภาพหนี้ หลังมาตรการชะลอการชำระหนี้ระยะแรกของธนาคารแต่ละแห่งทยอยสิ้นสุดลงในจังหวะที่แตกต่างกันในระหว่างเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม 2563 ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าความเสี่ยงที่ลูกหนี้จะไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้อาจมีสัดส่วนเฉลี่ยที่ 5-10% ของพอร์ต  ขึ้นกับคุณภาพหนี้ของธนาคารแต่ละแห่ง (ตัวเลขดังกล่าวยังไม่ใช่ตัวเลข NPL เนื่องจากยังต้องรอประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้และการบริหารจัดการของผู้ให้บริการด้วย) โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ในช่วงก่อนหน้านี้ ผู้ให้บริการมีการแข่งขันชิงส่วนแบ่งตลาดในช่วงปี 2561 ถึงต้นปี 2562 ด้วยการนำเสนอสินเชื่อเงินทอนและปรับลดเงื่อนไขการวางเงินดาวน์ ขณะที่ปัจจุบัน ลูกค้าระดับรายได้ปานกลางและน้อยยังมีความอ่อนไหวด้านรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ ทั้งนี้ ภาพดังกล่าวอาจมีผลลดทอนปัจจัยบวกจากสินเชื่อใหม่ที่เริ่มดีขึ้นตามยอดขายรถได้

แนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อรถในปี 2564: ตลาดรถฟื้นตัว แต่ปัญหาคุณภาพหนี้เป็นประเด็นติดตามต่อ

สำหรับปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อแนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ดังนี้

  • ปี 2564 แนวโน้มการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถรายใหม่มีโอกาสปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของยอดขายรถใหม่ที่คาดว่าอาจโตได้ในช่วง 7-11%YoY เป็นประมาณ 8.26-8.55 แสนคัน หลังปรับฐานหดตัวลงกว่า 20%YoY ในปี 2563 ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่าทิศทางตลาดรถที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นดังกล่าวคงหนุนการเติบโตของยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อปี 2564 ให้เติบโตได้ในกรอบประมาณ 3.7-4.5% เทียบกับปี 2563 ที่คาดว่าจะจบปีที่ประมาณ 3.7%
  • หนี้ด้อยคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้อ...ยังอาจเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายหลักที่เพิ่มขึ้นมา จากเดิมที่พอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อมีสัดส่วน NPL ค่อนข้างต่ำมาก  ขณะที่ทิศทางการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ หรือ SM (ค้างชำระ >31-90 วัน) ไตรมาส 3/2563 จากฐานข้อมูล ธปท. เป็น 9.18% จากระดับเฉลี่ย 7.2% ในช่วง 3 ปีก่อน ย้ำภาพปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้อที่น่ากังวล 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าระดับ NPL ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว น่าจะอยู่ในกรอบที่ไม่สูงนัก เนื่องจากยังมีมาตรการผ่อนปรนการจัดชั้นหนี้ของ ธปท. ช่วยอยู่ นอกจากนี้ ดัชนีราคารถมือสองที่ฟื้นตัวขึ้นในปีนี้หลังกำลังซื้อรถใหม่ลดลงตามระดับรายได้ที่ลดลง ยังเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อผู้ให้บริการในการจำหน่ายหนี้เสียออกด้วย

  • แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ...มีโอกาสทรงตัวถึงปรับตัวลดลงเล็กน้อย แต่ผลต่อการกระตุ้นยอดซื้อจำกัด โดยเฉพาะหากความเสี่ยงเศรษฐกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะเพิ่มโอกาสการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข้อเสนอด้านดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อถือว่าอยู่ในระดับต่ำมากมาตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงทำให้โอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมนี้ อาจไม่มีผลต่อการกระตุ้นการซื้อได้มากนัก  กระนั้นก็ดี ทิศทางดอกเบี้ยที่ยังผ่อนคลายคงมีส่วนช่วยด้านต้นทุนให้แก่ธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถ ทำให้มีพื้นที่ในการแข่งขันและบริหารจัดการพอร์ตสินเชื่อทั้งใหม่และเก่าได้โดยไม่มีแรงกดดันมากนัก
  • ปี 2564...คาดการแข่งขันของผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ มีแนวโน้มหวนกลับมาใช้กลยุทธ์ที่คล้ายคลึงกันมากขึ้น หลังจากที่ปี 2563 โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2-3 ที่ดำเนินกลยุทธ์แตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน โดยมีทั้งธนาคารที่ใช้ความระมัดระวังสูงและแทบไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่เลย และธนาคารที่เร่งขยายสินเชื่อใหม่ในตลาดที่ตนเองเคยเข้าไม่ถึงซึ่งเป็นช่องว่างที่เกิดขึ้นจากผู้เล่นรายใหญ่ถอนตัว รวมทั้ง Captive Finance ที่กลับมาจัดแผนสินเชื่อเชิงรุกหลายแนวทางเพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าและผลักดันยอดขายรถได้ ขณะที่ปี 2564 เมื่อตลาดผ่านช่วงตื่นตระหนกและภาวะไม่แน่นอนสูงแล้ว คาดว่าการแข่งขันด้านราคาอาจกลับมารุนแรงขึ้นในตลาดลูกค้าศักยภาพ

อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่ามุมมองต่อทิศทางการแข่งขันดังกล่าว ขึ้นกับสถานการณ์โควิด-19 และความต่อเนื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งหากสามารถจัดการให้เศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวต่อเนื่องได้ คงมีผลให้ยอดรถฟื้นตัวดังคาด และการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการเช่าซื้อกลับมารุนแรงขึ้น แต่หากสถานการณ์โควิด-19 และเศรษฐกิจกลับเป็นเชิงลบ ก็คงทำให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจอยู่ในความระมัดระวังต่อไป

โดยสรุป สำหรับในปี 2564 หากเศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างที่คาด และไม่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในระดับที่รุนแรง ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ในระบบธนาคารน่าจะเห็นอัตราการเติบโตของสินเชื่อขยับขึ้นมาที่ประมาณ 3.7-4.5% เทียบกับปี 2563 ที่คาดว่าจะจบปีที่ประมาณ 3.7% เพียงแต่ภาพดังกล่าวจะมาควบคู่กับความกังวลด้านสถานะคุณภาพหนี้ที่เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ท่ามกลางสถานการณ์รายได้และอำนาจซื้อของลูกค้าที่ยังไม่กลับสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด-19 ซึ่งคงมีผลให้ธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อาจจะยังไม่เห็นอัตราการเติบโตที่เข้าหาระดับก่อนเกิดวิกฤตภายใน 2-3 ปีข้างหน้า ตามปัจจัยหลักด้านยอดขายรถยนต์ที่คงโตแบบระมัดระวังด้วยเลขหลักเดียว

ทำให้โจทย์เฉพาะหน้าของผู้ให้บริการในภาวะนี้ อาจเห็นการทำตลาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดรถเฉพาะอุตสาหกรรม เช่น รถบรรทุก และรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ รวมถึงการแข่งขันในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนที่ยังมีโอกาสกลับมาเติบโตสูง ทั้งจากด้านดีมานด์ที่เกิดจากรอบการใช้รถเป็นระยะเวลายาวนานขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าการขอวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลทั่วไป ประกอบกับด้านซัพพลายที่ผู้ให้บริการเห็นโอกาสการขยายตลาดสินเชื่อ โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าเดิมที่ผ่อนครบสัญญาและยังได้ประโยชน์จากมาร์จิ้นที่เพิ่มขึ้นกว่าการให้สินเชื่อในตลาดรถใหม่

ขณะที่ ภาวะการแข่งขันในภาพรวม คาดว่าจะกลับมารุนแรงขึ้น โดยเฉพาะตลาดลูกค้าศักยภาพที่มีขนาดเล็กลงหลังผ่านพ้นช่วงโควิด อันทำให้ผลประโยชน์โดยรวมจากการแข่งขันนี้ คงตกอยู่กับผู้บริโภคเหล่านั้น