เกิดอะไรขึ้นกับ 'แกรมมี่' เปิดไทม์ไลน์ความเปลี่ยนแปลง GMM 25-ONE 31

เกิดอะไรขึ้นกับ 'แกรมมี่' เปิดไทม์ไลน์ความเปลี่ยนแปลง GMM 25-ONE 31

เปิดไทม์ไลน์ดิจิทัลทีวีในมือของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ทั้ง GMM 25 และ ONE 31 กับการพลิกเกมครั้งใหญ่ เมื่อกลุ่มทุนเปลี่ยนมือ

สถานการณ์โควิด ยังพ่นพิษต่อเนื่องไปสู่หลายอุตสาหกรรม โดย "อุตสาหกรรมสื่อ" ถือเป็นอีกหนึ่งเซ็คเตอร์ที่โดนผลกระทบเต็มๆ จากหลายเด้ง ทั้งเรื่องพฤติกรรมของผู้รับสารที่เปลี่ยนแปลง ภูมิทัศน์สื่อก็เปลี่ยนไป หลายสื่อต้องงัดกลวิธีปรับตัวให้ทันเพื่อความอยู่รอด และยิ่งมาเจอมรสุมเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 ก็ยิ่งซัดกระหน่ำให้ธุรกิจที่รวนอยู่แล้ว ต้องเซหนัก!

จนมาสู่ความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ในแวดวงสื่อส่งท้ายปี 2563 หลังจากช่องทีวีดิจิทัล “GMM25” ที่ดำเนินการภายใต้บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล จำกัด ซึ่งประสบปัญหาขาดทุน นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ หลังจากวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ช่อง GMM25 จะหยุดผลิตรายการเอง ฝ่ายข่าวต้องพ้นสภาพ พนักงานจาก 190 คน มีเพียง 50 คนที่ยังได้อยู่ต่อ แต่จะกระจายไปทำงานกับบริษัทในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ส่วนรายการข่าวของช่อง GMM25 นั้น ทีมข่าวช่องวันจะมาผลิตแทน

ขณะที่ในแง่ของผู้ถือหุ้น ก็มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นกัน โดย บริษัท อเดลฟอส จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือฐาปน สิริวัฒนภักดีและปณต สิริวัฒนภักดี ลูกชายของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของอาณาจักรไทยเบฟเวอเรจ ที่ถือหุ้น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล เทรดดิ้ง จำกัด หรือช่อง GMM25 มูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นราว 50% ก็ถอนตัวออกไป

โดยเมื่อวันที่ 26 ..2563 บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ฯ มีมติขายหุ้นบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด (GMMCH) ให้บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (ONE) ที่บริษัทถืออยู่ราว 50% มูลค่า 1,200 ล้านบาท

ซึ่งในบริษัทเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ฯ นั้น มีบริษัท ประนันท์ภรณ์ จำกัด ของปรมาภรณ์ ปราสาททองโอสถลูกสาวหมอเสริฐปราเสริฐ ประสาททองโอสถถือหุ้นอยู่ถึง 50% แต่การเข้าซื้อครั้งนี้ มีเงื่อนไขสำคัญคือ ปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัท GMMCH ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จะพามาไล่เรียงไทม์ไลน์ตั้งแต่เริ่มต้นก่อกำเนิดช่องทีวีดิจิทัลภายใต้อาณาจักรจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จนถึงวันที่ต้องเปลี่ยนมือการถือหุ้น และปรับรูปแบบองค์กรใหม่ในปัจจุบัน

ไทม์ไลน์สำคัญ

  • ปี 2557

บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เดินหน้าเข้าสู่อุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ประมูลได้ช่องทีวีดิจิทัลมา 2 ช่อง

- GMM25 ภายใต้บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล

- ONE31 ภายใต้บริษัท วัน สามสิบเอ็ด จำกัด

  • ปี 2559

- ปราสาททองโอสถ เข้าซื้อหุ้น 50% ในช่อง ONE 31 จากแกรมมี่

- ร่วมลงนามซื้อขายหุ้นกลุ่มเดอะวัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด
   > แกรมมี่ ถือหุ้น 25.50%
   >
บอย-ถลกเกียรติ วีรวรรณ 24.50%
   >
กลุ่มปราสาททองโอสถ 50%

  • ปี 2560

- กลุ่มดำรงชัยธรรม ที่ถือหุ้นทั้ง GMM 25 และ ONE 31 ได้ปรับแผนใหม่ ขายหุ้นใหญ่ GMM 25 ให้กลุ่มสิริวัฒนภักดี และหุ้นของ ONE 31 ให้กลุ่มปราสาททองโอสถ

