“วุฒิสภา งัดข้อ “รัฐบาล “ผ่าน “ร่างพ.ร.บ.กสทช.”

“วุฒิสภา งัดข้อ “รัฐบาล “ผ่าน “ร่างพ.ร.บ.กสทช.”

วุฒิสภา ลงมติรับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.กสทช.​ ที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ แม้จะลงมติรับ แต่ในสาระยังมีข้อขัดแย้ง ที่ส่อแววว่า จะไม่ยอมเห็นชอบเนื้อหา เพราะมีจุดอ่อนที่อาจทำให้เกิดปัญหา

       การประชุมวุฒิสภา ช่วงเย็น เมื่อ 8 ธันวาคม 2563 วาระพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่...) พ.ศ....   หรือ พ.ร.บ.กสทช.  ซึ่งเป็นการพิจารณาต่อจากที่สภาผู้แทนราษฎร มีมติผ่านการพิจารณา
       แม้ว่า วุฒิสภา จะลงมติรับหลักการ ด้วยเสียง 159 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียงและงดออกเสียง 3 เสียง แต่ในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.กสทช. นั้นมีข้อท้วงติงจากส.ว.
       อย่างน้อย  3 ประเด็นหลักๆ 
       คือ 1. สเปคของ “กรรมการ กสทช.” ทั้ง 7 คนที่ 4 ใน7 กำหนดให้มาจาก ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค 1 คน , ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน 1 คน, ด้านอื่นๆ  2 คน 
       ซึ่ง  พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์. ส.ว. ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม (ไอซีที) ที่วุฒิสภามอบหมายให้ศึกษา อภิปรายในข้อสังเกตว่า 
       “เปิดช่องให้ กรรมการสรรหาพิจารณาไม่รอบคอบ ไม่ถ่องแท้ และเสนอให้ปรับ คุณสมบัติใน 4 กสทช. นั้นมาจาก 6 ด้าน คือ  ด้านดาวเทียม, ด้านสื่อสาธารณะ, ด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และ คุ้มครองผู้บริโภค, ด้านเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ, ด้านกฎหมายมหาชน และ ด้านข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศ”
160742770366

       ประเด็นถัดมา คุณสมบัติของผู้สมัคร ที่ร่างพ.ร.บ.กสทช. ซึ่งสภาฯ เห็นชอบ ส่วนของ “ข้าราชการทหาร-ตำรวจ” ที่ อัพเกรด ให้ใช้ระดับ พล.ต., พล.ร.ต., พล.อ.ต. และพล.ต.ต. ขึ้นไป จากของเดิมคือ พันเอก นาวาเอก นาวาอากาศเอก หรือพันตำรวจเอก ที่ “กมธ.ไอซีที วุฒิสภา ขอแก้ให้ใช้แบบ พ.ร.บ.กสทช. ปี 2553 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) ปี 2560
       และสุดท้าย  คือ ข้อกำหนดให้สรรหา กรรมการ กสทช. ภายใน 15 วันนับจากกฎหมายใหม่บังคับใช้ และแม้จะเขียนให้ “กรรมการกสทช.” ที่ทำงานไม่ถึง3 ปีได้สิทธิลงสมัครใหม่ได้ แต่อาจทำให้เกิดปัญหา “เกียร์ว่าง” ด้านการวางโครงสร้างและนโยบาย
       เพราะขณะนี้ อยู่ระหว่างการสรรหา กรรมการกสทช.​ชุดใหม่ ตามมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ฐานะเลขานุการกรรมการสรรหา อยู่ระหว่างตรวจคุณสมบัติ ผู้สมัครทั้ง 80 คน
       โดยมีรายละเอียดคือ  ผู้สมัครด้านกิจการกระจายเสียง 7 คน, ด้านกิจการโทรทัศน์ 8 คน, ด้านโทรคมนาคม 11 คน, ด้านวิศวกรรม  12 คน, ด้านกฎหมาย 14 คน, ด้านเศรษฐศาสตร์ 7 คนและด้านคุ้มครองผู้บริโภค 21 คน
       ตามขั้นตอนการตรวจสอบและเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภา เพื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่นั้น จะแล้วเสร็จช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งจะพอดีกับร่างพ.ร.บ.กสทช. ฉบับใหม่ ที่วุฒิสภาพิจารณาแล้วเสร็จ ดังนั้น กสทช.​ชุดใหม่ อาจทำงานได้ไม่เท่าไร ซึ่ง พล.อ.อนันตพร คาดว่า จะได้ทำงาน ไม่เกิน 6 เดือน ก่อนต้องพ้นไป เมื่อกฎหมายใหม่มีผลใช้บังคับ
 
