จักรยานยนต์นวัตกรรม‘ยามาฮ่า’กลยุทธเจาะตลาดเอเชีย

จักรยานยนต์นวัตกรรม‘ยามาฮ่า’กลยุทธเจาะตลาดเอเชีย

จักรยานยนต์นวัตกรรม‘ยามาฮ่า’กลยุทธเจาะตลาดเอเชีย หลังจากช่วง10ปีที่ผ่านมายอดขายของบริษัทร่วงลง 13% เหลือเพียง 5.05ล้านคัน ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดลดลง2.3% เนื่องจากภาวะอิ่มตัวในประเทศพัฒนาแล้ว

ยามาฮ่า มอเตอร์ ผู้ผลิตจักรยานยนต์รายใหญ่สุดอันดับสามของโลก กำลังทำตลาดจักรยานยนต์เพื่อดึงดูดลูกค้าหน้าใหม่ในเอเชีย อย่างอินโดนีเซียและอินเดีย ที่ถือเป็นตลาดรถจักรยานยนต์ใหญ่สุดของยามาฮ่า โดยรถรุ่นใหม่ของยามาฮ่าทำงานเชื่อมต่อกับแอพพลิเคชันบนมือถือเป็นหลัก หวังเอาใจลูกค้าวัยหนุ่มสาวที่เปิดรับนวัตกรรม และเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน

กลยุทธใหม่ของยามาฮ่ามีเป้าหมายที่จะพัฒนาและยกระดับบริษัทขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งที่ไม่ได้เป็นเพียงผู้ผลิตรถจักรยานยนต์เพียงอย่างเดียวแต่ยังเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ที่ขายประสบการณ์ฟังก์ชั่นการทำงานของรถตามคำสั่งของลูกค้า โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน

เมื่อเดือนก.พ.ยามาฮ่าเปิดตัวจักรยานยนต์รุ่นล่าสุดในสายการผลิตสกู๊ตเตอร์เอ็นแม็กซ์ในอินโดนีเซีย ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่สุดของบริษัท และถือเป็นการทำตลาดครั้งแรกในโลกที่ยามาฮ่าใช้แอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่เรียกกันว่า “ยามาฮ่า มอเตอร์ไซเคิล คอนเน็ก เอ็กซ์”ผ่านเทคโนโลยีไร้สายบลูทูธคลื่นสั้น และแอพฯจะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความเร็วของจักรยาน ระยะการขี่ สถานที่ตั้งและการดำเนินงานด้านอื่นๆ ที่จะถูกมอนิเตอร์จากหน่วยงานควบคุมอีกทีหนึ่ง

จากนั้นข้อมูลที่ถูกรวบรวมมาจะถูกวิเคราะห์โดยแพลทฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลของยามาฮ่า เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของการบริโภคพลังงานและได้รับคำเตือนกรณีที่เกิดปัญหาผิดพลาดกับส่วนต่างๆของจักรยานยนต์

ประมาณ28% ของแผนกจัดจำหน่ายของยามาฮ่าเดินทางไปที่อินโดนีเซียเมื่อปี 2562 และเนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยจักรยานยนต์และมีผู้ใช้จักรยานยนต์มากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย การมีแอพฯจะช่วยให้เจ้าของรถตามหารถของตัวเองได้ง่ายและรวดเร็ว เมื่อนำรถมาจอดในที่จอดรถสาธารณะ

ยามาฮ่า ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในเมืองอิวาตะ ตอนกลางของจังหวัดชิสุโอกะใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ข้อบกพร่องและวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่และยังอัพเดทซอฟต์แวร์ไร้สายแก่รถจักรยานด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้การเพิ่มฟังก์ชั่นการทำงานของรถดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องที่ยามาฮ่ายังไม่ได้ตัดสินใจ แต่บริษัทกำลังพิจารณาที่จะปรับการขับขี่เพื่อให้ผู้ใช้รถแต่ละคนมีความสะดวกสบาย ทั้งยังมีแผนพัฒนามอเตอร์ไซค์ที่ติดตั้งระบบการบริการต่างๆให้เชื่อมต่อกันสำหรับลูกค้าของบริษัทจำนวน 200 ล้านคนภายในปี 2573

“การขายผลิตภัณฑ์ไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายของเรา เราปรารถนาที่จะเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ด้วยการเสนอการบริการที่เต็มไปด้วยประสบการณ์ในการจับคู่ความต้องการของลูกค้าแต่ละคนเข้าด้วยกัน”โนริโอะ ยามาดา หัวหน้าศูนย์ไอทีของยามาฮ่า กล่าว

