สภาเศรษฐกิจโลกเตือนโควิดป่วนตลาดงานซ้ำสอง

สภาเศรษฐกิจโลกเตือนโควิดป่วนตลาดงานซ้ำสอง

สภาเศรษฐกิจโลก (ดับเบิลยูอีเอฟ)เตือนโควิดป่วนตลาดงานซ้ำสอง โดยภายใน5ปี เครื่องจักรกลจะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานรูปแบบเดิมๆแต่ขณะเดียวกันก็สร้างตำแหน่งงานใหม่ๆให้เกิดขึ้นด้วย

ท่ามกลางภาวะที่เทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิต ทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องเร่งปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง เพื่อความอยู่รอด ล่าสุด เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม (สภาเศรษฐกิจโลก)ได้นำเสนอรายงานที่บ่งชี้ว่าภายใน5ปี เครื่องจักรกลจะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานรูปแบบเดิมๆแต่ขณะเดียวกันก็สร้างตำแหน่งงานใหม่ๆให้เกิดขึ้นด้วย เป็นอย่างไร ติดตามรายละเอียดได้จากรายงาน

เวิลด์อีโคโนมิค ฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ)เผยแพร่รายงานล่าสุดที่บ่งชี้ว่า การใช้เครื่องจักร หรือหุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติมากขึ้นในทุกวันนี้จะทำให้ตำแหน่งงานทั่วโลกหายไป 85 ล้านตำแหน่งงานภายในปี 2586 แต่ขณะเดียวกัน ดับเบิลยูอีเอฟ ก็คาดการณ์ว่าจะสร้างตำแหน่งงานใหม่ 97 ล้านตำแหน่ง หมายความว่าจะมีตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นโดยรวม 12 ล้านตำแหน่งงาน

พร้อมกันนี้ รายงานของดับเบิลยูอีเอฟ ยังย้ำถึงความจำเป็นที่บรรดาผู้ว่าจ้างทั้งหลายต้อง “อัพสกิลล์” และ “ รีสกิลล์”พนักงาน หรือแรงงานในองค์กร เพื่อเป็นหลักประกันว่าพนักงานที่มีอยู่จะมีอาวุธรับมือกับความท้าทายด้านการทำงานในอนาคตได้

แต่ดับเบิลยูอีเอฟก็ระบุว่า แม้ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีของหุ่นยนต์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะทำให้เกิดการจ้างงานตำแหน่งใหม่ๆเพิ่มขึ้นในช่วง5ปีข้างหน้าแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้เกิดความปั่นป่วนซ้ำสองแก่แรงงานทั่วโลก

“อัตราการสร้างงานชลอตัวลงอย่างมาก ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ท่ามกลางการล็อกดาวน์ของหลายประเทศเพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ภาวะการถดถอยของเศรษฐกิจ แต่ในเวลาเดียวกัน ถ้าพิจารณาการคาดการณ์ของบรรดาผู้บริหารฝ่ายบุคคลจะพบว่าอัตราการสร้างงานโดยรวมยังคงสูงกว่าอัตราการลดตำแหน่งงาน”ซาเดีย ซาฮิดิ กรรมการผู้จัดการดับเบิลยูอีเอฟ ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นบีซี

160332624159

อย่างไรก็ตาม รายงานชิ้นนี้คาดการณ์ว่าภายในปี2568 ตำแหน่งงานยังคงถูกแบ่งอย่างเท่าเทียมกันในกลุ่มแรงงานมนุษย์และแรงงานที่เป็นเครื่องจักรกล โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวกับการประมวลผลข้อมูล งานด้านธุรการ และงานประจำวันสำหรับแรงงานประเภทพนักงานออฟฟิศและแรงงานประเภทใช้แรงงาน จึงจำเป็นต้องมีการ“รีสกิลล์”และ“อัพสกิลล์”จากผู้ว่าจ้างเพื่อเป็นหลักประกันว่าพนักงานในองค์กรของตนจะได้รับการติดอาวุธที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะอยู่รอดในตลาดงานในอนาคตได้ และจากการศึกษาครั้งนี้ ดับเบิลยูอีเอฟพบว่ามีประมาณ 50% ของแรงงานทั้งหมดที่จำเป็นต้องเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะการทำงานใหม่ภายใน 5ปีข้างหน้า

