ประกวด 'นางงาม' เกี่ยวอะไรกับ 'วันรัฐธรรมนูญ'

ประกวด 'นางงาม' เกี่ยวอะไรกับ 'วันรัฐธรรมนูญ'

ทำความเข้าใจ การประกวด "นางงาม" กับ "วันรัฐธรรมนูญ" มีความเกี่ยวโยงกันอย่างแนบแน่นกันได้อย่างไร

เพลงนางฟ้าจำแลง ครั้งหนึ่ง เป็นเพลงที่ใช้บนเวทีประกวดนางสาวไทย ของวงสุนทราภรณ์ ที่แต่งคำร้องโดย แก้ว อัจฉริยะกุล ทำนองโดย เอื้อ สุนทรสนาน  เป็นเพลงในจังหวะควิกวอลซ์ เหมาะสำหรับใช้เต้นลีลาศ บรรเลงครั้งแรกในการประกวดนางสาวไทย ครั้งที่ 12 เมื่อ พ.ศ. 2496   และเป็นที่นิยมนำมาใช้บรรเลงในการประกวดความงามเรื่อยมา

แล้วนางงามมาเกี่ยวอะไรกับวันรัฐธรรมนูญ?

ตามประวัติศาสตร์ ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 กลุ่มคณะราษฎรได้จัดตั้งรัฐบาลขึ้น ตั้งใจว่าจะกำหนดเอาวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันรัฐธรรมนูญแต่แล้วปลายปี 2475 ในปีเดียวกันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ลงพระปรมาภิไธย พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ปวงชนชาวไทยอย่างเป็นการ ทำให้วันรัฐธรรมนูญจากเดิมที่เคยกำหนดไว้กลางปีนั้น ต้องเปลี่ยนมาเป็นการอุปโลกน์เอาใหม่ช่วงปลายปีคือ วันที่ 10 ธันวาคมแทน

แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ว่า สมัยนั้นชาวบ้านชาวเมืองทั่วไปยังไม่รู้จักว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร

หลังจากที่รัฐบาลประกาศให้วันที่ 10 ธันวาคมเป็นวันรัฐธรรมนูญ ก็มอบหมายการบ้านให้กระทรวงมหาดไทยเป็นแม่งานจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญขึ้นพร้อมกันอย่างครึกครื้นทั่วทั้งประเทศ คำถามคือ แล้วจะทำอย่างไรให้คนมาร่วมงานได้เยอะๆ เล่า

รัฐบาลสมัยนั้นจึงได้คิดการจัดการประกวดขาอ่อนที่ในสมัยนั้นเรียกว่า นางสาวสยาม โดยเริ่มครั้งแรกใน พ.ศ. 2477 หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือ กระทรวงมหาดไทย นั่นจึงทำให้เรามีการประกวดนางสาวไทยขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2477 อันเป็นปีเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงขึ้นครองราชย์

ตอนแรกเลย กำหนดให้จัดการประกวดนางสาวสยามที่พระราชอุทยานสราญรมย์ โดยใช้ชื่อว่า นางสาวสยาม ต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ 1 ว่าด้วยนามของประเทศ พ.ศ. 2482 กำหนดเรียกนามของประเทศว่าประเทศไทย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใด ซึ่งใช้คำว่า "สยาม" ให้ใช้คำว่า "ไทย" แทน

ดังนั้น การประกวด "นางสาวสยาม" จึงเปลี่ยนมาใช้การประกวด "นางสาวไทย" นับตั้งแต่ พ.ศ. 2482 

160751972398

ขาอ่อน หนึ่งในกลยุทธ์เรียกแขก

เอาเข้าจริงแล้วถ้าเราดูเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยทางประวัติศาสตร์จะพบว่า คนสมัยโน้นอย่างตาสีตาสายังไม่รู้จักว่ารัฐธรรมนูญคืออะไร แม้ว่าภาครัฐจะโหมประโคมโฆษณากันอยู่ปาวๆ ทุกเมื่อเชื่อวันก็ตาม ว่ากันว่า 2 ปีหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นประชาธิปไตยก็กลายเป็น ประชาธิปไตยแบบตั้งไข่

