กมธ.เศรษฐกิจจ่อเรียก CP ชี้แจงปมควบรวม Tesco Lotus

กมธ.เศรษฐกิจจ่อเรียก CP ชี้แจงปมควบรวม Tesco Lotus

เลขาธิการบอร์ดแข่งขัน แจงเหตุผลอนุญาตควบรวม “ซีพี-เทสโก้” ยืนยันพิจารณาตามอำนาจกฎหมาย ยึดโหวตข้างมาก ยอมรับมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ กมธ.เศรษฐกิจ เตรียมเรียก ซีพี ซัพพลายเออร์ ชี้แจงเพิ่ม

นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฏร ประชุมวานนี้ (25 พ.ย.) พิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัทเทสโก้ สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีก Tesco Lotus โดยเชิญคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีชี้แจง

คณะกรรมาธิการฯ ได้ซักถามประเด็นการตัดสินให้อนุญาตควบรวมกิจการการค้า โดยเฉพาะผลกระทบของการควบรวมธุรกิจ ขอบเขตตลาด ทั้งบทวิเคราะห์การตัดสินใจ ข้อเท็จจริงสนับสนุนการตัดสินใจ และเงื่อนไขการอนุญาต รวมทั้งสอบถามข้อกังวลการใช้อำนาจเหนือตลาดและมาตรการในการป้องกันพฤติกรรมที่อาจจำกัดการแข่งขัน

นายสมศักดิ์ เกียรติชัยลักษณ์ เลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ชี้แจงว่า ขั้นตอนการควบรวมกิจการอ้างอิงถึง พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ที่กำหนดหลักเกณฑ์การควบรวมธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด 

ทั้งนี้ กรณีการควบรวมกิจการของ บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และบริษัทเทสโก้ สโตร์ (ประเทศไทย) จำกัด อาจเข้าข่ายการการมีอำนาจเหนือตลาดต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ซึ่งการพิจารณาได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายตั้งแต่โครงสร้างผู้ถือหุ้น อำนาจควบคุมตลาด ขอบเขตตลาดค้าปลีก และประเมินผลกระทบต่อการแข่งขัน

นอกจากนี้ คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าได้ตั้งคณะอนุกรรมการไปศึกษาข้อมูล โดยเฉพาะความหมายของการค้าปลีกที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ซึ่งอนุกรรมการสรุปว่า ตลาดค้าปลีกมี 3 ประเภท คือ 

1.ไฮเปอร์มาร์เก็ต เช่น เทสโก้ โลตัส แม็คโคร

2.ซุปเปอร์มาร์เก็ต เช่น ท็อป ซุปเปอร์มาร์เก็ต ,เทสโก้ โลตัส ,บิ๊กซี

3.คอนเวนเนียนสโตร์ เช่น เซเว่น อีเลฟเว่น ,เทสโก้ เอ็กซ์เพรส ,แฟมิลี่มาร์ท โดยคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้พิจารณาว่าการรวมครั้งนี้มีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งได้นำข้อมูลในเชิงปริมาณและมูลค่าในตลาดมาประกอบการพิจารณาด้วย

ส่วนการพิจารณาผลกระทบของการควบรวมธุรกิจได้พิจารณาประเด็นการกระจุกตัวของตลาดพบว่า การมีการกระจุกตัวเพิ่มขึ้นและมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ห้ามให้ผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ ขณะที่รายเดิมสามารถขยายสาขาได้ 

ด้านผลกระทบต่อการรวมธุรกิจที่ทำให้เกิดการครอบงำตลาดที่มีโอกาสเกิดแต่ยากมาก ส่วนผลกระทบต่อผู้บริโภคนั้นก็ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง

“กรรมการเสียงข้างมากพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจแต่มองว่า คู่แข่งเข้ามาแข่งขันได้ ส่วนรายเดิมขยายสาขาได้ ขณะที่คณะกรรมการเสียงข้างน้อยเห็นว่า เมื่อควบรวมแล้วจะส่งต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ จึงเป็นที่มาขอมติเสียงข้างมากอนุญาตให้ควบรวมกิจการ แต่อนุญาตแบบมีเงื่อนไขเพราะมีผลกระทบที่เยียวยาได้” นายสมศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้สอบถามเงื่อนไข 7 ข้อต้องปฏิบัติหลังควบรวมธุรกิจ โดยเฉพาะเหตุผลการออกเงื่อนไข 7 ข้อ จะป้องกันการใช้อำนาจเหนือตลาดได้อย่างไร

นายสันติชัย ชี้แจงประเด็นนี้ ว่า เงื่อนไข 7 ข้อ เป็นเงื่อนไขการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะติดตามการปฏิบัติตามเงื่อนไข และหากไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนจะมีมาตรการทางกฎหมายดำเนินการต่อไป 

ส่วนการอุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าขึ้นกับผู้ขอควบรวมธุรกิจยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองได้ภายใน 60 วัน ซึ่งขึ้นกับคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ในขณะที่ผู้เกี่ยวข้องโดยตรงจะอุทธรณ์ได้หรือขึ้นกับศาลปกครองพิจารณาเช่นกัน แต่ไม่สามารถอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้เพราะกฎหมายไม่ได้ระบุไว้

นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า แนวทางการทำงานของคณะกรรมาธิการฯ หลังจากนี้จะเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาให้ข้อมูลเพิ่มทั้ง กลุ่มซีพี ,เทสโก้ โลตัส ,ห้างค้าปลีก ,ซัพพลายเออร์รายย่อย เพื่อสอบถามผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ทั้งนี้ กรรมาธิการฯ หลายคนสอบถามถึงขอบเขตตลาด การมีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งข้อมูลที่ชี้แจงบางเรื่องทำให้สับสนถึงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ว่า การตัดสินใจอนุญาตให้ควบรวมธุรกิจจะไม่ทำให้เกิดการแข่งขัน และส่งผลให้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ 

รวมทั้งเงื่อนไข 7 ข้อ ที่ออกบังคับให้ผู้ควบรวมธุรกิจต้องปฏิบัติตามจะเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการควบรวมธุรกิจได้แค่ไหน ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ กังวลจึงจะตรวจสอบและติดตามเรื่องนี้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบของการควบรวมธุรกิจจะได้รับการดูแลได้อย่างเหมาะสมและสมเหตุสมผล ทั้งนี้คณะกรรมาธิการฯ จะรอคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้ารายบุคคลว่ามีรายละเอียดอย่างไรเพื่อมาประกอบการพิจารณา

นอกจากนี้มองว่าการทำงานของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าในฐานะองค์กรอิสระควรมีกลไกการตรวจสอบ เพราะกรณีนี้ไม่มีกลไกอุทธรณ์คำสั่งกับคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ยกเว้นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับคำขอควบรวมกิจการ