"ไกด์ไลน์ ฟู้ด ดีลิเวอรี่" สมดุลค้าเสรี-เป็นธรรม

"ไกด์ไลน์ ฟู้ด ดีลิเวอรี่" สมดุลค้าเสรี-เป็นธรรม

เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2563 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารกับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร

สันติชัย สารถวัลย์แพศย์ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า ประกาศฯ เรื่องแนวทางพิจารณาปฏิบัติการค้าที่ไม่เป็นธรรมฯ บริการแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารฯ หรือไกด์ไลน์ ฟู้ด ดีลิเวอรี่ จะมีผลในทางปฏิบัติหลังวันประกาศแล้ว 60 วัน ซึ่งหลักการการใช้ไกด์ไลน์เป็นการบอกแนวทางว่าหากมีผู้เกี่ยวข้องคือตัวแพลตฟอร์มและร้านค้า ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีพฤติกรรมที่ระบุไว้ในประกาศ ก็ใช้เป็นแนวทางให้มาร้องเรียนขอความเป็นธรรมได้ ซึ่งจะมีกระบวนการของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กำหนดไว้เพื่อทำให้การทำธุรกิจการค้าดำเนินไปได้อย่างเสรี ขณะเดียวกันก็ต้องมีความเป็นธรรมซึ่งกันและกัน 

“ส่วนสภาพธุรกิจการค้าปัจจุบันที่ผู้เล่นในตลาดแพลตฟอร์มส่งอาหารส่วนใหญ่เป็นบริษัทจากต่างประเทศนั้น ในทางปฏิบัติจริงไม่เป็นข้อจำกัดการบังคับใช้กฎหมาย เพราะมีการจดทะเบียนในประเทศไทย จึงเป็นธุรกิจภายใต้กฎหมายไทยด้วย”

สำหรับบทลงโทษกรณีมีพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมตามที่ไกด์ไลน์กำหนด เบื้องต้นจะเป็นไปตามมาตรา 57 คือโทษปรับ 10% ของยอดขายปีที่กระทำผิด ไม่ได้กำหนดโทษทางปกครอง แต่หากมีสถานะเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดจะมีโทษตามมาตรา 54 คือโทษอาญา จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 10% ของรายได้ปีที่กระทำผิด หรือทั้งจำทั้งปรับ  

สมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า สาเหตุที่มีการกำหนดไกด์ไลน์ฟู้ด ดีลิเวอรี่ เนื่องจากก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวเจ้าของแพลตฟอร์มปรับขึ้นค่าบริการจากร้านค้า หลังความนิยมใช้บริการเพิ่มขึ้นช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 จนนำไปสู่การล็อกดาวน์เมือง ซึ่ง กขค.ได้เข้าไปตรวจสอบเบื้องต้นพบว่ามีมูล จึงร่างไกด์ไลน์ขึ้นมาแล้วเปิดระดมความเห็นต่อร่างประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่อง แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารกับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร

โดยการประชุมปรึกษาหารือกับกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้อง (Focus Group) ทางเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (www.otcc.or.th) และทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ [email protected] ระหว่างวันที่ 17 ส.ค.2563 ถึงวันที่ 15 ก.ย.2563 พร้อมเผยแพร่ผลการประชุมทางเว็บไซต์ ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันทุกฝ่ายก่อนสรุปเป็นไกด์ไลน์ที่ออกมาตามประกาศ

“ธุรกิจนี้กำลังเติบโต ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อเศรษฐกิจประเทศ แต่ก็ต้องเข้าไปดูอย่าให้เกิดการใช้ความได้เปรียบทางธุรกิจมาทำการค้าที่ไม่เป็นธรรม การออกไกด์ไลน์เป็นตัวช่วยหนึ่งแต่โดยหลักการแล้วการทำธุรกิจร่วมกันอย่างเป็นธรรมบนพื้นฐานเสรีการค้าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”

160735265433

สำหรับไกด์ไลน์ ฟู้ด ดีลิเวอรี่ มีข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการปฏิบัติทางการค้าของผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหาร ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำอันเป็นผลให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร มีแนวทางในการพิจารณาดังต่อไปนี้

1.การเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทน หรือผลประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่เป็นธรรม โดยไม่ได้แจ้งให้ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารทราบล่วงหน้าถึงเหตุผลและความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยมีพฤติกรรม เช่น การเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ (Commission Fee หรือ Gross Profit (GP)) ในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นจากที่เคยเก็บ และการเรียกเก็บในอัตราที่แตกต่างกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่จำหน่ายสินค้าเดียวกันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโฆษณา (Advertising Fee) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เช่น การเรียกเก็บค่าโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายโดยที่ผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่ตกลงกันไว้ เป็นต้น

การเรียกเก็บค่าส่งเสริมการขายในโอกาสพิเศษทางการตลาด (Promotion) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร การเรียกเก็บค่าใช้จ่าย ค่าตอบแทน หรือผลประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่เคยมีการเรียกเก็บมาก่อน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