โครงการที่บริษัทเปิดตัวโดยใช้ชื่อว่า“เดสติเนชัน ยามาฮ่า”ในสหรัฐและยุโรปเพื่อแนะนำการทัวร์ตามจุดต่างๆทั่วโลกเป็นตัวอย่างการบริการที่เปิดโอกาสให้แก่ผู้ชื่นชอบประสบการณ์แนวผจญภัย ซึ่งยามาฮ่าวางแผนที่จะเสนอทัวร์ตามความต้องการของลูกค้าสำหรับลูกค้ารายบุคคลในอนาคต

ขณะที่การบริการของบริษัทพุ่งเป้าไปที่ผู้นิยมขี่จักรยานยนต์แต่ก็ถือเป็นความท้าทายอุตสาหกรรมรถโดยรวมด้วย เพราะเป็นการพัฒนารถเพื่อคนหนุ่มสาวรวมถึงที่เรียกกันว่า“คนรุ่นเจนซีที่คุ้นเคยกับดิจิทัล” เกิดในช่วงทศวรรษ 1990 จนถึงต้นทศวรรษ2010 ซึ่งไม่ใช่พวกที่คุ้นเคยกับร้านจำหน่ายจักรยานยนต์และมีความสนใจจักรยานยนต์น้อยมาก

ยามาฮ่าเริ่มจำหน่ายจักรยานยนต์ทางออนไลน์ในอินเดียเมื่อเดือนส.ค.ด้วยความหวังว่าจะใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือเชื่อมสัมพันธ์กับลูกค้า และบริษัทได้นำเสนอรถจักรยานยนต์รุ่นต่างๆผ่านทางร้านเสมือนจริง โชว์เครื่องยนต์จากทุกมุมแบบสามมิติ และถึงแม้ผู้ซื้อจำเป็นต้องเดินทางไปดูรถจักรยานยนต์จริงๆที่โชว์รูมเพื่อการตัดสินใจขั้นสุดท้ายและได้รับการบริการด้านการซ่อมบำรุงแต่ก็สามารถจ่ายเงินดาวน์และสมัครเป็นสมาชิกทางออนไลน์ได้ก่อนในเบื่้องต้น

ค่ายรถจักรยานยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายนี้พึ่งพาตลาดอินเดียอย่างมาก โดยมีสัดส่วน13% ของยอดขายจักรยานยนต์ในตลาดโลกของบริษัทเมื่อปีที่แล้ว และนับจนถึงกลางเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ยามาฮ่ามีร้านจำหน่ายจักรยานยนต์ที่สามารถให้บริการทางออนไลน์ได้ด้วยจำนวน 300 แห่งด้วยกัน นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมเปิดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทางออนไลน์ในตลาดบราซิล ภายในปี 2564 ด้วย

“เราจะเปิดตัวการบริการในรูปแบบเดียวกันนี้ในภูมิภาคอื่นด้วย”ทัตสุมิ โอกาวา ผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายดิจิทัลและไอทีของยามาฮ่า กล่าว

ยามาฮ่าพยายามผลักดันให้เกิดการปฏิรูปด้านการดำเนินงานท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 และความไม่แน่นอนของตลาดรถทั่วโลก แม้ว่ายอดขายรถจักรยานยนต์ทั่วโลกในปี 2562 จะอยู่ที่ 53.36 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 8% จากช่วง10ปีที่ผ่านมา นำโดยตลาดเกิดใหม่เช่นประเทศสมาชิกอาเซียนและอินเดีย แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวยอดขายของบริษัทร่วงลง 13% เหลือเพียง 5.05ล้านคัน ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดลดลง2.3% เหลือ 9.5% เนื่องจากภาวะอิ่มตัวในประเทศพัฒนาแล้วและยอดขายในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ปรับตัวลดลง

ส่วนฮอนด้า มอเตอร์ ซึ่งมีส่วนแบ่งในตลาดโลก 36.6% ก็พยายามปกป้องส่วนแบ่งตลาดของตัวเองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในบรรดาคู่แข่งที่แข็งแกร่งในตลาดอินเดียคือค่ายรถฮีโร มอเตอร์ คอร์ป ที่มีส่วนแบ่งในตลาดโลก 12.8% และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่สุดอันดับสองในอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ใหม่ของยามาฮ่าเป็นเหมือนบททดสอบความพยายามของค่ายรถที่จะหันไปเน้นการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานการบริการมากกว่าแค่การขายสินค้าคือตัวรถจักรยานยนต์ โดยพึ่งพาเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากขึ้น