ตั้งไข่จริงๆ เพราะสมัยนั้นมีบทร้องล้อเด็กวัยตั้งไข่ว่า “ตั้งไข่ล้ม ต้มไข่กิน ไข่ตกดิน อดกินไข่ต้ม” ก่อนจะกลายเป็น ตั้งไข่ล้มต้มไข่กิน หนึ่งในบทดอกสร้อยสุภาษิตที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงขอให้กวีหลายคนช่วยท่านแต่งขึ้น และจัดพิมพ์เด็กๆ ในโรงเลี้ยงเด็กเมื่อประมาณร้อยปีก่อน (พ.ศ.2454) และกลายมาเป็นอาขยานภาคบังคับสำหรับนักเรียนทั้งประเทศ

มีข้อมูลจากผู้รู้ทางดนตรีและนาฏศิลป์ไทยกล่าวว่า ในงานวันรัฐธรรมนูญสมัยโน้น หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องยังเคยจัดให้แข่งร้อง-ท่องบทดอกสร้อยสุภาษิตนี้ บทว่า “ตั้งไข่ล้ม” เป็นบทหนึ่งที่หนูๆ เด็กๆ สมัยนั้นเลือกนำมาร้องแข่งมากที่สุด เมื่อเทียบกับบท จิงโจ้โล้สำเภา หรือ นกขมิ้นเหลืองอ่อน ภาพจำของใครหลายคนเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเมื่อครั้งก่อนโน้นจึงเป็นภาพตั้งไข่ล้ม ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ผิดแผกแตกต่างกันมากนักกับที่เราเห็นๆ อยู่ประเดี๋ยวนี้?

160751974860

แต่ทีเด็ดเห็นทีว่าคงไม่ได้อยู่ที่หนูๆ มายืนแข่งบทดอกสร้อยนั่นกันหรอก แต่อยู่ที่เวทีการประกวดขาอ่อนมากกว่า เพราะดูจะเป็นไฮไลต์และเรียกแขกได้มาก ถึงขั้นรัฐบาลสั่งการบ้านให้ทุกจังหวัดจัดให้มีเวทีนี้

ที่ต้องเอาการประกวดขาอ่อนมาล่อ เพื่อต้องการให้คนมาร่วมงานและให้ความสนใจกันมากขึ้น  รัฐบาลยุคคณะราษฎรอ้างว่า

“ชาวไทยเกือบทั้งประเทศไม่รู้เลยว่าประชาธิปไตยคืออะไร รัฐธรรมนูญแปลว่าอะไร บางคนเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญกับประชาธิปไตยนี่เป็นชื่อลูกชายของพระยาพหลพลพยุหเสนาด้วยซ้ำ การจัดประกวดนางสาวสยาม และนางงามทั่วทุกจังหวัดในวันที่ 10 ธันวาคม จึงจัดขึ้นเพื่อเป็นนางกวักให้คนเข้ามาชมงานรัฐธรรมนูญ...”

แต่ก็นั่นแหละนะ ไม่รู้เหมือนกันว่าชาวบ้านตาดำๆ ที่มางานฉลองรัฐธรรมนูญในสมัยนั้นจะมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญเพิ่มได้สักกี่มากน้อย หรือว่าจะแห่มาดูมาเชียร์เวทีขาอ่อนเป็นหลักก็ไม่รู้ได้ แต่ที่แน่ๆ สรีระ และความงามของพวกเธอทั้งหลายช่วยลดระดับบรรยากาศความรุนแรงทางการเมืองในสมัยนั้นได้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลยุทธ์ที่ใช้ดึงดูดความสนใจได้ดีหนีไม่พ้นการนำเรื่องเพศมาเป็นเครื่องมือในการโฆษณา โดยเฉพาะความเป็นเพศหญิง ที่เห็นๆ กันอยู่บ่อยๆ ว่า มักถูกนำใช้ในโลกทุนนิยมเพื่อดึงดูดความสนใจจากผู้ซื้อ โดยให้ความสำคัญกับเพศหญิงในการเป็นผู้นำเสนอสินค้าซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญตามแนวคิดที่กล่าวว่า เพราะผู้หญิงมีคุณสมบัติที่จะนำมาใช้เป็นวัตถุที่ใช้มองดูเพื่อสร้างความปรารถนาให้เกิดขึ้นมาได้ (object to look, object to desire)

