ฟิลิปส์ ปรับกลยุทธ์รับมือตลาดเครื่องมือแพทย์ฟุบ

ฟิลิปส์ ปรับกลยุทธ์รับมือตลาดเครื่องมือแพทย์ฟุบ

วิกฤติโควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงปูพรมไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ตลาดเครื่องมือแพทย์ที่ดูเหมือนว่าน่าจะได้รับอานิสงส์จากการระบาดของเชื้อไวรัสนี้มากกว่า แต่ความซับซ้อนของธุรกิจกลับส่งผลบางกลุ่มสินค้าล้มระเนระนาด และพุ่งแรงเป็นบางสินค้า! 

ฟิลิปส์ แบรนด์ระดับแถวหน้าของกลุ่มธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ที่เป็นพอร์ตหลัก และ "เครื่องใช้ไฟฟ้า" ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดเผชิญภาวะตัวเลข "ติดลบ" ไม่ต่างจากหลายอุตสาหกรรมที่ต้องเร่งปรับกลยุทธ์ มองหาโอกาสการเติบโตใหม่ๆ 

วิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การระบาดของไวรัสโควิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมเฮทธ์แคร์ โดยเฉพาะช่วงการระบาดอย่างหนักเมื่อต้นปี วงการแพทย์เกิดภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เนื่องจากกำลังผลิตต่ำลง เช่น เครื่องช่วยหายใจ มอนิเตอร์ติดตามสัญญาณชีพผู้ป่วย เนื่องจากฐานการผลิตในต่างประเทศทุกๆ แห่งไม่สามารถทำการผลิตได้ตามปกติ 

ฟิลิปส์ โรงงานผลิตกระจายอยู่ในเนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรเลีย และจีน เผชิญภาวะ ล็อกดาวน์” เช่นกัน กระทบต่อการส่งออกประเทศต่างๆ ท่ามกลาง ดีมานด์” แต่ไม่สามารถผลิตได้ หรือมีกำลังการผลิตที่ต่ำ เพราะไม่มีคนงาน วัตถุดิบป้อนการผลิตมีปัญหาเช่นกัน ขณะที่การขายเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้ง ซึ่งไม่สามารถเดินทางได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาต่ออุตสาหกรรมและกระทบต่อรายได้ของหลายธุรกิจทั่วโลก 

ในเมืองไทย อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ มูลค่า 2 แสนล้านบาท ในจำนวนนี้สัดส่วนของธุรกิจเครื่องมือแพทย์ 50,000 ล้านบาท คาดการณ์ ติดลบ” 7-10% ในปีนี้ 

ทั้งนี้ ภาพรวมธุรกิจฟิลิปส์ ประเทศไทย มีกลุ่มธุรกิจเครื่องมือแพทย์เป็นสัดส่วน 60% และ เครื่องใช้ไฟฟ้า 40% คาดว่ายอดขายจะไม่มีการเติบโต หรือ ทรงตัวเท่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ธุรกิจหลักกลุ่มเครื่องมือแพทย์ ถดถอยตามตลาด! 

เป็นวิกฤติครั้งแรก และครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปีที่กระทบธุรกิจเฮลธ์แคร์ เพราะฐานลูกค้าหลักโดยเฉพาะภาครัฐเปลี่ยนการใช้เงิน งบประมาณดีเลย์ ผู้ประกอบการภาคเอกชนติดปัญหาการสนับสนุนของแหล่งเงิน”

โดยกลุ่มธุรกิจเครื่องมือแพทย์ของฟิลิปส์ มีฐานลูกค้าภาครัฐ 60-70% เอกชน 30-40% และทำตลาดสินค้าเครื่องมือแพทย์ขนาดใหญ่ 70% เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบสูงกว่าสินค้าขนาดเล็กที่มีสัดส่วน 30% และจะถูกใช้เป็นเรือธงในการขับเคลื่อนตลาดมากขึ้นนับจากนี้ 