"เราต้องสร้างความมั่นใจว่าแรงงานมีทักษะที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานในอนาคต เราอยากเห็นความพยายามที่จะ"รีสกิลล์"และ"อัพสกิลล์"จากภาคธุรกิจ ภาครัฐและจากตัวแรงงานเอง เพื่อให้มั่นใจว่าแรงงานจะได้รับการติดอาวุธที่จำเป็นแก่พวกเขา"ซาฮิดิ กล่าว

รายงานของดับเบิลยูอีเอฟ คาดการณ์ว่าอาชีพที่จะหายไปในปี 2568 เพราะหุ่นยนต์ทำแทนได้ ประกอบด้วย เสมียนบันทึกข้อมูล เลขาผู้บริหาร เสมียนจัดทำทำบัญชีและเงินเดือนพนักงานประจำบริษัท ผู้ตรวจสอบบัญชีและผู้จัดทำบัญชี แรงงานประจำโรงงาน ผู้จัดการฝ่ายธุรกิจและบริการธุรกิจ พนักงานบริการลูกค้าและข้อมูลลูกค้า ผู้จัดการทั่วไป ช่างเครื่องและช่างซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล

และเสมียนเช็คสต็อกสินค้าและบันทึกวัตถุดิบ

ส่วนตำแหน่งงานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาภายในปี 2568 ประกอบด้วย นักวิเคราะห์ข้อมูลและนักวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)และแมชชีน เลิร์นนิง ผู้เชี่ยวชาญด้านบิ๊กดาต้า ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์และการตลาดดิจิทัล ผู้เชี่ยวชาญด้านกระบวนการอัตโนมัติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล นักวิเคราะห์ด้านความปลอดภัยข้อมูล นักพัฒนาซอฟต์แวร์และแอพพลิเคชัน ผู้เชี่ยวชาญด้านอินเทอร์เน็ตของทุกสรรพสิ่ง (ไอโอที)

แต่เมื่อดูจากกระแสของตลาดโลกแล้ว อุตสาหกรรมหลักๆ ที่จะเกิดความต้องการสูงมากในโลกอนาคตคือ อุตสาหกรรมสีเขียวที่เน้นอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรมเทคโนโลยีข้อมูล อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ อุตสาหกรรมคลาวด์คอมพิวติ้ง และอุตสาหกรรมพัฒนาสินค้า

รายงานของดับเบิลยูอีเอฟ มองว่า การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวสร้างความปั่นป่วนซ้ำสองแก่ตลาดแรงงาน หลังจากที่การระบาดของเชื้อไวรัสมฤตยูนี้บั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ)ได้หั่นตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)โลกในปีนี้เหลือ 4.4% เพราะผลพวงการใช้มาตรการคุมเข้มด้านสาธารณสุขของประเทศต่างๆ ที่ทำให้คนตกงานหลายล้านคน โดยเฉพาะแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบริการ

ดับเบิลยูอีเอฟ ยังให้ความสำคัญกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไปเพราะผลพวงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการทำงานจากบ้าน เพราะบริษัททั่วโลกถูกกดดันจากวิกฤติด้านสาธารณสุขที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกจนต้องปิดสำนักงาน ซึ่งดับเบิลยูอีเอฟ ระบุว่า บริษัทต่างๆอาจจะให้พนักงานทำงานจากที่บ้านได้ในสัดส่วนมากถึง 44% ของแรงงานทั้งหมด

นอกจากนี้ 78% ของผู้นำธุรกิจคาดว่าวิธีการทำงานในปัจจุบันก่อผลกระทบในทางลบต่อความสามารถด้านการผลิต ขณะที่อุตสาหกรรมบางอย่างพยายามดิ้นรนเพื่อปรับตัวให้ได้เพื่อความอยู่รอด