กนง.หนุนดูแลเงินบาท ผ่านมาตรการสั้น-ยาว

กนง.หนุนดูแลเงินบาท  ผ่านมาตรการสั้น-ยาว

เปิดรายงานกนง.ห่วงบาทแข็งค่า หวั่นกระทบเศรษฐกิจ-ผู้ส่งออก เปิดทางพิจารณามาตรการเพิ่มเติมทั้งระยะสั้นและระยะยาว


   การเปิดรายงานกนง.ฉบับย่อ ครั้งที่ 7 เมื่อ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา มีปัจจัยสำคัญๆที่น่าสนใจ โดยเฉพาะปัจจัย “ค่าเงินบาท” ที่เป็นที่จับตาของนักลงทุน และผู้ดำเนินนโยบายการเงิน ภายใต้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าค่อนข้างมากในช่วง พ.ย.นี้

   โดย กนง.ระบุว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น มาจาก เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลกลับเข้ามาในตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มากขึ้น จากสภาวะ “เปิดรับความเสี่ยง” (risk-on) หลังเลือกตั้งสหรัฐมีความชัดเจน ความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมา จึงเห็นกระแสเงินทุนไหลเข้าไทยมากขึ้น โดยเข้ามาในบอนด์ระยะสั้นทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ารวดเร็ว

   ค่าเงินบาท ที่แข็งค่าขึ้นรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง และกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ส่งออกที่ลดลง และกระทบต่อเนื่องสู่การจ้างงานของภาคธุรกิจ ดังนั้นสถานการณ์ค่าเงิน ถือเป็นปัจจัยที่มีความท้าทายระยะสั้น จากแนวโน้มเงินไหลเข้าที่ยังมีต่อ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้พิจารณาความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสม “เพิ่มเติม” ทั้งใน “ระยะสั้น” และ “ระยะยาว”

   อีกปัจจัยที่น่าสนใจ คือ ภาคการเงินที่เปราะบางมากขึ้น จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าและแตกต่างกันระหว่างภาคเศรษฐกิจ ส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ในระยะข้างหน้า โดยภาคธุรกิจมีฐานะการเงินที่เปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ การท่องเที่ยวที่มีระดับการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่ำกว่าก่อนเกิดโควิด-19

   ขณะที่ ธุรกิจเอสเอ็มอี มีข้อจำกัด ในการเข้าถึง “สินเชื่อ”จากความเสี่ยงด้านเครดิตที่ปรับสูงขึ้น ไม่ต่างกับภาคครัวเรือนที่ยังเผชิญกับความเปราะบาง ตามระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น จากรายได้ครัวเรือนที่ฟื้นตัวช้า

   ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง ทำให้การลดสัดส่วนหนี้ต่อรายได้เป็นไปได้ช้า กดดันการบริโภคและการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง จึงจำเป็นที่ต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูการเติบโตรายได้ภายใต้บริบทใหม่หลังโควิด-19

   ดังนั้นการประสานมาตรการภาครัฐ มีบทบาทสำคัญในการกระจายสภาพคล่องไปยังภาคส่วนที่ต้องการอย่างตรงจุด ทั้งมาตรการสินเชื่อและการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐและของ ธปท.

   คณะกรรมการฯ เล็งเห็นถึงความสำคัญของบทบาทธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ รวมถึงบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เพื่อช่วยลดความเสี่ยงด้านเครดิต และทำให้สภาพคล่องกระจายอย่างทั่วถึงมากขึ้น