'คมนาคม' ล้มแทรมภูเก็ต สั่งศึกษารถโดยสารด่วนพิเศษไฟฟ้า

'คมนาคม' ล้มแทรมภูเก็ต สั่งศึกษารถโดยสารด่วนพิเศษไฟฟ้า

“คมนาคม” สั่ง รฟม.รื้อผลศึกษาระบบขนส่งภูเก็ต สั่งปรับรูปแบบเดินรถยกเลิก “แทรม” เหลือรถเมล์บีอาร์ทีไฟฟ้า หวังลดต้นทุนก่อสร้างกว่า 1 หมื่นล้าน ชี้เกิดประโยชน์ประชาชนได้นั่งราคาถูก คาดชง ครม.เคาะภายในปีนี้ พร้อมเปิดให้บริการปี 2569

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นอกสถานที่จังหวัดภูเก็ต กระทรวงฯ ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติ-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กิโลเมตร (กม.) วงเงินประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท

โดยเบื้องต้นโครงการดังกล่าว กระทรวงฯ ได้มอบให้ รฟม. ไปพิจารณาปรับรูปแบบระบบการเดินรถ เพื่อลดต้นทุนค่าก่อสร้าง เนื่องจากเล็งเห็นว่าเมืองใหญ่ๆ ในต่างประเทศ ได้ปรับมาใช้เป็นรถเมล์ไฟฟ้า (EV) ล้อยาง เพราะช่วยประหยัดค่าก่อสร้างได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท เนื่องจากระบบขนส่งดังกล่าวไม่ต้องทำระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณ อีกทั้งยังเกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะค่าโดยสารจะถูกลง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน รฟม.ยังอยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียดโครงการ ดังนั้นถือว่าโครงการยังสามารถปรับปรุงได้ และในร่างเงื่อนไขเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) ก็ไม่ได้ปิดกั้นว่าจะต้องพัฒนาเป็นรถไฟฟ้าแทรมเท่านั้น ดังนั้นเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ก็ควรเปลี่ยนการเดินรถในรูปแบบเดิมๆ ที่มีราคาแพง และความคุ้มค่าน้อย อีกทั้ง เมื่อดูรายละเอียดของผลการศึกษาล่าสุด ยังพบว่ามีผู้ใช้บริการเพียงแค่ประมาณ 3.9 หมื่นคนต่อวัน

ทั้งนี้ การปรับรูปแบบระบบการเดินรถดังกล่าว คาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาไม่นาน เพื่อสรุปการเลือกใช้ระบบขนส่งทดแทนอย่างเหมาะสม แต่เบื้องต้นน่าจะเป็นรูปแบบรถโดยสารด่วนพิเศษ หรือบีอาร์ที แต่เป็นระบบแบบไฟฟ้า (อีวี) วิ่งตามแนวเกาะกลางถนน โดยคาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาเห็นชอบได้ภายในปีนี้ และมีแผนจะเปิดให้บริการในปี 2569 

“การใช้พื้นที่เกาะกลางถนน ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร รฟม. ได้หารือกับกรมทางหลวง (ทล.) แล้ว ซึ่งการดำเนินการจะรื้อเกาะกลางออก ทำผิวจราจรใหม่ และใช้แบริเออร์กั้นระหว่างเลนของรถเมล์บีอาร์ที และรถยนต์ทั่วไป แต่สิ่งที่ รฟม. ต้องพิจารณาเพิ่มเติมคือ การสร้างสถานีที่จะให้ผู้โดยสารเข้าไปใช้บริการ ต้องมีการปรับแบบเพิ่มเติมหรือไม่”

นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวอีกว่า การใช้พื้นที่เกาะกลางถนนเพื่อพัฒนาแนวเส้นทางรถเมล์บีอาร์ทีนั้น รฟม.ต้องศึกษาด้วยว่า จะเป็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้อย่างไร อีกทั้ง ต้องพิจารณาด้วยว่าเมื่อรถถึงทางแยก จะต้องปรับเป็นแบบใด เช่น ทำเป็นอุโมงค์ลอด หรือหากจะให้ประหยัดเงินมากขึ้น ก็ควรใช้เพียงแค่การบริหารสัญญาณไฟจราจร ซึ่งต้องให้รถเมล์บีอาร์ทีไปก่อน

ส่วนเรื่องเส้นทางเดินรถ และจำนวนสถานี ยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง โดยมีระยะทางประมาณ 42 กม. และมี 21 สถานี อีกทั้ง ในอนาคตยังมีแผนจะให้โครงการนี้เชื่อมกับรถไฟที่จะไปพังงาที่บริเวณท่าอากาศยานภูเก็ตด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางไป จังหวัดพังงา มีระยะทางประมาณ 4 กม.

สำหรับโครงการแทรมภูเก็ต แนวเส้นทางโครงการ จะเริ่มจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ไปตามทางหลวงหมายเลข 4031 (แยกศาลาแดง-แยกหมากปรก) เชื่อมทางหลวงหมายเลข 4036 (แยกเหนือคลอง-แหลมกรวด) เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 402 (โคกกลอย-เมืองภูเก็ต) เพื่อเข้าเมืองภูเก็ต จากนั้นผ่านอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรี และท้าวศรีสุนทร ข้ามสะพานสารสิน มุ่งหน้าสถานีปลายทางท่าเรือฉลอง