เตรียมเปิดฉากเอฟทีเอไทย-อียู

เตรียมเปิดฉากเอฟทีเอไทย-อียู

พาณิชย์ เผยผลศึกษาเอฟทีเอไทย-อียู พบจะช่วยดันจีดีพีโต1.28% มูลค่า 2.05 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนส่งออกไปอียูเพิ่ม 2.83% ทำคนจนลด 2.7 แสนคน รายได้เกษตรกรเพิ่ม 1.1% ด้านหอการค้าไทย-สรท.ชี้ แม้ช้ากว่าเวียดนามแต่ช่วยรักษาฐานตลาดได้

พาณิชย์ เผยผลศึกษาเอฟทีเอไทย-อียู พบจะช่วยดันจีดีพีโต1.28%  มูลค่า 2.05 แสนล้านบาทต่อปี ส่วนส่งออกไปอียูเพิ่ม 2.83% ทำคนจนลด 2.7 แสนคน รายได้เกษตรกรเพิ่ม 1.1%ด้านหอการค้าไทย-สรท.ชี้ แม้ช้ากว่าเวียดนามแต่ช่วยรักษาฐานตลาดได้ แนะเร่งแก้ปมแรงงาน ยา พันธุ์พืช ทรัพย์สินทางปัญญา

สหภาพยุโรป หรือ อียู เป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยสัดส่วนเฉลี่ย 10% ต่อการส่งออกทั่วโลก การจะมีข้อตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ)กับอียูจึงเป็นสิ่งจำเป็น แม้ก่อนหน้านี้ไทยเริ่มกระบวนการเจรจาเอฟทีเอกับอียูมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่หลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไทยทำให้กระบวนการดังกล่าวหยุดชะงัก และปัจจัยหลังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอีกครั้งของไทยก็ทำให้สองฝ่ายกำลังเข้าสู่กระบวนเริ่มต้นการเจรจาอีกครั้ง 

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ผลการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่ทำการศึกษาโดยสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ได้ดำเนินการเสร็จแล้ว และได้นำขึ้นเผยแพร่บนเว็บไซต์กรมแล้ว เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้าไปดูรายละเอียด และในส่วนของกรมฯ จะนำผลการศึกษา ผลการรับฟังความคิดเห็น และกรอบการเจรจา นำเสนอให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พิจารณา ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จากนั้นเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติให้ไทยไปเจรจากับอียูต่อไป คาดว่าน่าจะเป็นช่วงต้นปี 2564

 สำหรับผลการศึกษา ประเมินว่า หากไทยและอียู 27 ประเทศ ไม่รวมสหราชอาณาจักร เพราะได้ออกจากอียูไปแล้ว ทำการยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันหมด จะช่วยให้จีดีพีของไทยขยายตัวในระยะยาว 1.28% คิดเป็นมูลค่า 2.05 แสนล้านบาทต่อปี การส่งออกของไทยไปอียูเพิ่มขึ้น 2.83% หรือ 2.16 แสนล้านบาทต่อปี และการนำเข้าจากอียูเพิ่มขึ้น 2.81% หรือ 2.09 แสนล้านบาทต่อปี โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสขยายตัวและเข้าถึงตลาดอียูได้ง่ายขึ้น เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น

160706272865

เปิดเสรีบริการลดยากจน0.07%

ส่วนการเปิดเสรีภาคบริการในสาขาสำคัญ เช่น สิ่งแวดล้อม การจัดส่งสินค้า การเงินและประกันภัย และการขนส่งทางทะเล จะช่วยลดต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 5% หรือ 8.01 แสนล้านบาท และการประเมินผลมิติด้านสังคมในภาพรวม พบว่า เศรษฐกิจที่ดีขึ้น จะทำให้จำนวนคนจนลดลง 2.7 แสนคน รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.1% และช่องว่างความยากจนลดลง 0.07%

ทางด้านการศึกษาในประเด็นท้าทายสำคัญของการทำเอฟทีเอ ที่อียูทำกับประเทศคู่ค้า เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ จะมีเรื่องการยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกี่ยวกับการขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรจากความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนวางตลาดยา การผูกขาดข้อมูลเพื่อขออนุมัติวางตลาดยา การให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามแนวทางUPOV1991 และการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามแนวทางของแรงงานโลก (ILO)ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรค และเมล็ดพันธุ์พืชสูงขึ้น แต่ต้องนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปประเมินหักลบกับประโยชน์ที่จะเกิดกับรายได้ของเกษตรกร ปริมาณผลผลิตภาคเกษตร และทางเลือกในการซื้อเมล็ดพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ในด้านการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ จะทำให้ภาครัฐได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและมีตัวเลือกมากขึ้น ราคาถูกลง ถึงแม้ว่าธุรกิจภายในประเทศอาจต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้น แต่คาดว่าไม่กระทบต่อSMEsมากนัก เนื่องจากโครงการที่SMEsเข้าร่วมประมูลส่วนใหญ่มีมูลค่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเปิดให้มีการแข่งขันประมูล

ทำกรอบเจรจาอย่างรอบคอบ

“ประโยชน์และผลกระทบจากการศึกษาดังกล่าว ตั้งอยู่บนสมมติฐานเชิงวิชาการ ซึ่งในทางปฏิบัติ กรมฯ ยังจำเป็นต้องหารือกับทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การจัดทำท่าทีการเจรจาแต่ละประเด็นมีความรอบคอบ รัดกุม และเกิดประโยชน์ภาพรวมกับประเทศสูงสุด รวมทั้งการหาแนวทางรองรับและปรับตัวต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น”

