CP จบดีล 3.3 แสนล้าน คว้า Tesco ไทย-มาเลเซีย

CP จบดีล 3.3 แสนล้าน คว้า Tesco ไทย-มาเลเซีย

บอร์ดแข่งขันการค้ามาเลเซีย อนุญาต “ซีพี” ควบรวมเทสโก้มาเลเซีย ตั้งเงื่อนไขจ้างงานคนท้องถิ่น เพิ่มสัดส่วนคู่ค้าเอสเอ็มอีอย่างน้อย 10% ปิดดีลซื้อหุ้นเทสโก้ไทย-มาเลเซีย 3.3 แสนล้านบาท "ซีพีเอฟ" รุกตลาดเทส

บริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เข้าซื้อหุ้นกิจการ Tesco ในไทยและมาเลเซีย โดยการเข้าซื้อดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ของไทยเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2563 รวมทั้งได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของมาเลเซีย วานนี้ (11 พ.ย.) ทำให้ซีพีได้สินทรัพย์ในไทยและมาเลเซียมูลค่า 338,445 ล้านบาท

รายงานข่าวระบุว่า คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของมาเลเซีย ประกาศผลอนุมัติควบรวมระหว่างบริษัทในเครือซีพี กับ บริษัท Tesco Stores (Malaysia) Sdn.Bhd. ซึ่งประกอบธุรกิจค้าปลีกเครื่องหมายการค้า Tesco ในมาเลเซีย โดยเงื่อนไขที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของมาเลเซีย ให้ความสำคัญสอดคล้องกับคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของไทยที่กำหนดให้สนับสนุนธุรกิจเอสเอ็มอี โดยต้องเพิ่มสัดส่วนคู่ค้าเอสเอ็มอีอย่างน้อย 10% เป็นเวลา 5 ปี และต้องพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่นให้มีโอกาสขยายตลาดในต่างประเทศ

รวมทั้งกำหนดให้พนักงานในสโตรส์ที่มาเลเซียนั้น จำกัดจำนวนพนักงานต่างชาติที่มีทักษะในระดับต่ำ (Low-Skill Working) ไม่เกิน 15% โดยเน้นใช้คนท้องถิ่นและหากจำเป็นต้องเพิ่มพนักงานจากต่างชาติขอเป็นผู้เชี่ยวชาญสูงหรือมีทักษะสูงเพื่อดึงคนเก่งเข้ามาเลเซีย

ทั้งนี้ ตามรายงานของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งร่วมลงทุนซื้อหุ้นครั้งนี้กับบริษัทในกลุ่มซีพีสัดส่วน 40% ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2563 ถึงการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้จะทำให้กลุ่มซีพีได้ธุรกิจ Tesco ในมาเลเซียประกอบด้วยไฮเปอร์มาร์เก็ต 46 สาขาซุปเปอร์มาร์เก็ต 13 สาขาร้านค้าขนาดเล็ก 9 สาขา และให้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้า 56 สาขา

รวมทั้งก่อนหน้านี้ นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งร่วมลงทุนซื้อหุ้นครั้งนี้กับบริษัทในกลุ่มซีพีสัดส่วน 20% ออกมายืนยันว่า ซีพีเอฟได้เตรียมแผนการทำตลาดในปี 2564 ผ่านช่องทาง Tesco ในไทยและมาเลเซียเพิ่มมากขึ้น

ในขณะที่ธุรกิจของซีพีเอฟในมาเลเซียปัจจุบันมีธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจสัตว์เลี้ยงและแปรรูป (สุกร สัตว์น้ำ) และธุรกิจอาหาร โดยเริ่มเข้ามาลงทุนในมาเลเซียตั้งแต่ปี 2522

บอร์ดเสียงข้างน้อยตั้งโต๊ะแถลง

ส่วนการเข้าซื้อหุ้นกิจการ Tesco Lotus ในไทยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเมื่อวันที่ 2 พ.ย.2563 ด้วยคะแนนเสียง 4:3 โดยกรรมการเสียงข้างมากประกอบด้วยนายกฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์ นายสมชาติ สร้อยทอง นายสมเกียรติ ตันกิตติวัฒน์ และนายวิษณุ วงศ์สินศิริกุล

กรรมการเสียงข้างน้อยประกอบด้วย นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา ประธานกรรมการการแข่งขันทางการค้า นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ และนางอร่ามศรี รุพันธ์

