“ตารางหมากรุก”คอนเสิร์ตNewNormalกันโควิด-19

“ตารางหมากรุก”คอนเสิร์ตNewNormalกันโควิด-19

สธ.เผยโควิด-19 เชื่อมโยงท่าขี้เหล็กครบ 10 วัน 6จังหวัดไม่พบติดเชื้อเพิ่มเติม มีความปลอดภัยเข้าสู่ภาวะปกติ เว้นเชียงรายยังพบคนติดแต่อยู่ในที่กักกัน แนะจัดกิจกรรม ใช้รูปแบบตารางหมากรุก แยกลุ่มคนเข้าร่วม “บิ๊กเมาน์เท่น”ความเสี่ยงกว่าสนามมวยลุมพินี10เท่า

      เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2563  ที่กระทรวงสาธารณสุข  ในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่เชื่อมโยงกับจังหวัดท่าขี้เหล็ก ผ่านมา 10 วันแล้ว ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มที่จังหวัดเชียงใหม่ พะเยา กรุงเทพ พิจิตร ราชบุรี และสิงห์บุรี ซึ่งเป็นตัวยืนยันว่าจังหวัดเหล่านี้มีความปลอดภัยเข้าสู่ระบบปกติแล้ว ดังนั้นไม่มีต้องกังวลกับดังกล่าว ส่วนที่จังหวัดเชียงรายที่ยังมีรายงานผู้ป่วยอยู่นั้น ทั้งหมดอยู่ในสถานที่กักกันของรัฐ โดยข้อมูลจนถึงวันนี้ มีรายงานผู้ป่วย 52 ราย มี 45 รายที่อยู่ในสถานที่กักกันอยู่แล้ว และตอนนี้มีพบติดเชื้ออีก 3 ราย รอผลแล็บยืนยันอีกครั้งก่อนประกาศรายงานเข้าระบบ แต่ทั้ง 3 รายก็อยู่ในสถานที่กักตัว
     “ขณะนี้ สถานการณ์จากท่าขี้เหล็กถือว่ามีความปลอดภัยแล้ว ขอให้ทุกคนปฏิบัติตัวตามปกติ แต่ขอให้การสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ความสำเร็จนี้เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย แต่ยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ชายแดนที่เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งมาเลเซีย ลาว กัมพูชาและเมียนมา ต่อไปอีกระยะ ทั้งนี้ตอนนี้เมืองไทยสวยงาม ประชาชนสามารถท่องเที่ยวได้ตามปกติ แต่ต้องเน้นย้ำอีกครั้งเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ 

      ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงอานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงผลการสวนโรคเพิ่มเติมในกลุ่มบุคลากรการแพทย์ที่ติดเชื้อกันเอง หลังจากมีบุคลากรการแพทย์ 1 ราย ติดเชื้อจากการปฏิบัติงานในสถานที่กักกันทางเลือก (Alternative state quarantine:ASQ) โดยผลตรวจกลุ่มเสี่ยงสูง 51 ราย พบติดเชื้อเพิ่ม 2 ราย (รายที่6,7)  ซึ่งอยู่ในที่กักตัวอยู่แล้ว ที่เหลือผลเป็นลบทั้งหมด ช่วงเย็นวันนี้ (15 ธ.ค.) จะมีการตรวจแล็บรอบ 3 ก่อนจะรายงานผลให้ทราบต่อไป ส่วนการตรวจกลถ่มเสี่ยงต่ำก็เป็นลบทั้งหมด โดยสรุป ณ วันที่ 15 ธ.ค.มีผู้ป่วยในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่ใน ASQ 7 ราย

     ต่อข้อถามเกี่ยวกับการสั่งปิดสถานที่จัดงานเทศกาลดนตรีบิ๊กเมาน์เท่น นพ.โอภาส กล่าวว่า
ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อให้เป็นอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดในการสั่งปิด แต่ตอนอนุญาตจัดเป็นอำนาจของนายอำเภอ กับเทศบาล แต่ที่สั่งปิดเพราะไม่ทำตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19และไม่แก้ไข ทำให้ผู้ว่าราชการต้องใช้อำนาจในการสั่งปิดสถานที่  

      ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการตั้งข้อสังเกตว่างานดนตรีอื่นๆสามารถจัดได้ นพ.โอกาส กล่าวว่า ไทยไม่มีพื้นที่ระบาดของโรค จึงขอย้ำว่าการจัดกิจกรรมทำได้  ซึ่งตัวอย่างที่ดี ทำตามาตรการได้ดีก็มีให้เห็นอยู่ เป็นสิ่งที่รัฐสนับสนุน ให้ทำด้วย  ยกตัวอย่าง งานที่สามารถจัดได้ และทำได้ดี คือเมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมาที่จ.ชลบุรีมีการจัดจุดคัดกรองให้ประชาชน เข้าไปไม่แออัด มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลประชาชน มีการสแกน “ไทยชนะ” มีการจัดที่นั่งห่างกัน 2 เมตร เป็นต้น ไม่ปล่อยให้มีการแออัดที่บริเวณหน้าเวทีจนเกินไป การจำหน่ายอาหารเรียบร้อยดี มีการสวมหน้ากากอนามัย ยกเว้นการถ่ายรูปที่มีการถอดหน้ากากในระยะเวลาอันสั้น
160801592471
       “กรณีที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาสั่งปิดสถานที่นั้นเห็นว่าคนแออัดมาก สแกนไทยชนะวันแรกวันเดียว 3 หมื่นคน แล้วเมื่อนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ลงไปกำกับตรวจสอบ ขอให้แก้ไขก็บอกว่าแก้ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีความเสี่ยงสูง เพราะมีคนมาจากจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ เมื่องานจบจะมีการกลับไปยังจังหวัดต่างๆ จะมีการกระจายตัวอย่างมาก ภาพคล้ายกับกรณีสนามมวยลุมพินีที่เป็นหนึ่งในต้นตอของการกระจายเชื้อไปต่างจังหวัด และทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19ในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา แต่งานบิ๊กเมาน์เท่นยิ่งกว่าสนามมวยลุมพินีถึง 10 เท่า เพราะมีคนมาร่วม  3-6หมื่นคน” นพ.โอภาส กล่าว  
     นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ยังสามารถจัดกิจกรรม คอนเสิร์ตได้ตามปกติ แต่ต้องขออนุญาตให้ถูกต้องจากฝ่ายปกครอง ในเรื่องของการใช้เสียง ใช้ลำโพง รวมถึงมีแผนการควบคุมป้องกันโรคที่กำหนดไว้ควบคู่กันไป เช่น ที่มีการเน้นย้ำหลายครั้งว่าการจัดงานประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนที่หนึ่งคือผู้จัดงานจะต้องพยายามจัดในสถานที่ที่ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคให้มากที่สุด เช่น 1.การเว้นระยะห่างไม่ให้มีการอัด 2. ต้องคัดกรองผู้เข้างานอย่างเป็นระเบียบและตรวจวัดอุณหภูมิ 3. จะต้องทำความสะอาดพื้นผิวสาธารณะ เช่นห้องน้ำ และอื่นๆ 4. จะต้องมีจุดล้างมือและเจลแอลกอฮอล์ และ 5. ประการสำคัญคือจะต้องมีผู้กำกับแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่มีการจัดงาน
160801594896

    ส่วนที่ 2 คือประชาชนไปร่วมงานให้สนุกก็ต้องป้องกันตัวเองโดยการสวมหน้ากากอนามัยให้ครบถ้วนถอดในเวลาจำเป็นจริงๆ เช่นการรับประทานอาหาร การดื่มน้ำ ต้องสแกน Application ไทยชนะทุกครั้ง เพื่อให้ติดตามและแจ้งข่าวสารกับผู้ร่วมกิจกรรมนั้นๆ ได้อย่างสะดวก โดยตรงเพื่อให้ทราบถึงวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้องไม่ให้เกิดความสับสน ที่สำคัญคือหลังร่วมกิจกรรมอะไรก็ตามหากกลับไปแล้วมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ขอให้ไปพบแพทย์และแจ้งสถานที่แจ้งที่ท่านไป และส่วนที่ 3 ขอย้ำว่าที่สำคัญคือทางผู้จัดงาน ประชาชน เจ้าหน้าที่ดูแล และเมื่อฝ่ายปกครองร่วมมือการตรวจสอบว่าที่จัดนั้นมีความเหมาะสมถูกต้องหรือไม่หากไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้ผู้จัดปรับปรุงแก้ไข

        นพ.โอภาส กล่าวว่า แนวทางการจัดงานเคาท์ดาวน์ และเทศกาลอื่นๆ สามารถทำได้ แต่ควรจัดเวทีแสดง จัดการให้คนร่วมงานอยู่เป็นกลุ่มแบบตาราง กลุ่มละประมาณไม่เกิน 10 คน มีแถวห่างกันประมาณ 2 ตารางเมตรต่อ 1 คน ระยะห่างระหว่างแถว 3 เมตร จะเกิดความปลอดภัยและเป็นระเบียบเรียบร้อย และเวลาเกิดปัญหาเกิดขึ้นเราจะได้ดูแลเป็นกลุ่มๆไป ยกตัวอย่างงานที่สิงห์ปาร์ค ซึ่งพบว่าผู้ติดเชื้อฯ ไปจุดนั้น เมื่อมีการแบ่งกลุ่มก็ทำให้การควบคุมโรค การตรวจทางห้องปฏิบัติการ และการกักตัวคนน้อยลง ไม่ต้องกักทั้งงาน นี่คือตัวอย่างสำหรับประชาชนหรือผู้ที่จะจัดงานต่างๆ