ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องฯ 'Lemon Law' ที่ต้องรอ

ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องฯ 'Lemon Law' ที่ต้องรอ

เปิด "ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ..." หรือ Lemon Law ที่จะช่วยคุ้มครองผู้ซื้อหรือผู้บริโภคให้เรียกร้องสิทธิได้มากขึ้น รวมถึงเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ผู้ขายหรือผู้ประกอบธุรกิจ

ปกติเมื่อตัดสินใจซื้อสินค้า ผู้ซื้อย่อมคาดหวังหรือต้องการได้รับสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน แต่หากสินค้าใหม่ที่จ่ายเงินซื้อมามีความชำรุดบกพร่อง เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าใช้การไม่ได้หรือชำรุดเสียหาย ทั้งที่ใช้งานไม่นาน โทรศัพท์มือถือใช้งานได้ไม่สมบูรณ์ รถยนต์ใหม่มีปัญหาที่ระบบเกียร์หรือเครื่องยนต์ทำให้ต้องเอาเข้าศูนย์ซ่อมแซมบ่อยครั้ง หรือสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบ online แล้วผู้ซื้อได้รับสินค้าที่เสียหายไม่ตรงปก เช่นนี้แล้วผู้ซื้อจะทำอย่างไรได้บ้าง

ตามหลักสัญญาซื้อขายผู้ขายต้องรับผิดต่อผู้ซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) เรื่องความรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่อง ซึ่งผู้ซื้อจะมีสิทธิหลายประการ เช่น เรียกค่าเสียหาย ปฏิเสธไม่รับมอบสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง ปฏิเสธการชำระราคา ใช้สิทธิยึดหน่วงราคาหรือเลิกสัญญา 

อย่างไรก็ดี บางกรณีผู้ซื้อต้องการรับสินค้าไว้เพื่อใช้ประโยชน์ หากผู้ซื้อตกลงกับผู้ขายไม่ได้ก็ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล ภาระการพิสูจน์ถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าจะตกอยู่กับผู้ซื้อ ซึ่งนับเป็นเรื่องยากที่ผู้ซื้อจะพิสูจน์ได้ว่าเป็นความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นก่อนส่งมอบสินค้า นอกจากนี้ผู้ซื้อไม่สามารถใช้สิทธิซ่อมแซม เปลี่ยนสินค้า หรือขอลดราคาในกรณีสินค้าชำรุดบกพร่อง เพราะ ป.พ.พ.ไม่ได้รับรองไว้

ขณะที่หลายประเทศได้บัญญัติกฎหมายความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องหรือ Lemon Law (Lemon คำสแลงหมายถึงสินค้าใหม่ที่มีความชำรุดบกพร่อง) และกำหนดสิทธิหน้าที่ความรับผิดไว้เป็นการเฉพาะ เช่น สหรัฐมีกฎหมาย Lemon Law ในระดับมลรัฐโดยมุ่งใช้บังคับเฉพาะรถยนต์ใหม่ที่ใช้งานไม่เกิน 6 เดือน ขณะที่กฎหมายเยอรมนีรับรองสิทธิผู้ซื้อกรณีสินค้าชำรุดบกพร่องไว้ในประมวลกฎหมายแพ่ง (BGB) โดยนอกจากเลิกสัญญาแล้วยังมีวิธีการเยียวยาคือ ซ่อมแซม เปลี่ยนสินค้าและลดราคาตามสภาพสินค้าตามลำดับ 

ทางฝั่งอาเซียน สิงคโปร์มี Lemon Law มาตั้งแต่ปี 2555 โดยใช้บังคับกับสินค้าทุกประเภทยกเว้นบ้าน ที่ดิน การเช่าซื้อสินค้าและการบริการ ส่วนฟิลิปปินส์คุ้มครองเฉพาะการซื้อรถยนต์มือหนึ่งเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้เมื่อปี 2557 คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติจึงได้เสนอ “ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ...” ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการเมื่อปลายปี 2560 ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาและได้มีการรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อต้นปี 2562 โดยได้แก้ไขชื่อร่างกฎหมายดังกล่าวเป็น “ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ...” 