ทั้งนี้ เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสนใจและตื่นตัวติดตามข้อมูลข่าวสาร และต้องการสินค้าเพื่อป้องกัน ดูแลสุขภาพมากขึ้น ขณะที่ทางการแพทย์หลังการระบาดของโควิด เร่งให้เกิดการผลักดันสู่ยุค สมาร์ทเฮลธ์ (Smart Health)  เพื่อให้แพทย์และคนไข้เว้นระยะห่างกันมากขึ้น ซึ่งฟิลิปส์ มุ่งพัฒนา นวัตกรรม” และ “โซลูชั่น” ที่เกี่ยวข้องกับ เทเลเมดิซีน (Telemedicine)  โดยเฉพาะด้าน Tele-ICU

แม้จะมีปัจจัยเสี่ยง ชะลอการเติบโตของธุรกิจเครื่องมือแพทย์ หากการระบาดของโควิด-19 ยังคงรุนแรง จะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย! จากมาตรการล็อกดาวน์ และงดการบิน การท่องเที่ยวภายในประเทศสะดุด  ผู้ป่วยมีกำลังซื้อน้อยลง และไปโรงพยาบาลน้อยลง ทำให้การลงทุนของโรงพยาบาลเอกชนชะลอตัว ต่อเนื่องปี 2564 มีเพียงโรงพยาบาลบางแห่งเท่านั้นที่เริ่มกลับมามีกำลังซื้อ

นอกจากนี้ หากสถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดระลอกใหม่ อาจส่งผลต่อนโยบาย เมดิคัลฮับ (Medical Hub) ของไทยต้องชะลอออกไป เนื่องจากอาจมีมาตรการจำกัดจำนวนชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย

โรงพยาบาลหลายแห่งทั้งภาครัฐและเอกชน มีการปรับงบประมาณไปซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวกับโควิดมากขึ้น และชะลอการซื้ออุปกรณ์ส่วนอื่นที่มีราคาสูง และไม่เกี่ยวข้องกับโควิดมากนัก ฉุดภาพรวมหดตัวแรง  อีกทั้งโรงพยาบาลเอกชนที่เปิดใหม่ในปีนี้ก็น้อยลง การประมูลอุปกรณ์การแพทย์ของราชการเลื่อนออกไป ทำให้ตลาดใหญ่การประมูลช่วงปลายปีได้รับผลกระทบ”

อย่างไรก็ดี มีปัจจัยสนับสนุนสร้างโอกาสการเติบโตให้ธุรกิจเครื่องมือแพทย์เช่นกัน ซึ่งการระบาดของโควิด ทำให้ความต้องการเครื่องมือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโควิด-19 จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเครื่องช่วยหายใจ เครื่องตรวจวัดสัญญาณชีพ และเทเลเมดิซีน  รวมทั้งจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น อัตราการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง และเบาหวาน เพิ่มสูงขึ้น

โดย ฟิลิปส์ เตรียมเพิ่มกำลังการผลิต เครื่องช่วยหายใจเป็น 4 เท่า ในส่วนของโรงงานเพิ่มระยะเวลาการทำงาน 24/7 ชั่วโมง พร้อมไฮไลท์สินค้านวัตกรรมเครื่องเอ็มอาร์ไอ เครื่องอัลตร้าซาวด์ ระบบการส่งภาพตรวจทางรังสีวิทยาแบบทางไกล ทำให้ประมวลผลได้ทุกที่ทุกเวลา ลดปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ห่างกัน สามารถใช้งานกับแพลตฟอร์มที่หลากหลาย ทั้งสมาร์ทโฟน แทบเล็ต และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น 

พร้อมกันนี้ ฟิลิปส์ ได้ปรับกลยุทธ์การทำตลาดหันมาเน้นตลาดให้เช่าอุปกรณ์การแพทย์มากขึ้น ทั้งภาคเอกชนและราชการ เพราะไม่ต้องการลงทุนมาก อีกทั้งเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตลาดเช่า” น่าจะเหมาะสมกับสถานการณ์

อย่างไรก็ดี คาดว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์จะฟื้นตัวได้ในปี 2564-2565 กลับมาเติบโตในระดับ 4-6%