การเลือกตั้งท้องถิ่น อย่าคิดว่าไม่สำคัญ

การเลือกตั้งท้องถิ่น อย่าคิดว่าไม่สำคัญ

"องค์กรปกครองท้องถิ่น" หน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ทุกตารางนิ้วของไทย ที่เร็วๆ นี้ ช่วงปลายปี 2563 จะมีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้น มีความสำคัญอย่างไร? และการปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนในแง่ของการพัฒนาแค่ไหน อย่างไรบ้าง?

หลายคนคงนึกไม่ถึงว่าทุกตารางนิ้วของประเทศไทยเรานั้นอยู่ในเขตอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) แต่คนทั่วไปมักจะไม่ค่อยเห็นความสำคัญโดยไม่ค่อยออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งๆ ที่ อปท.เหล่านั้นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและชีวิตประจำวันของเรา

เกือบทั้งประเทศยกเว้นในเขตกรุงเทพมหานครนั้นมี อปท.ถึง 2 ระดับ คือ 1.องค์การบริหารส่วนจังหวัดกับเทศบาลนคร หรือเทศบาลเมือง หรือเทศบาลตำบล 2.องค์การบริหารส่วนจังหวัดกับองค์การบริหารส่วนตำบล และ 3.องค์การบริหารส่วนจังหวัดกับเมืองพัทยา ที่ดูเหมือนว่าพื้นที่จะซ้อนกันอยู่แต่ก็เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ

ปัจจุบันเรามีองค์กรปกครองท้องถิ่นในรูปแบบทั่วไปอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1.องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง 2.เทศบาล จำนวน 2,469 แห่ง แบ่งเป็นเทศบาลนคร (ทน.) 30 แห่ง เทศบาลเมือง (ทม.) 191 แห่ง และเทศบาลตำบล (ทต.) 2,248 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,305 แห่ง และมีองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีก 2 รูปแบบ คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา

  • การเลือกตั้งท้องถิ่นสำคัญอย่างไร

การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่เป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพของประชาธิปไตยในระดับท้องถิ่นได้ในหลากหลายมิติ เช่น การตรวจสอบความสนใจของประชาชนที่มีต่อการเลือกตั้งจากประชาชนในท้องถิ่นว่ามีสูงมากเพียงใด โดยเปรียบเทียบได้จากระดับการมีส่วนร่วมในการใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนในท้องถิ่น ความเข้มข้นในการแข่งขันและช่วงชิงที่นั่งของผู้สมัครลงแข่งขันรับเลือกตั้งท้องถิ่น

ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นสามารถแสดงถึงการตอบสนองของประชาชนในท้องถิ่นที่มีต่อนโยบายที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในท้องถิ่นใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางของนโยบายในการพัฒนาท้องถิ่นที่มีอยู่เดิม ให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น ประเด็นที่ใช้ในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นนี้อาจจะมีความสอดคล้องหรือแตกต่างจากประเด็นนโยบายที่มีอยู่ในการเมืองระดับชาติก็ได้

แม้ว่าตามกฎหมายเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นของไทย จะไม่กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องสังกัดพรรคการเมืองก็ตาม แต่ที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน กทม.จะมีการประกาศตัวชัดเจนว่าตนเองสังกัดหรือได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองใด แต่ใน อปท.อื่นๆ ที่ผ่านมายังไม่มีการประกาศตัวชัดเจน แต่ในคราวนี้ที่จะมีการประเดิมการเลือกตั้ง อบจ.ในวันที่ 20 ธ.ค.2563 เริ่มมีการประกาศตัวชัดเจนมากขึ้น และมีความก้าวหน้าไปถึงการประกาศเป็นนโยบายกลางในการหาเสียงไปทั่วประเทศ ซึ่งก็นับได้ว่าเป็นวิวัฒนาการของการเลือกตั้งท้องถิ่นที่สำคัญ

ในกรณีการสังกัดหรือการสนับสนุนโดยพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองนี้ ในต่างประเทศผลการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญถึงความพอใจหรือไม่พอใจพรรครัฐบาลหรือนโยบายของรัฐบาล จนมีผลต่อการตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญๆ ของรัฐบาลเช่นกัน

  • การปกครองท้องถิ่นกับการพัฒนา

1.การให้การศึกษาและฝึกฝนทางการเมือง (Providing Political Education and Training) การปกครองท้องถิ่นนับเป็นหนึ่งในรูปแบบการศึกษาเรียนรู้ทางการเมือง เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นในแต่ละครั้งย่อมเป็นช่วงเวลาและบรรยากาศของการเรียนรู้ทางการเมืองเป็นอย่างดียิ่ง