วานนี้ (11 พ.ย.) นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ และนางอร่ามศรี รุพันธ์ ในฐานะกรรมการเสียงข้างน้อย เปิดแถลงข่าวถึงเหตุผลที่ลงมติไม่เห็นชอบการการอนุญาตให้รวมธุรกิจระหว่างบริษัท ซี.พี.รีเทล ดีเวลลอปเม้น จำกัด และบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด 

นายสันติชัย กล่าวว่า การรวมธุรกิจครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของการรวมธุรกิจขนาดใหญ่มากมีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท คาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าถึงจะมีอีกครั้ง ซึ่งขณะนี้สังคมกังขาและวิจารณ์ผลการตัดสินของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า โดยกรรมการเสียงข้างน้อยได้พิจารณา พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 ซึ่งใช้ดุลพิจารณาตามหลักเศรษฐศาสตร์และกฎหมาย โดยมีเหตุผลที่ไม่เห็นชอบให้อนุญาตควบรวม 4 ด้าน คือ

หวั่นกระทบเศรษฐกิจ-คู่แข่ง

1.การรวมธุรกิจในครั้งนี้จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อเศรษฐกิจประเทศ เพราะการรวมธุรกิจมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาดหรือครอบงำทางเศรษฐกิจ โดยผู้ขออนุญาตมีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภททั้งสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ 

รวมทั้งเมื่อผนวกกับธุรกิจค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงทั้งระดับค้าส่ง ค้าปลีกขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งทำให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดสูงมากจนครอบงำเศรษฐกิจการค้าของประเทศได้โดยง่ายและจะมีส่วนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น

2.ผลกระทบต่อคู่แข่ง (Competitors) ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดและมีส่วนแบ่งตลาดในระดับสูงทุกรูปแบบของการค้าส่งและค้าปลีก จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็นคู่แข่งทางธุรกิจที่มีอยู่หรือผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่เข้าสู่ตลาดยากขึ้น เพราะคู่แข่งที่จะแข่งขันได้ต้องใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดที่เน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ตลอดจนการลดราคาแข่งขัน เพื่อให้แข่งขันในตลาดได้ 

แม้จะมีผลดีในระยะสั้น แต่หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดไม่สามารถปรับตัวได้อาจต้องออกจากตลาดไป โดยเฉพาะคู่แข่งที่เป็นเอสเอ็มอีในที่สุดทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดลง

เพิ่มอำนาจบีบซัพพลายเออร์

3.ผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Suppliers) การรวมธุรกิจครั้งนี้กระทบอย่างมากต่อผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ เพราะเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่ที่มีอำนาจเหนือตลาด 

ทั้งนี้ หลังการรวมธุรกิจส่งผลให้ผู้ขออนุญาตและบริษัทในเครือเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคครบทุกรูปแบบ ซึ่งมีผลให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดและมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิตที่เป็นเอสเอ็มอีที่ไม่มีอำนาจต่อรองมาก จึงมีโอกาสสูงที่จะถูกเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการกำหนดเงื่อนไขทางการค้า หรืออาจถูกปิดกั้นช่องทางการจำหน่ายและต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด

4.ผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยรวม ผลของการรวมธุรกิจครั้งนี้ทำให้จำนวนคู่แข่งขันในตลาดลดลง แม้ระยะสั้นอาจไม่มีผลต่อผู้บริโภคทั้งด้านราคาหรือประเภทสินค้าที่มีให้เลือก แต่ระยะยาวอาจมีผลต่อทางเลือกของผู้บริโภคทั้งประเภทชนิดสินค้าและระดับราคา อาจมีการกำหนดตามความต้องการหรือนโยบายของกลุ่มบริษัทที่เป็นของผู้ขออนุญาต

 ทั้งนี้ ในต่างประเทศเมื่อรวมธุรกิจที่มีการกระจุกตัวมากขนาดนี้ จะกำหนดมาตรการจากหนักไปเบา ได้แก่ ไม่อนุญาต หรืออนุญาตแต่มีเงื่อนไขด้านโครงสร้างประกอบกับด้านพฤติกรรม และเบาสุดเฉพาะมาตรการด้านพฤติกรรม

นายสันติชัย กล่าวว่า ทั้งนี้การชี้แจงครั้งไม่มีมีผลต่อมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการ แต่ต้องการสร้างความชัดเจนเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้ทางผู้ขออนุญาตได้มารับมติคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าแล้ว และหากไม่เห็นด้วยสามารถยื่นคำร้องต่อศาลปกครองได้ภายใน 60 วันนับแต่ได้รับคำสั่ง ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องหากไม่เห็นด้วยกับคำสั่งต้องดำเนินการตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง