'เพื่อไทย' เดือด รัฐบาลไม่จริงใจแก้ปัญหา เตรียมเปิดซักฟอกนายกฯ

'เพื่อไทย' เดือด รัฐบาลไม่จริงใจแก้ปัญหา เตรียมเปิดซักฟอกนายกฯ

เพื่อไทย เดือด รัฐบาลไม่จริงใจแก้ปัญหาการเมือง หลังปล่อยส.ว.และส.ส.ยื่นตีความร่างรัฐธรรมนูญ เผย เตรียมสองประเด็นหลักเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ

ที่พรรคเพื่อไทย น.ส.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย  กล่าวถึงการที่ส.ว.และพรรคพลังประชารัฐยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ประเด็นร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่รัฐบาลเสนอไปยังรัฐสภา โดยมีความพยายามทำให้ร่างกฎหมายนี้เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศเพื่อให้ ส.ว. ที่ได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาร่วมขบวนดึงเกม รวมไปถึงกรณี ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ 25 คน และ ส.ว. 47 คน เพื่อยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ 3 ญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ต้องการเตะถ่วงเวลา และไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ดีไซน์มาเพื่อรักษาอำนาจของรัฐบาล การเดินเกมการเมืองของรัฐบาลตั้งแต่การตั้งคณะ กมธ.พิจารณาร่างแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ยอมรับหลักการสมัยประชุมที่แล้ว

น.ส.อรุณี กล่าวว่า ส่วนการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ก็ส่อแววแท้งก่อนคลอด เกิดจากท่าทีของ ส.ส. ฝั่งรัฐบาลทั้งสิ้น ถึงแม้นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปฝ่ายรัฐบาล จะออกมายืนยันว่าในวันที่ 17 พ.ย.นี้ ร่างแก้รัฐธรรมนูญจะผ่านสภาในวาระแรกก็ตาม แต่เหมือนรัฐบาลตีสองหน้า เพราะการปล่อยให้ ส.ว. ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับหลักการ ถึงกระบวนการทางสภาจะเดินคู่ขนาน แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าร่างแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 3 ญัตติ ไม่ถูกต้อง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ กระบวนการทั้งหมดที่สภาพิจารณาก็จะสูญเปล่า รัฐบาลไม่มีความจริงใจแก้ปัญหาประเทศเลย ถ้าจริงใจการแก้รัฐธรรมนูญควรเกิดขึ้น และไม่ควรมี ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงไม่อาจเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ จึงควรตัดไฟตั้งแต่ต้นลมด้วยการหยุดอำนาจ ส.ว. ไม่ให้เข้ามาแทรกแซงในทุกกระบวนการ 

น.ส.อรุณี กล่าวว่า ส่วนการท่าทีและกระบวนการที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในการทำร่าง พ.ร.บ.ประชามติ จะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ ทั้งร่างประชามติที่มีข้อจำกัด นำไปสู่หนังม้วนเดิมที่เคยฉาย ทั้งห้ามการรณรงค์ การวางกฎเกณฑ์พิสดารต่างๆ ทั้งที่หลักการทำประชามติ คือ การฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่การแสวงหาช่องทางดึงเวลาให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อไป ไม่เห็นหัวประชาชนด้วยการหาช่องทางลิดรอนสิทธิประชาชนทางอ้อม และในอนาคต การทำประชามติควรจะลงไปสู่ระดับท้องถิ่นด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้เรื่องสาธารณะระดับจังหวัดมีข้อถกเถียงและสร้างการมีส่วนร่วมจากคนในพื้นที่

“การทำประชามติต้องไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพ อย่างที่รัฐบาลชุดนี้ถนัดทำมาตลอดกว่า 6 ปี กลายเป็นข้ออ้างความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่บิดเบี้ยว ทั้งที่เนื้อแท้มีการปิดปาก ห้ามการรณรงค์ ไล่จับกุมผู้เห็นต่างแล้วสร้างบรรยากาศความกลัว เพียงเพื่อต้องการครองอำนาจแบบฝืนกระแส” น.ส.อรุณี กล่าว 

ด้าน นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในสมัยประชุมสภานี้จะมีการขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างแน่นอน โดยมุ่งไปที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ซึ่งคณะทำงานของพรรคเพื่อไทยจะมีการประชุมกันเป็นระยะ

"ถามว่าพรรคเพื่อไทยมีความพร้อมขนาดไหน วันนี้พรรคมีข้อมูลแน่นอน เช่น การต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ทำให้ต้องเสียขุนคลังไปถึงสองคน เพราะเป็นเรื่องที่ไม่ผ่านกฎหมายร่วมทุน แต่กลับได้รับการยกเว้นด้วยอำนาจมาตรา 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ล่าสุดรมว.คลังคนปัจจุบันเตรียมเสนอครม.ให้ต่อสัมปทานออกไปอีก โดยไม่มีการแก้ไขทบทวนให้พิจารณาตามกฎหมายร่วมทุนใดๆทั้งสิ้น" นายยุทธพงศ์ กล่าว

นายยุทธพงศ์ กล่าวว่า เรื่องนี้คณะกรรมาธิการของสภาเคยมีความเห็นว่าไม่สนับสนุนการต่ออายุสัมปทานและได้แจ้งไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทำตามกฎหมายให้ถูกต้อง ทว่ารัฐบาลกลับเตรียมการลักไก่เสนอเข้าคณะรัฐมนตรีให้ต่อสัมปทานในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองมีการชุมนุมกันอยู่ นอกจากนี้ พรรคร่วมฝ่ายค้านยังเตรียมประเด็นเรื่องถุงมือยางขององค์การคลังสินค้าที่มีการจ่ายเงินล่วงหน้า 2 พันล้านบาทและมีการเบิกเงินเอาไปแบ่งกัน ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับนักการเมืองหลายคน ซี่งเป็นประเด็นที่พรรคเพื่อไทยจะนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อไป