- กลุ่มสิริวัฒนภักดี ในนามบริษัท อเดลฟอส จำกัด ได้ซื้อหุ้น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) จำนวน 10 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วนกว่า 50% ของทุานจดทะเบียนหลังการเพิ่มทุน
   > กลุ่มสิริวัฒนภักดี 50%
   > แกรมมี่ 50%

- แกรมมี่ ปรับโครงสร้างการถือหุ้นใหม่

  • ปี 2561

ตามเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2561 เรื่องมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นการช่วยผู้ประกอบการดิจิทัลทีวี โดยขยายเวลาชำระค่าใบอนุญาต

  • ปี 2563

กลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ (ช่องวัน 31, เอ็กแซ็กท์ ซีเนริโอ. แอ๊กซ์ สตูดิโอ, มีมิติ) ของบอย-ถกลเกียรติ เข้าซื้อบริษัทผลิตคอนเทนท์ GMM 25 ภายใต้บริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด (จีเอ็มเอ็มทีวี, จีเอ็มเอ็ม มีเดีย, เช้นจ์ 2561, จีเอ็มเอ็มสตูดิโอ อินเตอร์เนชั่นแนล) จํานวน 9,999,998 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 50%

ทั้งนี้ปัจจุบันธุรกิจของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ แยกเป็นกลุ่มธุรกิจหลัก ที่ดำเนินการภายใต้โมเดล "การให้บริการเพลงแบบครบวงจร" และกลุ่มธุรกิจย่อย โดยกลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 

1.ธุรกิจเพลง ที่ดำเนินการทั้งธุรกิจสินค้าเพลง ธุรกิจดิจิทัลมิวสิค ธุรกิจการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์

2.ธุรกิจบริหารศิลปิน 

3.ธุรกิจโชว์บิซ หรือธุรกิจจัดงานแสดงคอนเสิร์ต และเทศกาลดนตรี ที่มีรายได้หลักมาจากการจำหน่ายบัตร การสนับสนุนของสปอนเซอร์และการจัดกิจกรรมต่างๆ 

4.อื่นๆ เช่น ธุรกิจจำหน่ายสินค้าของศิลปิน ธุรกิจผลิตคอนเทนต์ศิลปินเพื่อช่องทางออนไลน์ ธุรกิจให้เช่าคอนเสิร์ตฮอล์ GMM Live House ฯลฯ

โดยกลุ่มธุรกิจย่อยที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ 1.ธุรกิจโฮม ช้อปปิ้ง เป็นการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางการจำหน่ายแบบตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านช่องรายการโอ ช้อปปิ้ง 

2.ธุรกิจภาพยนตร์ ดำเนินการภายใต้บริษัท จีดีเอช ห้าห้าเก้า จำกัด 

3.ธุรกิจโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ดำเนินการจัดจำหน่ายกล่องรับสัญญาณดาวเทียม กล้องรับสัญญาณทีวีดิจทัลภาคพื้นดิน กล่องรัสัญญาณอินเทอร์เน็ตทีวี เช่น กล่อง GMM Z Stream เป็นต้น สินค้าประเภทเครื่องเล่นพกพา และเครื่องเล่น MP3 คาราโอเกะ รวมถึงธุรกิจสื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มจากการร่วมค้า ได้แก่ บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจดิจิทัลทีวี ภายใต้ชื่อช่องวัน 31 และบริษัท จีเอ็มเอ็ม แชนแนล โฮลดิ้ง จำกัด ดำเนินธุรกิจดิจิทัลทีวี ภายใต้ชื่อช่องจีเอ็มเอ็ม 25 และธุรกิจวิทยุ ที่มีรายการทั้งหมด 3 สถานี คือ EFM, Greenwave และ Chill Online ธุรกิจผู้ผลิตคอนเทนต์ประเภทละคร ซีรีส์ และรายการต่างๆ 

ขณะที่ในแง่ของรายได้รวมปี 2562 แกรมมี่ทำรายได้ทั้งหมด 6,640.2 ล้านบาท ซึ่งแม้จะลดลงจากปีก่อนหน้า 4.9 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังสามารถทำกำไรสุททธิ 342 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 326 ล้าน 

โดยถือเป็นการกลับมาทำกำไรได้อีกครั้งของแกรมมี่หลังจากขาดทุนหลายปีต่อเนื่อง เพิ่งจะมาฟื้น พลิกเป็นกำไรครั้งแรกก็เมื่อปี 2561 และ 2562 ล่าสุดนี้เอง

จึงต้องจับตาอีกครั้งว่า การปรับโครงสร้างเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใน  "ธุรกิจร่วมค้า" ใน 2 ช่องทีวีดิจิทัล "ดาบราคาแพง" ต้นทุนสูงลิบ ที่ยังไม่สามารถฟันกำไรได้ถนัด มีแต่เฉือนเนื้อให้เลือดซิบอยู่นาน จะถึงเวลาพลิกคมออกและพุ่งทำกำไรได้แล้วหรือไม่!?

ที่มา : grammy