 
       ดังนั้นกมธ.ฯ เสนอให้กำหนดบทเฉพาะกาลให้คุ้มครอง กรรมการกสทช. ชุดใหม่ทำงานให้ครบเทอม 
       อย่างไรก็ดี "พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา โดยย้ำถึงการทำร่างกฎหมายที่เหมาะสม  แต่มีบางประเด็นที่หากจะแก้ไข ไม่ขัดข้อง คือ ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ที่เคยเป็นหรือเป็นนายทหาร 
160742770358
       ส่วนข้ออื่นตามที่ถูกตั้งข้อสังเกตนั้น ยังยืนยันในเหตุผลว่า สภาฯ พิจารณาโดยเหมาะสมแล้ว
       “ตีกรอบการเป็นผู้บริหารระดับสูง เพื่อกำกับกิจการโทรคมนาคม กระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ ต้องคัดเลือกคนที่ดีที่สุด สำหรับการกำกับทรัพยากรสำคัญของประเทศ การคุ้มครองผู้บริโภค สิทธิเสรีภาพ เป็นมิติของผู้ใช้บริการ เชื่อว่ากรรมการสรรหาที่ได้มา ตรงตามรัฐธรรมนูญ” รมว.ดีอี ชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา 
 
       ทั้งนี้สัญญาณที่ “ส.ว.” ส่งถึง ตัวแทนรัฐบาล และฐานะตัวแทนสภาผู้แทนราษฎร สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่ต้องเป็น สภาฯกลั่นกรอง แต่ที่ผ่านมา การอภิปรายในทำนอง ไม่เห็นด้วย ขอให้ปรับในสาระสำคัญไม่เคยเกิดขึ้น
       ดังนั้นกรณีของร่างพ.ร.บ.กสทช.​ถือเป็นครั้งแรก
       ส่วนหนึ่งที่ ส.ว. กลุ่มหนึ่งต้องแสดงความเห็น ทัดทานเนื้อหา เพราะหากพิจารณา พ.ร.บ.กสทช. ฉบับแรกทีเกิดขึ้น ปี 2553 ล้วนเป็นผลิตผลจาก สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ส.ว.ปัจจุบัน คือคนทำคลอดกฎหมาย
       โดยสาระสำคัญที่ คนทำคลอดกฎหมายกสทช.​สะท้อน อาทิ “สมชาย แสวงการ” บอกว่า พ.ร.บ.กสทช. ปี53ซึ่งกำหนดคุณสมบัติไว้ 7ด้าน ซึ่งร่างที่สภาฯ แก้ไขและตัดออก ทั้ง ด้านวิศวกรรม, ด้านเศรษฐศาสตร์, ด้านกฎหมาย นั้นล้วนมีเหตุผลและที่มาที่ไป 
160742770389
       “หากกรรมการกสทช.​ไม่มีความรู้ด้านวิศวกรรม ด้านกฎหมาย  การเจรจา ต่อรอง ด้านคลื่นความถี่ ดาวเทียม กฎหมายระบบเทคโนโลยี อาจเสียเปรียบเอกชน ขณะที่ด้านเศรษฐศาสตร์นั้น จำเป็น เพราะการนำคลื่นความถี่ซึ่งเป็นสมบัติชาติต้องดูเรื่องคุ้มค่าการให้ประโยชน์กับประชาชน ผู้รับบริการ มากที่สุด"
       ส.ว.สมชาย กล่าวด้วยว่า ส่วนร่างที่แก้ไข และกำหนดว่า ให้เป็น ด้านอื่นๆ นั้น กังวลว่าจะเปิดช่องให้นอมินีพรรคการเมือง, นายทุนบริษัทโทรคมนาคมเข้ามา และเกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวง
 
       พร้อมทั้งเสนอให้ พิจารณาแก้ไข  ในชั้นของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้เพื่อความรอบคอบทั้งประเด็นคุณสมบัติ และประเด็นที่ว่าด้วยการให้สรรหา กสทช. ชุดใหม่ เมื่อกฎหมายใหม่บังคับใช้ เพื่อไม่ให้กฎหมายเดินหน้า และกระบวนการพิจารณาของกสทช. ไม่มีปัญหา
       หากการแก้ไขของส.ว. เกิดขึ้น ร่างพ.ร.บ.กสทช. ต้องย้อนกลับไปถามความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร อีกครั้ง และหากสภาฯ ยืนยันร่างเดิม จำเป็นต้องตั้งกรรมาธิการร่วมกันพิจารณา
       ซึ่งขั้นตอนการพิจารณากฎหมายจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี
160742770490
     
       อย่างไรก็ดีตอนนี้ ส.ว. อยู่ในวาะรับหลักการแล้ว และรอเข้าสู่กรรมาธิการพิจารณาแก้ไข ซึ่ง ฝั่งรัฐบาล หากไม่อยากเสียเวลา คงต้องเจรจาต่อรอง ส.ว.ให้ดี 
       แต่เชื่อว่า ด้วยสถานะคนทำคลอดกฎหมายกสทช. และการันตีว่า ของปี 2553 รอบคอบที่สุด คงจะให้ท่าผ่านยากเอาเรื่อง.