SCN รุกธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศเสริมรายได้

SCN รุกธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศเสริมรายได้

“สแกน อินเตอร์” หนุนบริษัทลูก GEP ลุยขยายลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในอาเซียน คาดโครงการโซลาร์ฟาร์มมินบู เฟส 2 อีก 170 เมกะวัตต์ เสร็จเร็วกว่าแผน ตั้งเป้าคว้าสัญญาธุรกิจโซลาร์รูฟท็อป แตะ 20 เมกะวัตต์สิ้นปีนี้

นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCN เปิดเผยว่า ความคืบหน้าการดำเนินธุรกิจไฟฟ้า ของบริษัท กรีนเอิร์ธ พาวเวอร์ ไทยแลนด์ จำกัด หรือ GEP ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุน โดยบริษัทเข้าไปถือหุ้นในสัดส่วน 40% นั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู กำลังการผลิตติดตั้ง 220 เมกะวัตต์ ที่เมืองมินบู ในเมียนมา เบื้องต้น การพัฒนาโครงการในเฟสที่ 1 กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ เสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่เดือนกันยายน 2562

ขณะที่การพัฒนาในเฟสที่ 2 -4 ซึ่งตามแผนเดิมจะทยอยก่อสร้างที่ละเฟส โดยเฟสที่ 2 มีกำลังการผลิต อยู่ที่ 50 เกมะวัตต์ เฟสที่ 3 กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ และเฟสที่ 4 กำลังการผลิต 70 เมกะวัตต์นั้น บริษัทได้ปรับแผนการใหม่ โดยจะพัฒนารวมกันใน เฟสที่ 2 ทั้งหมดเป็นกำลังผลิตรวม 170 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จเร็วกว่าแผนเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงปลายปี 64 แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้การพัฒนาโครงการล่าช้าไปบ้าง แต่มาตรการล็อกดาวน์ของเมียนมา ทำให้ทีมงานที่เป็นผู้พัฒนาโครงการในเฟสที่ 1 ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ จึงเอื้อให้การดำเนินงานยังเดินหน้าต่อไปได้

160299110028

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มินบู ทาง GEP ได้รับสัมปทานฯจากรัฐบาลเมียนมา เพื่อพัฒนาและดำเนินงานแบบ BOT (Built-Operate-Transfer) ระยะเวลาสัญญา 30 ปี ด้วยอัตรารับซื้อค่าไฟฟ้า 0.1275 ดอลลาร์ต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง ผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับ Electric Power Generation Enterprise (EPGE) ภายใต้กระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน เมียนมา

อย่างไรก็ตาม โครงการโซลาร์ฟาร์มมินบู ในเมียนมา คาดว่า ยังมีโอกาสขยายกำลังการผลิตได้อีก ตามความต้องการใช้ไฟฟ้าในเมียนมาที่เติบโจต่อเนื่อง ประกอบกับบริษัท ได้ลงทุนสายส่งขนาด 800 เมกะวัตต์ แต่โครงการมินบู จะจ่ายไฟเข้าระบบเพียง 220 เมกะวัตต์เท่านั้น จึงยังมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ยังสามารถเข้าระบบเพิ่มได้อีกในอนาคต ขณะเดียวกัน บริษัท ยังมองหาโอกาสขยายลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV และอยู่ระหว่างศึกษาการเข้าซื้อกิจการ (M&A) เพื่อสร้างการเติบโตในโครงการใหม่ๆเพิ่มขึ้น

ส่วนแผนการรนำ GEP เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)นั้น ยังอยู่ในเป้าหมายที่ตั้งไว้เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในขยายธุรกิจและเป็นเงินหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ ซึ่ง GEP มีสามารถที่จะขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยคาดว่า ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า GEP จะมีการลงทุนโครงการใหม่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 200 เมกะวัตต์

สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา พบว่า GEP รับรู้กำไรจากโครงการมินบูเฟสที่ 1 ประมาณ 100 ล้านบาท และคาดว่าหากโครงการแล้วเสร็จ 220 เมกะวัตต์ จะรับรู้รายได้อยู่ที่ 1,000 ล้านบาทต่อปี และบริษัท ก็จะได้รับประโยชน์โดยรับรู้รายได้ตามสัดส่วนถือหุ้นด้วย

นายฤทธี กล่าวอีกว่า ส่วนการลงทุนธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป บนหลังคาโรงงาน ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทย่อย คือ บริษัท สแกน แอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด (SAP) ที่เป็นลักษณะสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชน (Private PPA) ยังเติบโตตามเป้าหมาย มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 30 เมกะวัตต์ภายในปี 2564 จากปัจจุบันมีสัญญาในมือแล้ว 12 เมกะวัตต์ ซึ่งจ่ายไฟเข้าระบบ(COD) แล้ว 6 เมกะวัตต์ และคาดว่าสิ้นปีนี้จะมีสัญญาอยู่ที่ 20 เมกะวัตต์