2.การกำหนดเงื่อนไขทางการค้าอันเป็นการจำกัดหรือขัดขวางการประกอบธุรกิจของผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม เช่น การกำหนดเงื่อนไขที่เป็นการจำกัดสิทธิ (Exclusive Dealing) ของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่มีลักษณะเป็นการบังคับ โดยการห้ามจำหน่ายอาหารผ่านช่องทางของผู้ประกอบธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารรายอื่น โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

3.การใช้อำนาจตลาดหรืออำนาจต่อรองที่เหนือกว่าอย่างไม่เป็นธรรม ประกอบด้วยการแทรกแซง หรือจำกัดความเป็นอิสระในการกำหนดราคาของผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร การกำหนดเงื่อนไขบังคับด้านราคาที่ต้องขายเท่ากันในทุกช่องทางการจำหน่าย (Rate Parity Clause) การประวิงเวลาจ่ายค่าสินค้าตามระยะเวลาที่กำหนด (Credit Term) การปฏิเสธการทำการค้ากับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารในระหว่างระยะเวลาของสัญญา หรือการยกเลิกสัญญาอันเนื่องมาจากเหตุผลต่างๆ โดยไม่มีเหตุผลสมควร

การยกเลิกผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารออกจากช่องทางการจำหน่ายโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขภายใต้สัญญา หรือระยะเวลาของสัญญา โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร การเปลี่ยนแปลงระยะเวลาของสัญญาโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 60 วัน

4.การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมอื่นๆ

สกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าจะมีการตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อดูแลเรื่องนี้ กรณีที่หากมีการร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับธุรกิจฟู้ด ดิลิเวอรี่ โดยยึดไกด์ไลน์ฟู้ด ดิลิเวอรี่ ที่ได้ประกาศออกไปเป็นมาตรฐานในการพิจารณาคดี ซึ่งขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนมาบ้างแล้วประมาณ 3-4 ราย โดยอยู่ในระหว่างการพิจารณาทั้งการสืบสวน สอบสวน การแสวงหาข้อเท็จจริง อยู่ในการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ

 “เมื่อมีการร้องเรียนมา จะมีเวลา 7 วันในการพิจารณาว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลหรือไม่ หากมีมูลก็นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะเสาะหาข้อมูลเพื่อหาหลักฐาน พยาน และดำเนินการต่อไปอย่างไร"

โดยเสนอต่อบอร์ดแข่งทางการค้า เช่นหากเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ก็เข้าสู่การพิจารณาตามมาตรา 50 ของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 กรณีที่ 2 หากเกี่ยวกับพฤติกรรมก็เข้าข่ายมาตรา 57 ทั้งนี้หากเรื่องร้องเรียนไม่มีความยุ่งยากซับซ้อนก็ดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที แต่หากมีความซับซ้อนยุ่งยากบอร์ดแข่งขันทางการค้าจะตั้งคณะอนุกรรมการที่มีคนนอกมาช่วยพิจารณา ทั้งอัยการ ตำรวจ และผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ โดยมีกรอบเวลาการทำงาน 90 วันขยายเวลาได้อีก 15 วัน

ไกด์ไลน์ฟู้ด ดีลิเวอรี่ ที่ประกาศออกไปนั้นสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ซึ่งเป็นไปตามธุรกิจฟู้ด ดิลิเวอรี่ ที่มีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งไกด์ไลน์ ฟู้ด ดิลิเวอรี่จะสามารถช่วยสร้างบรรทัดฐานในการประกอบธุรกิจบริการรับและส่งอาหาร สามารถปกป้องผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหารที่อาศัยบริการช่องทางการจำหน่ายทางดิจิทัลแพลตฟอร์ม มิให้ถูกเอาเปรียบโดยไม่มีเหตุผลสมควร สามารถแข่งขันกันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม โดยในอนาคตมองว่าธุรกิจนี้จะมีแนวโน้มมากขึ้นในการใช้ออนไลน์ ใช้เพลตฟอร์มต่างๆ ในการซื้อสินค้าและบริการอาหาร ซึ่งเป็นต้นแบบในการกำกับดูแลธุรกิจออนไลน

ทั้งนี้ คณะกรรมการก็กำลังพิจารณาว่าจะมีการออกไกด์ไลน์อื่นเพื่อกำกับดูแลธุรกิจประเภทอีมาร์เก็ตเพลส โอทีเอ โอทีพี ซึ่งเป็นตลาดออนไลน์ที่แยกออกไป โดยอยู่ในระหว่างการศึกษาโครงสร้างของตลาด พฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดเหล่านี้ เนื่องจากการออกไกด์ไลน์นั้นจะออกมาก็ต่อเมื่อมีการทำธุรกิจที่เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่เป็นธรรม ไม่มีการแข่งขันหรือมีพฤติกรรมกีดกันทางการค้า เพราะไกด์ไลน์เป็นเครื่องมือในการดูแลพฤติกรรมไม่เช่นนั้นไกด์ไลน์ก็จะกลายเป็นกฎหมายบังคับไม่ให้ธุรกิจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นต้องดูตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น