2.การส่งเสริมความเป็นพลเมืองและการมีส่วนร่วม (Promoting Citizenship and Participation) การปกครองท้องถิ่นนับเป็นการส่งเสริมการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ในขณะที่การเมืองระดับชาติประชาชนมีความรู้สึกห่างไกลจากตนเอง ทำให้มีผลต่อการมีส่วนร่วม แต่การปกครองท้องถิ่นซึ่งมีความสัมพันธ์กับประชาชนอย่างใกล้ชิดแนบแน่นมากกว่าโอกาสที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองย่อมมีความเป็นไปได้มากกว่า เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเป็นพลเมืองที่มีความเข้มแข็งในทางการเมือง ตระหนักถึงสิทธิประโยชน์และความสำคัญของตนในทางการเมือง

และในท้ายที่สุดความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งในทางการเมืองการปกครองท้องถิ่น จะช่วยยกระดับ และขยายไปสู่ความเข้มแข็งในทางการเมืองระดับชาติต่อไป

3.ความเท่าเทียมทางการเมือง (Political Equality) เมื่อเทียบกับการเมืองในระดับชาติแล้ว การปกครองท้องถิ่นสร้างความเท่าเทียมทางการเมืองมากกว่า เพราะประชาชนมีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างทั่วถึง และกว้างขวางกว่าการเมืองระดับชาติ

4.เสถียรภาพทางการเมือง (political Stability) การปกครองท้องถิ่นเปรียบเหมือนการให้การศึกษาทางการเมือง ด้วยการให้ประชาชนมีประสบการณ์ในการเลือกผู้นำที่ตนไว้วางใจ ซึ่งความไว้วางใจที่มีต่อรัฐบาลนับเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นสำหรับประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพ

5.ความรับผิดชอบ (Accountability) การปกครองท้องถิ่นก่อให้เกิดความรับผิดชอบ สร้างการตรวจสอบและถ่วงดุลของประชาชนที่มีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

6.การสนองตอบ (Responsiveness) การปกครองท้องถิ่นจะคำนึงถึงสภาพของท้องถิ่นแต่ละแห่งว่ามีความแตกต่างกัน การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาจึงต้องสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น ซึ่งเป็นการสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนและความผูกพันของคนในชุมชน (Building and Articulating Community Identity) 

โดยให้ความสำคัญหรือเน้นย้ำถึงความหลากหลาย (Emphasizing Diversity) และส่งเสริมนวัตกรรมและการเรียนรู้ (Fostering Innovation and Learning) ซึ่งเป็นการกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Spurring of Economic Development) เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Transformation) และเป็นการกระจายผลลัพธ์ของการพัฒนาอย่างเป็นธรรม (Equitable Distribution of Fruit of Development)

จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นมีความสำคัญเป็นอันมาก และสามารถกล่าวได้ว่าอาจจะสำคัญกว่าการเลือกตั้ง ส.ส. เพราะ ส.ส.มีหน้าที่สำคัญคือการทำหน้าที่นิติบัญญัติหรือการออกกฎหมายและตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลกรณีที่เป็นฝ่ายค้าน มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาโดยตรง เพราะไม่มีงบประมาณเป็นของตนเอง

แต่การปกครองท้องถิ่นนั้นมีงบประมาณเป็นของตนเอง และมีหน้าที่โดยตรงต่อการพัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของเรา ตั้งแต่เกิดจนตายและตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน

น่าเสียดายที่แม้ว่าการปกครองท้องถิ่นมีความสำคัญขนาดนี้ แต่สถาบันการศึกษาต่างๆ ให้ความสำคัญน้อยมาก แม้แต่คณะรัฐศาสตร์เองที่มีการเรียนการสอนก็ตาม ก็ยังเป็นแค่วิชาเลือกหรือเป็นส่วนแทรกเพียงเล็กน้อยในวิชาหลักอื่นเท่านั้น การพัฒนาการปกครองท้องถิ่นจึงเป็นไปค่อนข้างเชื่องช้า

แต่อย่างไรก็ตาม การปกครองท้องถิ่นของไทยเราก็ได้พัฒนาไปมากพอสมควร แม้ว่าจะมีการพยายามฉุดให้ถอยหลังไปอยู่ตลอดเวลา แต่โลกต้องวิวัฒนาการไปข้างหน้า เราจะหยุดอยู่กับที่หรือถอยหลังไม่ได้แล้วครับ