‘อากาศเปลี่ยน-น้ำท่วม’ เสี่ยงฉุดจีดีพีเอเชีย 8.5 ล้านล้านดอลล์

‘อากาศเปลี่ยน-น้ำท่วม’ เสี่ยงฉุดจีดีพีเอเชีย 8.5 ล้านล้านดอลล์

‘อากาศเปลี่ยน-น้ำท่วม’เสี่ยงฉุดจีดีพีเอเชีย8.5ลล.ดอลล์ โดยมิวนิก รี ระบุว่า ตัวเลขความเสียหายที่แท้จริงที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็น 820 กรณีในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2523 ถึง3เท่า

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมพื้นที่บริเวณริมฝั่ง ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)รายปีในเอเชียภายในปี 2573 โดยจีนและอินเดียจะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว จึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานให้มากกว่านี้

รายงานวิเคราะห์จากนิกเคอิ เอเชีย และเว็บไซต์นิกเคอิที่ได้ข้อมูลจากเวิลด์ รีซอร์สเซส อินสติติว องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร บ่งชี้ว่า หายนะภัยทางธรรมชาติที่เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกำลังคุกคามเศรษฐกิจในเอเชียมากขึ้น โดยภายในปี 2573 ผลผลิตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆทั่วโลกที่อยู่ในจุดเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะน้ำท่วมคิดเป็นมูลค่า 17 ล้านล้านดอลลาร์ เอเชียมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งคือ 8.5 ล้านล้านดอลลาร์ และประเทศในเอเชียที่อยู่ในจุดเปราะบางที่จะเผชิญภาวะน้ำท่วมมากที่สุดคือ จีน และอินเดีย

ในเมืองเล่อซาน มณฑลเสฉวนของจีนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำแยงซี มีธุรกิจส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมช่วงกลางเดือนส.ค.รวมถึงบริษัทผลิตปุ๋ยเสฉวน เหอปังที่ถูกน้ำท่วมทำให้เครื่องจักรและสินค้าที่เก็บไว้ในโรงงานได้รับความเสียหาย รวมความเสียหายเป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านหยวน (46ล้านดอลลาร์)

ส่วนเจิ้งเหอ รีซอร์สเซส บริษัทสำรวจและสกัดแร่หายาก พยายามดำเนินมาตรการป้องกันน้ำท่วมโรงงานผลิตแต่ก็ไม่สำเร็จ ได้รับความเสียหายอย่างมาก แต่บริษัทไม่ได้เปิดเผยตัวเลขของความเสียหายครั้งนี้ โดยปีนี้ ฝนตกในจีนในปริมาณมากกว่าปกติ และตั้งแต่เดือนม.ค.-ก.ย.แม่น้ำ836 สายทั่วประเทศ รวมแม่น้ำแยงซีรองรับปริมาณน้ำฝนมากกว่าทุกปีมากถึง 80% ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวน 73 ล้านคน มากกว่าอัตราเฉลี่ยในช่วง5ปีที่ผ่านมาเกือบ 20% ส่วนความเสียหายทางด้านเกษตรกรรมและการค้ามีมูลค่ากว่า 200,000 ล้านหยวน

ในจีน ความสามารถในการควบคุมน้ำถือเป็นความรับผิดชอบของผู้นำ โดยเมื่อเดือนส.ค.ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือประชาชนในมณฑลอันฮุยที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม และในเวลาเดียวกัน นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงของจีนก็เดินทางไปให้ความช่วยเหลือเหยื่อน้ำท่วมในเมืองฉงชิ่ง ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน2คนนี้จะเดินทางออกจากกรุงปักกิ่งในเวลาเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลจีนให้ความสำคัญกับปัญหาน้ำท่วมอย่างมาก เพราะความล้มเหลวในการควบคุมปัญหาน้ำท่วมอาจจะสั่นคลอนฐานอำนาจของรัฐบาล

ในช่วงเดินทางช่วยเหลือเหยื่อน้ำท่วมในเมืองอันฮุย ประธานาธิบดีสี ได้กล่าวถึงพระเจ้าอวี่ ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์เซี่ย ราชวงศ์แรกของจีนที่มีการสืบราชบัลลังก์โดยสายโลหิต เกิดเมื่อปีที่ 2059 ก่อนคริสตกาล ที่หมู่บ้านเป่ยฉวน ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเสฉวน ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในห้าจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่ของจีน มีผลงานที่โด่งดังคือการคิดค้นระบบชลประทานเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

อย่างไรก็ตาม ปัญหาน้ำท่วมในจีนไม่ได้เป็นแค่ปัญหาเดียวแต่เกิดหายนะภัยทางธรรมชาติหลายระลอกที่เชื่อมโยงกับปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ส่งผลกระทบต่อโรงงาน ครัวเรือนและคุกคามการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกในระยะยาว

นิกเคอิ เอเชีย ใช้เครื่องมือที่พัฒนาโดยดับเบิลยูอาร์ไอ คำนวณความเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมเพื่อวิเคราะห์ว่าหากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศยังคงอยู่ในระดับปัจจุบันจะทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน โดยเครื่องมือดับเบิลยูอาร์ไอ แบ่งความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมของโลกโดยใช้หน่วยตารางกิโลเมตรที่เป็นตัวเลขหลักเดียวและคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)สำหรับแต่ละตารางกิโลเมตรโดยใช้จำนวนประชากรและจีพีพีต่อหัวประชากรของประเทศ

จากการคำนวณ ถ้าสภาพอากาศทั่วโลกยังคงอบอุ่นในระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ในปี 2573 มีความเสี่ยงที่น้ำท่วมจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 17 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น12% ของจีดีพีโลกในปีนั้น

จีนเป็นประเทศที่อยู่ในฐานะมีความเสี่ยงมากที่สุด จีดีพีโดยรวมของพื้นที่ที่มีความเสี่ยงอยู่ที่ 4.6 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 14% ของจีดีพีโดยรวมของประเทศ และ 4ประเทศจาก5ประเทศชั้นนำที่มีความเสี่ยงอยู่ในภูมิภาคเอเชีย มีมูลค่า 8.5 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่าโดยรวมทั่วโลก และหากไม่มีการดำเนินมาตรการป้องกันใดๆเลย คาดว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหาย 14 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2593 และ24 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2623

มิวนิก รี บริษัทประกันในเยอรมนี ระบุว่า ตัวเลขความเสียหายที่แท้จริงที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็น 820 กรณีในปี 2562 เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2523 ถึง3เท่า และในบรรดาหายนะภัยทางธรรมชาติทั้งหลาย ภัยจากน้ำท่วมเพิ่มขึ้นมากกว่า6เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว โดยระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เปราะบางในชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่เป็นตัวเร่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง

ตัวอย่างเช่น ฤดูมรสุมในเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย ช่วง4เดือนตั้งแต่เดือนมิ.ย.-ก.ย.จะมีฝนตกปริมาณหลายร้อยมิลลิเมตรเป็นประจำทุกปี ส่งผลให้มีปริมาณน้ำท่วมสูงเสมอเข่าและบางพื้นที่สูงถึงเอว เนื่องจากน้ำระบายไม่ทันเพราะถนนหนทาง คลองและระบบระบายน้ำใต้ดินในอินเดียส่วนใหญ่สร้างตั้งแต่สมัยยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และถึงแม้จะมีการปรับปรุงมาแล้วเมื่อปี2548 แต่ระบบต่างๆยังใช้งานไม่ได้เต็มประสิทธิภาพเพราะความล้มเหลวของระบบราชการอินเดีย