ล่าสุดเมื่อเดือน มิ.ย.2563 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้รับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อรวบรวมข้อมูลส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ในส่วนหลักการสำคัญโดยสังเขปของร่าง พ.ร.บ. คือใช้บังคับกับสินค้าทุกประเภทไม่จำกัดเฉพาะรถยนต์มือหนึ่งหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กำหนดนิยามคำว่า “ผู้ซื้อ” หมายรวมถึงผู้เช่าซื้อในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ด้วย ผู้ขายต้องรับผิดเมื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้ามีอยู่ในวันส่งมอบ โดยหากสินค้าชำรุดบกพร่องภายใน 6 เดือน นับแต่วันส่งมอบ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสินค้านั้นชำรุดบกพร่องตั้งแต่วันส่งมอบ เว้นแต่ผู้ขายพิสูจน์ให้เห็นเป็นอย่างอื่น และขยายขอบเขตความรับผิดของผู้ขายไปถึงความชำรุดบกพร่องเนื่องจากการติดตั้งหรือประกอบสินค้าตามคู่มือ

ประเด็นสำคัญคือ กำหนดสิทธิที่ผู้ซื้อจะได้รับการเยียวยาให้ชัดเจน กล่าวคือเรียกให้ผู้ขายซ่อมแซมสินค้าได้ภายใน 60 วัน ถ้าไม่แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่รับมอบไว้ซ่อมแซม ผู้ซื้อมีสิทธิขอลดราคาหรือเลิกสัญญาได้ ถ้าผู้ซื้อเรียกให้ผู้ขายเปลี่ยนสินค้า หากผู้ขายเห็นว่าจะเกิดภาระเกินสมควรก็อาจเลือกที่จะซ่อมแซมสินค้าให้ก่อนได้ และผู้ซื้อยังใช้สิทธิขอลดราคาสินค้าได้ เว้นแต่เป็นกรณีสินค้ามีความชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อย ผู้ซื้อทำได้เพียงขอให้ซ่อมแซมสินค้าเท่านั้น

ส่วนกรณีเลิกสัญญา ผู้ขายมีสิทธิคิดค่าเสื่อมราคาอันเกิดจากการใช้สินค้านั้นได้โดยหักเงินจากที่ผู้ขายต้องคืนให้แก่ผู้ซื้อ แต่ผู้ขายไม่ต้องรับผิดในกรณีที่ผู้ซื้อได้รู้อยู่แล้วว่าสินค้ามีความชำรุดบกพร่อง เว้นแต่ผู้ขายปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้นหรือให้การรับประกันหรือเป็นสินค้าที่ซื้อจากการขายทอดตลาด และกฎหมายได้ขยายอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องเป็น 2 ปี นับแต่เวลาที่ผู้ซื้อพบเห็นความชำรุดบกพร่อง ทั้งนี้ ไม่กระทบต่อการใช้สิทธิเรียกร้องตามกฎหมายอื่น

ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีข้อดีในมิติด้านการคุ้มครองผู้ซื้อหรือผู้บริโภคเพราะสร้างความชัดเจนถึงกรณี “สินค้าชำรุดบกพร่อง” และขยายขอบเขตการเยียวยาผู้ซื้อสินค้าใหม่ อย่างไรก็ดี ยังมีความกำกวมในบางถ้อยคำเช่น อย่างไรคือความชำรุดบกพร่องเพียงเล็กน้อย? ส่วนผลกระทบคือฝ่ายผู้ขายหรือผู้ประกอบธุรกิจจะต้องแบกรับต้นทุนในการซ่อมแซม เปลี่ยนหรือคืนสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง ผู้ขายที่สายป่านยาวไม่เพียงพออาจประสบปัญหาได้ ด้วยเหตุนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจึงใช้เวลาในการพิจารณาที่ค่อนข้างยาวนานเพื่อศึกษาผลกระทบรอบด้านก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พยายามพัฒนา “ร่าง พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ...” หรือ Lemon Law ให้สำเร็จ เนื่องจากทุกฝ่ายตระหนักดีว่ากฎหมายฉบับนี้นอกจากจะช่วยคุ้มครองผู้ซื้อหรือผู้บริโภคให้เรียกร้องสิทธิได้มากขึ้นแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ผู้ขายหรือผู้ประกอบธุรกิจด้วย เพราะเมื่อสินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐาน ประชาชนย่อมมีความเชื่อมั่นในสินค้าทำให้เพิ่มกำลังซื้อและกำไร เป็นการช่วยกระตุ้นยอดขายและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้ทางหนึ่ง

ผู้เขียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า Lemon Law ของไทยที่จะประกาศใช้เป็นกฎหมายในภายภาคหน้าจะคุ้มค่ากับการรอคอยของประชาชน