ครอบครัว ‘เปราะบาง’ ผลพวงของโรคโควิด-19

ครอบครัว ‘เปราะบาง’ ผลพวงของโรคโควิด-19

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บททดสอบที่ท้าทายยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กและครอบครัวที่เปราะบางและมีสถานะยากจน โดยครัวเรือนมีหนี้สินสูงขึ้น ขณะที่รายได้ต่ำลง เด็กที่อยู่ในครอบครัวกลุ่มเปราะบางนี้ได้รับผลกระทบต่อโภชนาการและการเรียนรู้

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยนั้นยังคงสามารถควบคุมได้อยู่ แต่ผลกระทบในทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นกับกลุ่มผู้ที่เปราะบางในประเทศนั้น กลับมีความซับซ้อนยิ่งกว่าครั้งไหนๆ ซึ่งทางสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ชี้ว่าการแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้สร้างผลกระทบมหาศาลในภาคเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และคาดการณ์ว่าจะหดตัวลงอีกร้อยละ 7.3-7.8 ภายในปีนี้ 

ขณะที่หลายล้านตำแหน่งงานกำลังอยู่ในความเสี่ยงที่จะยุบหรือถูกเลิกจ้าง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่มีการศึกษาให้กระจ่างชัดถึงผลกระทบดังกล่าวที่จะเกิดกับเด็กที่ตกหล่นกว่า 3 ล้านคน ทางสถาบันวิจัยประชากรและสังคม (IPSR) จึงได้จัดทำการเพื่อศึกษาถึงผลกระทบดังกล่าว โดยองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทยได้ร่วมให้การสนับสนุน

เด็กจำนวนมหาศาลยังคงมีสถานะยากจนในประเทศไทย โดยมีจำนวนสูงถึงร้อยละ 22 ที่กำลังเผชิญกับความยากจนในหลายมิติ ความขัดสนในหลากหลายรูปแบบที่เด็กๆ ต้องพบเจอในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการเสริมสร้างพัฒนาการ จะยังคงส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอีกนาน แม้หลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดจะดีขึ้น

ขณะเดียวกันก็ไม่มีข้อยกเว้นสำหรับเด็กๆ ที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังจากการย้ายถิ่นของพ่อแม่ที่เป็นแรงงาน ซึ่งจากรายงานผลกระทบการย้ายถิ่นในประเทศไทยที่มีผลต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคมในปี 2559 ระบุว่ามีเด็กมากกว่าหนึ่งในห้าคนไม่ได้อยู่กับทั้งพ่อและแม่ ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงมากสำหรับประเทศที่อยู่ในกลุ่มรายได้ระดับกลาง-สูง เด็กกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะต้องตกอยู่ในสถานะที่ยากจน มีน้ำหนักตัวที่ต่ำกว่าเกณฑ์ และมีพัฒนาการช้า

ยูนิเซฟกังวลต่อผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นกับคุณภาพชีวิตในระยะยาวของกลุ่มเด็กที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง อันมีสาเหตุมาจากการย้ายถิ่นภายในประเทศของแรงงานในปริมาณมากและปัจจัยการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในปี 2559 ยูนิเซฟได้สนับสนุนสถาบันวิจัยประชากรและสังคม ในการจัดทำวิจัยเพื่อสำรวจ 854 ครัวเรือน ในจังหวัดที่มีอัตราการย้ายถิ่นสูง คือ พิษณุโลกและขอนแก่น

งานวิจัยหลายชิ้นได้คาดการณ์ว่าเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่จะได้รับผลกระทบในเชิงลบมากที่สุด ขณะเดียวกันก็พบว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กลายเป็นบททดสอบที่ท้าทายยิ่งต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กและครอบครัวที่เปราะบางและมีสถานะยากจนอยู่ก่อนช่วงแพร่ระบาดของโรค ผลการศึกษานอกจากจะชี้ให้เห็นแล้วว่าแทบทุกครัวเรือนได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากการระบาดของโรคโควิด-19 ยังได้แจกแจงถึงระดับของผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดครั้งใหญ่นี้

เดือน เม.ย.-พ.ค.ที่ผ่านมา ประมาณ 9 ใน 10 ของการสำรวจครัวเรือนที่มีเด็กอายุ 6-11 ปีที่อยู่และไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่ มีหนี้สินที่สูงและมีรายได้ต่ำ ครัวเรือนของเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่มีระดับหนี้สินที่สูงกว่าก่อนช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยระบุว่ามีสัดส่วนถึงหนึ่งในสามที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือแม้กระทั่งจะประคับประคองชีวิตความเป็นอยู่ให้ได้ถึงสิ้นเดือน มิ.ย.

เกือบครึ่งหนึ่งของครัวเรือนที่สำรวจเลือกที่จะตัดค่าใช้จ่ายลงเพื่อลดภาระ หนึ่งในห้าของครัวเรือนที่สำรวจได้มีการยืมเงินจากญาติ และกู้เงินนอกระบบเพราะต้องนำเงินออมที่มีไปใช้จ่ายค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ สินค้าเพื่อรักษาสุขอนามัย ตลอดจนค่าเทอมและค่าอุปกรณ์การเรียน

ความลำบากทางการเงินกำลังส่งผลกระทบอย่างหนักแก่เด็กในด้านโภชนาการ การเรียนรู้ สุขภาพจิต และพัฒนาการในระยะยาว

ครอบครัวกว่า 1 ใน 3 ขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะในเด็กที่อยู่กับแม่คนเดียว อาหารกลางวันที่โรงเรียนคือมื้อหลักที่เด็กๆ จะได้รับโภชนาการที่เหมาะสม ซึ่งเด็กจำนวนมากต้องขาดแคลนโภชนาการที่จำเป็นในช่วงของการปิดโรงเรียน ระหว่างเดือน พ.ค-มิ.ย. โภชนาการและอาหารที่ลดลงอาจนำมาซึ่งภาวะแคระแกร็นและขาดพลังงานที่ร่างกายต้องนำไปใช้ขณะเรียนรู้

1 ใน 4 ของกลุ่มพ่อและแม่ และปู่ย่าตายายที่ทำการสำรวจ รู้สึกกังวลว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็ก ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงตามที่คาด โดยที่ผ่านมามีเด็กนักเรียนจำนวนมากต้องเสียโอกาสการเรียนรู้จากการปิดโรงเรียน ซึ่งการเสียโอกาสนี้อาจยิ่งซ้ำร้ายลงด้วยเหตุที่พวกเขาต้องพึ่งพาเพียงแค่การเรียนรู้ทางไกล และจะต้องเผชิญกับปัญหาซ้ำอีกหากต้องมีการปิดโรงเรียนอีกครั้ง 

เด็ก 7 ใน 10 คนที่ไม่ได้อยู่กับพ่อและแม่ไม่มีอุปกรณ์เพื่อที่จะเรียนผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงถึงสองเท่าที่เด็กกลุ่มนี้จะอยู่กับผู้ดูแลหรือผู้ปกครองไม่มีทักษะทางด้านไอทีเพื่อสนับสนุนการเรียนออนไลน์ของเด็กเมื่อเทียบกับเด็กที่ได้อยู่กับพ่อและแม่

งานวิจัยแสดงให้เห็นอย่างเด่นชัดว่ามีครอบครัวจำนวนมากต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอดในช่วงของการแพร่ระบาด โดยมีการช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวคือเงินเยียวยาฉุกเฉิน รายงานการประเมินผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมช่วงโควิด-19 ที่จัดทำโดยยูนิเซฟและยูเอ็นดีพี ระบุว่าอัตราความยากจนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ มาตรการแจกเงินเยียวยา 5,000 บาทให้กับแรงงานนอกระบบและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการเพิ่มเงินอุดหนุนเข้าบัญชีสมทบอีก 1,000 บาทนั้น ครอบคลุมถึงแค่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา

ไม่ควรมีเด็กคนใดที่จะต้องรู้สึกว่าพวกเขาต้องต่อสู้ดูแลตัวเอง ยิ่งระบบการป้องกันและคุ้มครองทางสังคมเข้มแข็งและตอบรับความต้องการในชีวิต ก็ยิ่งทำให้ชีวิตของเด็กๆ มีหลักประกันและไม่ถูกทอดทิ้งในช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติในอนาคต 

ผลการวิจัยแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องให้การสนับสนุนครอบครัวที่เปราะบางที่สุดหลังในช่วงหลังจากเดือน ส.ค.นี้ รวมถึงการขยายมาตรการปกป้องและคุ้มครองแก่ทุกครอบครัวให้เร่งสร้างเกราะคุ้มกัน และความสามารถในการฟื้นตัวเมื่อต้องเผชิญวิกฤติที่อาจจะเกิดอีกในอนาคต 

การคุ้มครองทางการเงินแก่ครอบครัวจะช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนอย่างต่อเนื่องแม้เกิดวิกฤติ ความร่วมมือจากทั้งภาครัฐบาล และภาคเอกชนในการลงทุนพัฒนาทักษะไอที การพัฒนาระบบการเรียนแบบดิจิทัล และการจ้างงานคนรุ่นใหม่ จะช่วยให้เด็กและเยาวชนที่ขาดแคลนสามารถเอาตัวรอดจากโลกที่เปลี่ยนไปในยุคโควิด-19

สามารถอ่านรายงานการประเมินเร่งด่วนต่อสถานการณ์ของกลุ่มเด็กที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังในช่วงการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19 ได้ที่ www.unicef.org/thailand/reports/social-impact-assessment-covid-19-thailand