อย่างไรก็ตาม นอกจากผลการศึกษา ยังได้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 1,036 ตัวอย่าง จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า การนำเข้าสินค้าจากอียูจะทำให้ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้นและมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น ผลักดันให้ธุรกิจไทยต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการแข่งขันให้ดีขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว และเห็นว่าหากไม่เปิดเสรีการค้าจะทำให้เศรษฐกิจไทยล้าหลัง

ในปี 2562 อียู (27 ประเทศ ไม่นับสหราชอาณาจักร) เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ มีมูลค่าการค้ารวม 38,227.9 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 19,735.9 ล้านดอลลาร์ และนำเข้าจากอียูมูลค่า 18,492.1 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ไก่แปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญจากอียู เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เวชกรรมและเภสัชกรรม และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

160706278633

ห่วงเจรจาช้าไม่ทันเวียดนาม

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เห็นด้วยที่กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้ครม.เห็นชอบเดินหน้าการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู เพราะจะทำให้ไทยขยายตลาดสินค้ามากขึ้น เพราะตลาดอียูถือเป็นตลาดที่ใหญ่มีประชากรมาก และได้ประโยชน์จากการส่งสินค้าโดยไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลง รวมทั้งไทยจะได้ประโยชน์ในด้านการลงทุนจากกลุ่มประเทศอียู ซึ่งขณะนี้หลายประเทศให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เมื่อไทยเดินหน้าการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูก็ยิ่งจะเป็นปัจจัยบวกให้นักลงทุนเหล่านี้อยากมาลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร เคมีภัณฑ์ การเงิน ประกันภัย เนื่องจากเมื่อผลิตสินค้าแล้วส่งกลับไปประเทศต้นทางก็จะได้รับสิทธิพิเศษจากเอฟทีเอ

อย่างไรก็ตามรัฐบาลจะต้องแก้ปัญหาในประเด็นที่ยังเป็นที่ถกเถียงทั้งเรื่องของการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามแนวทางUPOV1991 และการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามแนวทางของแรงงานโลก (ILO)สิทธิบัตรยา ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องชัดเจนไม่เช่นนั้นจะเป็นเหมือนกรณีของความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี)

“การเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู แม้จะล่าช้า ไม่ทันกับคู่แข่งอย่างเวียดนามที่ทำเอฟทีเอกับอียูไปแล้ว แต่ก็ไม่ช้าจนเกินไป สิ่งที่ต้องทำต่อคือการเร่งเปิดเจรจาเอฟทีเอต่างๆ เช่น เอฟทีเอไทย-ยูเค ด้วย”

แนะเตรียมรับประเด็นอ่อนไหว

นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ไทยเสียเวลาไปกับการทำเอฟทีเอไทย-อียูไป 6 ปี หลังจากที่ไทยเกิดรัฐประหาร ก่อนหน้านั้นได้มีการเจรจาไปแล้ว 3 รอบจากทั้งหมด 5 รอบ แต่เมื่อมีการรัฐประหาร ทางอียูก็ไม่เจรจากับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร มาถึงวันนี้จะเดินหน้าเจรจาใหม่แม้จะช้าไปแต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย หากรัฐบาลเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพาณิชย์ และเริ่มต้นเจรจาใหม่ในปีหน้าคาดว่าจะใช้เวลาเจรจาไม่น้อยกว่า 3 ปีโดยเฉพาะประเด็นสำคัญหลายเรื่องที่เป็นเงื่อนไขของอียูที่ต้องปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพันธุ์พืช สิทธิบัตรยา แรงงาน ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ข้อสรุป

ในช่วงเกิดโควิด-19 การส่งออกของไทยไปอียูลดลงตั้งแต่ต้นปี อีกส่วนก็มาจากอัตราการเก็บภาษีสินค้านำเข้าปกติหากมีเอฟทีเอก็จะช่วยเรื่องของภาษีและทำให้สินค้าของไทยมีโอกาสขยายตัวมากขึ้น และในกรณีสหราชอาณาจักรหรือยูเคออกจากอียู ก็ต้องเร่งเจรจาเปิดเอฟทีเอกับยูเคด้วย ซึ่งทางยูเคเองก็มีความต้องการที่จะเปิดเสรีทางการค้ากับ

ประเทศอื่นๆหลังจากข้อตกลงการค้าหลังการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิท)หากไทยสามารถเจรจาได้สำเร็จก็จะรักษาตลาดการค้าได้ทั้งอียูและยูเค

รายงานข่าวแจ้งว่าก่อนหน้านี้ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุถึงความตกลงเขตการค้าเสรี“EU-Vietnam Free Trade Agreement : EVFAT”หรือข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับเวียดนาม  ซึ่งเริ่มเจรจาเมื่อปี 2555 ได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2563 ที่ผ่านมา โดยศูนย์ฯ ได้ศึกษาผลกระทบความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) สหภาพยุโรป (อียู) และเวียดนามว่าจะทำให้สินค้าไทยสูญเสียรายได้จากการส่งออกไปตลาดอียู เพราะถูกสินค้าเวียดนามแย่งตลาดในอียู มูลค่า 21,525 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 38,603 ล้านบาทในปี 2564 เพราะอียูจะลดภาษีนำเข้าให้แก่สินค้าเวียดนามทันที ในสัดส่วน 71% ของรายการสินค้าทั้งหมด และจะทยอยลดภาษีในส่วนที่เหลือภายใน 7 ปี ซึ่งจะทำให้สินค้าเวียดนามได้เปรียบสินค้าไทยมาก โดยเฉพาะสินค้าที่ใกล้เคียงกัน