ประสบการณ์ดิจิทัล จุดเริ่มต้นของช่องว่างระหว่างวัย

แม้เด็กรุ่นใหม่ที่เป็น 'Digital Native' และผู้ใหญ่ชาว 'Digital Immigrant' ต่างถูกกระแสเทคโนโลยีนำพามาให้ใช้ชีวิตติด Digital เหมือนกัน แต่ก็ยังเกิด 'ช่องว่างระหว่างวัย' และกลายเป็นปัญหา จุดเริ่มต้นของระยะห่างทางความคิดนี้มีที่มาจากไหน?

ไวรัส Covid-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกในปี 2020 เป็นปัจจัยสำคัญแกมบังคับให้เทคโนโลยี Digital เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด คนทำงานต้องหยุดงาน ผู้ใหญ่ต้องอยู่บ้าน เด็กนักเรียน นักศึกษาต้องหยุดเรียน การเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน การไปมาหาสู่ระหว่างสมาชิกในครอบครัว เพื่อนฝูง การจับจ่ายใช้สอยต่างๆ หรือแม้แต่การรับประทานอาหารนอกบ้านต้องหยุดชะงัก

การดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่ ซึ่งเรียกกันว่า New Normal เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องยอมรับและปรับตัว แน่นอน เทคโนโลยี Digital ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดถูกนำมาใช้อย่างเต็มที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผู้ใหญ่หลายคนซึ่งไม่คุ้นเคยหรือปฏิเสธเทคโนโลยีจำเป็นต้องเรียนรู้และใช้บริการของ Digital อย่างเต็มที่ สำหรับเด็กๆ ซึ่งคุ้นเคยอยู่แล้ว นอกจากจะช่วยสอนรุ่นใหญ่ที่ไม่ถนัด ก็ยังมีนวัตกรรมหรือการบริการ Digital ต่างๆ ออกมาให้ใช้อย่างมากมายกว่าเดิม โดยเฉพาะโปรแกรมเพื่อความบันเทิง เพื่อการจับจ่ายใช้สอย

การที่ทุกคนต้องปรับตัวให้เข้ากับการทำงานจากที่บ้าน (Work from home) การเรียน Online ทำให้ทุกคนพัฒนาทักษะทาง Digital ขึ้นอย่างมาก ความสะดวกใจ ความมั่นใจ ความคล่องตัวและความรวดเร็วจากการใช้บริการต่างๆ ผ่านเทคโนโลยี Digital ทำให้ทุกคนติดใจ ต่อให้อีกหน่อย Covid-19 จะหมดไป สถานการณ์โลกจะเข้าสู่สภาวะปกติ แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่ากิจกรรมหลายๆ อย่างจะยังคงอยู่ อาทิ การใช้บริการสั่งสินค้า Online  การใช้บริการอาหาร Online หรือการทำการบ้านหรือประขุมทำกิจกรรมทางการศึกษาผ่านระบบ Online เป็นต้น

  • ช่องว่างระหว่างวัย

เมื่อคนทุกวัยต้องมาอยู่บน Digital Platform มากขึ้น เปิดกว้างขึ้น ทั้งในการทำธุรกิจ การสื่อสาร บันเทิง รวมถึงการหาข้อมูลใหม่ๆ ที่ไร้ขีดจำกัดบนสังคม Online  มีการผลิตคอนเทนต์เพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ โลกของผู้ใหญ่กับโลกของเด็กที่เคยแยกกันอยู่ ถูกนำพาให้มารวมอยู่ในที่เดียวกัน

ผมจะไม่ขอพูดถึงความรู้ความสามารถในการการหาความรู้ หรือดำรงชีวิตอยู่บนโลก Digital เพราะผู้อ่านทุกท่านคงจะไม่มีใครแย้งความจริงที่ว่าเด็กยุคนี้เกิด และเติบโตมาพร้อมกับ Digital ซึ่งต่างกับผู้ใหญ่ ที่ส่วนหนึ่งถือว่าเป็นผู้ที่เต็มใจอพยพมาจากโลก Analog

แต่อีกจำนวนมากโดนบังคับให้ย้ายมาอยู่ในโลกนี้แบบงงๆ และยังอาจจะอยู่ไม่เป็น สั่นคลอน อ่อนไหว หาความสุขหรือปล่อยวางกับชีวิตในโลก Digital ที่ชัดเจน รวดเร็ว รุนแรง ไม่ค่อยได้ โลก Digital จึงนำพาความทุกข์ ความขุ่นข้องหมองใจ อึดอัดมาสู่ผู้ใหญ่ ที่แม้จะต้องยอมรับในเรื่องราวต่างๆ ซึ่งเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ก็ยังคงทำใจลำบากในการปรับ mindset ให้เข้ากับโลกปัจจุบัน

แต่ไม่ว่าอย่างไร ทุกคนในโลกใบนี้ก็คงต้องอยู่กับ Digital อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชุดความคิด บทวิเคราะห์ การวิพากษ์ที่เปิดกว้างทำให้ความรู้ความเชื่อแบบเดิมๆ ถูกท้าทายด้วยข้อมูล แนวคิด ทฤษฎีใหม่ๆ การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่มิได้ถูกจำกัดอยู่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมที่มีผู้สอนเป็นผู้ให้ความรู้และผู้เรียนเป็นผู้บันทึก จดจำ ทำสอบ แต่การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่คือการหาข้อมูลของทั้งโลกที่ถูกโยนไว้ในโลก Digital มีข้อพิสูจน์มีหลักฐานเชิงประจักษ์

บรรยากาศในการหาความรู้ของคนรุ่นใหม่จึงเป็นบรรยากาศที่เปิดกว้าง เป็นห้องเรียนที่คนทั้งโลกมาพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความรู้ความคิด อุปสรรคทางภาษาที่เคยมีมาในอดีตหายไปเพราะในโลก Digital การแปลภาษาต่างประเทศมาเป็นภาษาไทย ทำได้อย่างสบายผ่านโปรแกรมการแปลที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ

ด้วยบริบทอันแตกต่าง ความรู้ใหม่ๆ ที่เข้ามาส่งผลต่อกระบวนการทางความคิดของคนรุ่นใหม่ ยิ่งเมื่อรวมเข้ากับ Lifestyle ลักษณะนิสัยของเด็กในวัยต่างๆ อาทิ Gen Z (อายุ 10-21 ปี) Gen M (อายุ 18-24 ปี) Gen Y (อายุ 22-38 ปี) ซึ่งชอบความท้าทาย มั่นใจในตัวเอง และต้องการความรวดเร็ว ถ้าหากผู้ใหญ่ ผู้ปกครองไม่เข้าใจบริบทดังกล่าวนี้ช่องว่างระหว่างวัยก็จะขยายขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ

  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้  

คนรุ่นใหม่อาจจะเก่งกาจ มีความเข้าใจใช้ประโยชน์หาความรู้ความบันเทิงผ่านเทคโนโลยี Digital ได้มากกว่าผู้สูงอายุหรือพ่อแม่ผู้ปกครอง แต่ความรู้มิใช่เป็นสิ่งเดียวที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ ปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบสำคัญคือ ประสบการณ์’ ปัญหาหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตของแต่ละคน ทั้งในเรื่องส่วนตัวหรือการทำงาน ไม่สามารถใช้ความรู้หรือดีกรีในการแก้ไขปัญหา

ดังนั้น หากกลุ่มคนทั้งสองวัยทั้งวัย Digital และวัย Analog สามารถมาร่วมมือกันเปิดใจแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คนรุ่นใหม่เอาความรู้ในโลก Digital ที่เปิดกว้างมาผสมกับประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ผ่านกาลเวลาของคนรุ่นเก่า หรือจะเรียกให้สุภาพว่าผู้มีประสบการณ์

ส่วนผู้มีประสบการณ์ก็ใช้ความเป็นผู้ใหญ่เปิดใจรับฟังชุดข้อมูลใหม่ๆ ที่คนวัย Digital ได้มาจากการตระเวนท่องโลก Digital อันไพศาล ต่างฝ่ายต่างนำด้านดีและจุดแข็ง มาแลกเปลี่ยนผสมกลมกลืน รับฟังเหตุและผลซึ่งกันและกัน ยอมรับในความแตกต่าง ยอมรับในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของโลก

ความรู้สมัยใหม่บวกกับประสบการณ์หรือ Big Data ที่ถูกสะสมไว้ระหว่างการดำเนินชีวิตอันยาวนานของผู้ใหญ่ น่าจะเป็นสิ่งที่ลดช่องว่างระหว่างวัย และเพิ่มความพลังความคิดที่จะเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ใช่จะทำให้การดำรงชีวิตของทุกวัยมีความสุขขึ้นเท่านั้น แต่จะนำพาเอาความพัฒนาและความรุ่งเรื่องมาสู่สังคมและประเทศชาติที่ทุกคนบอกว่ารักที่สุดอีกด้วย