เวทีประกวดสาวงาม เลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองภาครัฐ เพราะรัฐเองเห็นว่ามันจำเป็นต่อการสร้างชาติเป็นหน้าเป็นตาให้กับชาติ ไม่สร้างรายได้ อย่างน้อยก็ชื่อเสียง ที่สำคัญคือการเป็นตัวช่วยในการเผยแพร่การปกครองระบอบใหม่ และการก้าวขึ้นมาแสดงร่างให้ประชาชนจ้องมองยังสร้างบรรยากาศของงานฉลองรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นอย่างดีอีกด้วย

นางงามและวันหยุด  มรดกแห่งชาติของคณะราษฎร

คนอย่างเราๆ ท่านๆ เมื่อถึงวันรัฐธรรมนูญออกจะดีใจด้วยซ้ำไปเพราะได้เป็นวันหยุด ไม่ต้องทำงาน  ปัจจุบันนี้พบว่า ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับงานฉลองรัฐธรรมนูญเท่าไหร่ ไม่มีจังหวัดไหนเอางานประกวดขาอ่อนมาผูกกับงานฉลองรัฐธรรมนูญ ที่ได้ยินข่าวกันอยู่ทุกวันนี้จะเป็นในทำนองว่าประมาณว่า วันรัฐธรรมที่ทางราชการประกาศให้เป็นวันหยุดนั้น บางจังหวัดถือเอาเป็นโอกาสจัดงานฤดูหนาวลากยาวจากวันที่ 5 ธันวาคม อย่างงานกาชาดหลายที่ และมักใช้ชื่อว่า งานกาชาด และงานฉลองรัฐธรรมนูญ

160751976948

ถึงอย่างนั้นก็ไม่เห็นว่า คนจะให้ความสำคัญอะไร งานรัฐธรรมนูญทุกวันนี้เห็นจะเหลือเพียงแค่การที่หัวหน้าส่วนราชการไปทำรัฐพิธีที่ศาลากลางจังหวัด ผิดกับเมื่อ พ.ศ. 2482 ที่งานฉลองรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ ขยายพื้นที่จัดงานออกครอบคลุมสวนอัมพร สนามเสือป่า และสวนลุมพินี อีกทั้งยังเพิ่มเวลาจัดงานจาก 5 วัน เป็น 1 สัปดาห์ ระหว่าง 8-14 ธันวาคม ด้วย

การให้จัดงานฉลองรัฐธรรมนูญของคณะราษฎร เมื่อครั้งโน้น ยังคงเหลือเพียงการประกวดนางงามอย่างเช่น เวทีการประกวดนางงามในงานกาชาด หรืองานฤดูหนาว หรือธิดาโน่นนี่นั่นก็ว่ากันไป ซึ่งก็เป็นมรดกตกค้าง และจากเวทีเล็กๆ นี้ พวกเธอก็สามารถไต่เต้าไปสู่เวทีระดับชาติ ไปจนถึงระดับจักรวาลต่อไป

ถือได้ว่าการประกวดขาอ่อนไทยกำเนิดมาจากรัฐธรรมนูญนี่แหละ และก็ยังเบ่งบานสวยงามอยู่จนทุกวันนี้ ในขณะที่การฉลองรัฐธรรมนูญอวสานไปแล้ว!