ไม่สร้าง 'ความแตกแยก' จาก 'สหรัฐ' ถึง 'ไทย'

ไม่สร้าง 'ความแตกแยก' จาก 'สหรัฐ' ถึง 'ไทย'

จากถ้อยแถลง "โจ ไบเดน" ที่กล่าวกับคนอเมริกันครั้งแรก ทั้งการรับปากว่าจะสร้างวันใหม่สำหรับสหรัฐ รวมถึงจะไม่สร้างความแตกแยก กลายเป็นบทสะท้อนที่ไทยต้องเร่งสางปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 และเดินหน้าต่อแบบไม่สะดุด

เมื่อวันที่ 7 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่น “โจ ไบเดน” ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐ ได้กล่าวปราศรัยต่อคนอเมริกันเป็นครั้งแรก โดยเขาได้ทิ้งวรรคทองไว้ให้ผู้คนทั้งโลกจดจำ นอกจากจะรับปากคนอเมริกันว่าจะสร้างวันใหม่สำหรับสหรัฐแล้ว “ไบเดน” ผู้ซึ่งกำลังจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐที่มีอายุสูงสุด ด้วยวัย 78 ปีผู้นี้ ยังรับปากหนักแน่นว่า ภายใต้การบริหารประเทศของเขา จะ “ไม่สร้างความแตกแยก” จะสร้างความเป็น “อันหนึ่งอันเดียวกัน” ให้กับคนในชาติ ดึงศักดิ์ศรีของชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลกคืนมา

ขณะที่ภารกิจแรกๆ ที่เขาและทีมงานจะเร่งผลักดันคือการ “แก้ไขปัญหาโควิด-19” ที่ยังระบาดหนักในสหรัฐ โดยสหรัฐถือเป็นชาติแรกของโลกที่มีผู้ป่วยโรคโควิด-19 มากกว่า 10 ล้านคน นับตั้งแต่เกิดโรคระบาดใหญ่ และยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อโดยเฉลี่ย 7 วันหลังสุด อยู่ที่ 105,600 เคสต่อวัน เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 29% และมากกว่าค่าเฉลี่ยรวมกันของอินเดียกับฝรั่งเศส 2 ชาติ ที่ได้รับผลกระทบหนักสุดในเอเชียและยุโรป

ย้อนกลับมาที่ประเทศไทย มีบางสถานการณ์เช่นกัน ที่คล้ายคลึงกับสหรัฐ โดยเฉพาะการชุมนุมยืดเยื้อ ส่อจะเกิดการปะทะกันของ 2 กลุ่มผู้เห็นต่างทางความคิด ระหว่างกลุ่มคณะราษฎร กับกลุ่มผู้ชุมนุมศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (ศ.ป.ป.ส.) ซึ่งเป็นเรื่องรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งหาข้อยุติก่อนสถานการณ์จะบานปลาย จะเป็นในรูปของการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ หรือแนวทางอื่นๆที่จะนำมาใช้ เพื่อลดรอยร้าวของผู้คนในสังคม ก่อนจะปริแตกจนยากจะสมาน ซึ่งหากสถานการณ์เดินไปถึงจุดนั้น ย่อมสร้างความเสียหายใหญ่หลวงให้กับประเทศชาติ

ขณะที่ในมุมของการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ต้องถือว่าไทยแก้ปัญหาได้ดีกว่าสหรัฐ และอีกหลายประเทศในโลกจากการจัดการปัญหาโควิด-19 ให้คลี่คลายลงได้ จนนานาประเทศให้การยอมรับ นำไปเป็นกรณีศึกษา ทำให้ไทยเริ่ม “เดินหน้าเปิดประเทศ” ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยด้วยการให้วีซ่าประเภทต่างๆเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การจัดการโควิด-19 ได้ดียังนับเป็น“อานิสงส์” สำหรับหลายธุรกิจดาวรุ่งหลังโควิด อย่างธุรกิจบริการสุขภาพ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่ไทยมีโอกาส “ยกระดับ” สู่การเป็นศูนย์กลางธุรกิจดังกล่าวในระดับเอเชีย หรือแม้แต่ในระดับโลก 

ถ้อยแถลงของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ จึงกลายเป็นอีก “บทสะท้อน” ทำให้ประเทศไทยต้องตระหนักเร่งสางปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในประเทศตัวเอง เพื่อทำให้การฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19 เดินหน้าต่อไปแบบไม่สะดุด ชาติมหาอำนาจเริ่มปรับทัศนคติของคนในชาติแล้ว เราซึ่งเป็นประเทศเล็กๆในแผนที่โลก ทว่าถือไพ่เหนือแต้ม อีกหลายชาติในการแก้ไขปัญหาโควิด-19 รออะไรอยู่ เลิกรบกันเอง ตั้งโต๊ะเจรจาหาทางออกของปัญหาอย่างจริงจัง แบบ “คิดต่างได้แต่ต้องไม่แตกแยก” น่าจะเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาการชุมนุมที่มีอยู่ได้ดีที่สุด ขอเพียงคู่ขัดแย้งแต่ละฝ่ายต้อง “เปิดใจ”